วรรณกรรมทดลองของวินทร์กับการผลัดแผ่นดินของวรรณกรรมวิจารณ์

ความเป็นวรรณกรรมทดลองของวินทร์มักถูกนำไปเทียบเคียง
กับวรรณกรรมเพื่อชีวิตอยู่เสมอ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วย
วิธีนำเสนออันหวือหวาแปลกใหม่ แต่ขาดความเข้มข้นลึกซึ้ง
แหลมคมในด้านเนื้อหา ความน่าประหลาดและน่าสนใจใน
กรณีนี้ก็คือ ทำไมจึงต้องนำวรรณกรรมทดลองของวินทร์ไป
เปรียบเทียบหรือถึงขั้นเป็นคู่ปรับกับวรรณกรรมเพื่อชีวิต ?

บทความชิ้นนี้ปรับปรุงแก้ไขจากบทวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ นำเสนอในงานสัมมนาเรื่อง “การวิจารณ์
วรรณกรรมของวินทร์ เลียววาริณ” จัดโดยโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัย
เพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์” 6 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาฯ ตลิ่งชัน

วินทร์ เลียววาริณ เป็นนักเขียนร่วมสมัยที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งในฐานะนักเขียน
อาชีพที่มีผลงานสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง และผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการวรรณกรรม
ร่วมสมัยของไทย เขาเป็นนักเขียนคนเดียวที่คว้ารางวัลซีไรต์สองสมัยจากงานวรรณกรรมสอง
ประเภทคือ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน จากหมวดนวนิยายในปี 2540 และ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน
จากหมวดเรื่องสั้นในปี 2542 (นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์สองสมัยคนแรกคือชาติ กอบจิตติ แต่
จากหมวดเดียวคือนวนิยาย) เขาเป็นนักเขียนที่ไม่เคยหยุดยั้งการสรรค์สร้างนวัตกรรมวรรณกรรม
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานที่ผสมผสานระหว่างข้อเขียนที่เป็นเรื่องสั้นกับข้อเขียนประเภทบทความ
หรือวรรณกรรมที่อยู่ในรูปของสื่อผสมระหว่างตัวอักษรกับภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่วินทร์จะได้รับ
ความสนใจจากนักวิจารณ์ นักวิชาการ และนักอ่านหลายระดับหลายกลุ่มมากเป็นพิเศษ

โดยทั่วไปแล้ว การศึกษาบทวิจารณ์วรรณกรรมนั้นมีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจผลงานของ
นักประพันธ์ผู้นั้นในแง่มุมที่หลากหลายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแนวทางและมุมมองที่นักวิจารณ์
แต่ละคนจะเลือกใช้วิเคราะห์ตัวงาน แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ บทวิจารณ์วรรณกรรม
เหล่านี้ยังสามารถเป็นมาตรวัดแสดงความเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยม และระบบคุณค่าทางวรรณศิลป์
ในห้วงเวลาที่บทวิจารณ์เหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นมา ทั้งนี้เพราะบรรทัดฐานและกรอบคิดในการพิจารณา
วรรณกรรมมิได้หยุดนิ่งคงที่หรือมีเพียงชุดเดียว แต่มักจะแปรเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยไม่มาก
ก็น้อย ในแง่นี้บทวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์ เลียววาริณ ที่ผ่านมาจึงมีความน่าสนใจมากเป็น
พิเศษ เพราะมันช่วยส่องแสงสว่างให้เห็นความคลี่คลายของวงการวรรณกรรมวิจารณ์ร่วมสมัย
ในบ้านเราอย่างมีนัยสำคัญ ในที่นี้จะมุ่งพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมทดลองกับ
วรรณกรรมเพื่อชีวิตในบริบทของความเปลี่ยนแปลงด้านวรรณกรรมวิจารณ์ภายหลังเหตุการณ์
สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519