คดีของคนไม่มีสิทธิ์ ความผิดของคนไม่มีเสียง

ดังที่รู้กันดีว่าสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ กฎหมายและการใช้ข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ได้กลายมาเป็นประเด็นปัญหาที่คุกรุ่นขึ้นทุกขณะ ปมปัญหานี้ถูกจุดชนวนขึ้นนับแต่ในช่วงการเคลื่อนไหว “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ที่เป็นการออกบัตรเชิญให้รัฐประหาร 19 กันยา 2549 รัฐประหารที่ประกาศตัวอย่างภูมิใจในความมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ณ ศตวรรษที่ 21 ว่าเป็นรัฐประหารเพื่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ภายหลังรัฐประหาร การใช้ข้ออ้างเรื่องความ(ไม่)จงรักภักดีและการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากล่าวหาและโจมตีในทางการเมือง ก็ลุกลามขยายตัว และยังแผ่ขยายไปถึงคนธรรมดาจำนวนมาก (ด้วยการหนุนเสริมอย่างแข็งขันโดยกลุ่ม “ประชาสังคม” ที่ปวารณาตัว “ขอเป็นข้ารองบาททุกชาตไป”) คนธรรมดาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจทางการเมือง ไม่ได้มีต้นทุนหรือสถานะทางสังคมที่สูงพอที่จะปกป้องตนเองยามวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองได้ พวกเขาเป็นเพียงคนที่ร่วมเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะในเวทีสาธารณะหรือในโลกไซเบอร์ และเป็นเหยื่อที่ไม่มีทางสู้ของกฎหมายดังกล่าวมาโดยตลอด นอกจากนี้ ด้วยความสามารถในการเล็งผลในระยะยาว ด้วยสายตาอันแสนสั้น ชนชั้นนำในระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ยังได้เสริมประสิทธิภาพการใช้กฎหมายมาตรา 112 ให้เท่าทันเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ออกมาควบคู่กันไปอีกฉบับ

การเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกชี้ให้เห็นโดย เดวิด สเตร็คฟัส นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย สเตร็คฟัสพบว่าระหว่างปี 2549–2552 มีคดีหมิ่นฯ ขึ้นสู่ศาลชั้นต้น 397 คดี และในจำนวนนี้มีการตัดสินพิพากษา 213 คดี (ตัวเลขนี้ยังไม่รวมคดีในศาลอทุธรณ์ 36 คดี และศาลฎีกา 8 คดี) โดยที่ในปี 2552 เพียงปีเดียว มีคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้นถึง 164 คดี ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขจากสำนักงานศาลยุติธรรม ยังไม่ได้นับรวมคดีหมิ่นฯที่อยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจ และคดีที่ขึ้นสู่ศาลในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่สามารถล่วงรู้จำนวนที่แท้จริงได้

และเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง จะพบว่าระหว่างปี 2535–2548 มีการดำเนินคดีหมิ่นฯ เฉลี่ยปีละ 3.7 คดี ขณะที่นับแต่ปี 2549–2552 มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลชั้นต้นเฉลี่ยปีละ 100 คดี ศาลอุทธรณ์เฉลี่ยปีละ 9 คดี และศาลฎีกาเฉลี่ยปีละ 2 คดี และมีการพิพากษาเฉลี่ยปีละ 53 คดีในศาลชั้นต้น 10 คดีในศาลอุทธรณ์ ส่วนศาลฎีการับคดีหมิ่นฯมาทั้งหมด 9 คดีนับแต่ปี 2548 และยังไม่มีการตัดสินแม้แต่คดีเดียว จำนวนคดีที่ขึ้นสู่ศาลโดยเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2549–2552 จึงเพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2535–2548 ถึงกว่า 2,000 เปอร์เซ็นต์ (!!!)

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน จำนวนตัวเลขสถิติและข้อมูลที่สมบูรณ์ของคดีหมิ่นฯ ก็ยังไม่อาจสำรวจและสืบทราบได้อย่างแน่ชัด สเตร็คฟัสเองก็ยอมรับว่า “เหยื่อของการใช้กฎหมายนี้เป็นใครส่วนมากเราไม่รู้ ความจริงแล้วไม่มีใครมีข้อมูลการฟ้องคดีนี้มากเท่าไร…เรามีข้อมูลไม่กี่คดี และช่วงหลังมานี้สำนักงานอัยการก็ไม่ได้รวบรวมสถิติคดีนี้เอาไว้ในรายงานประจำปีขององค์กร” หากลองคาดเดาจากสัดส่วนการตัดสินคดี การกำหนดโทษขั้นต่ำ และข้อเท็จจริงเท่าที่มี ว่าในปี2550–2552 มีคนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้จำนวน 192 ราย ก็อาจเป็นได้ว่าเมื่อนับถึงปี 2552 ไทยอาจมีนักโทษทางการเมืองในคดีหมิ่นฯ อยู่ถึง 170 คน โดยไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนใดๆ

ข้อถกเถียงเรื่องความชอบธรรมและปัญหาในทางหลักการของกฎหมายมาตรา 112 ทั้งในแง่นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ได้มีการพูดถึงและอภิปรายกันบ้างแล้ว ในรายงานชิ้นนี้จึงจำกัดเพียงการรวบรวม “ตัวอย่าง” จำนวนหนึ่งของผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 (และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในบางกรณีที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่ถูกมองว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เพื่อให้เห็นภาพรวมของผู้ที่ตกเป็น “อาชญากรทางความคิด” ในช่วงหลังรัฐประหารและยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน