แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร

“แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร”
นวนิยายโดย อรุณวตี กงลี่
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559
ISBN 978-616-7158-63-1
จำนวนหน้า 152 หน้า
ราคา 180 บาท

คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์

มิตรผู้หนึ่งเคยบอกว่า ด้วยภาวะการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างกลับตาลปัตร ที่เคยเชื่อก็กลับกังขา ที่เคยศรัทธาก็เสื่อมสลาย ที่เคยนับว่าผู้ใหญ่ก็เริ่มไม่อยากไหว้ ที่เคยนับว่ามิตรก็หักใจไม่อาจนับ,

และในทางกลับกัน

ดังนั้นคนที่เคยมจริตรสนิยมต่างกัน หรืออยู่กันต่างวงการ หรือกระทั่งบางทีก็ต่างชนชั้น จึงมาบรรจบพบกันได้เมื่อความสัมพันธ์และเกณฑ์ประเมินคุณค่าแบบเดิมถูกเขย่าเสียใหม่

ในช่วงปี 2500 เมื่อประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการ งานเขียนจำพวกนิยายประโลมโลกเบ่งบานอย่างแปรผันกันกับงานเขียนสาย “ก้าวหน้า” ที่เคยได้เริ่มลงหลักปักฐาน ทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะปัจจัยจากฝ่ายนักเขียนเอง ในอีกทางก็คงเป็นด้วยผู้อ่าน ที่เลือกจะหลีกหนีเข้าสู่โลกพาฝัน ซึ่งเมื่อพ้นจากวัยของโลกนิทานก็เข้าสู่โลกของนิยายปลอบประโลม

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจ ในฐานะผู้อยู่ในยุคเผด็จการใหม่หมาด ที่จะลองศึกษาดูบ้างว่าโลกของนิยายที่เป็นเหมือนนิทานนั้นทำงานอย่างไร และพบว่าในบางกรณีก็มิอาจดูเบาได้ เพราะงานเขียนเหล่านั้นก็สามารถ “สะท้อนสังคม” ได้ไม่ต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ในขนบของโลกพาฝันที่นางเอกสวยหยาดเฉกนางฟ้าและพระเอกก็เหมือนเพิ่งจุติมาเมื่อวาน

และสำหรับนวนิยายเล่มนี้ ด้วยเหตุที่ต้องการเสนอภาพของวงการที่เต็มไปด้วยนางฟ้าเทวดาในวิชาชีพดารา ความพาฝันนั้นก็สามารถมีที่มาจากความจริงอย่างชนิดที่แทบจะระบุได้ว่าตัวละครนั้นๆ ถอดแบบมาจากใคร และความ
พาฝันนั้นก็พาให้เราเห็นได้ด้วยว่า ฝันร้ายอันเกิดจากวัฒนธรรมในวงการของพวกเขาที่สำแดงออกมาในฉากหลังทางการเมืองที่พวกเขาจำนวนมากได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจนพาให้เรามาอยู่ ณ จุดนี้ จุดที่ประเทศตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารนั้น ทำงานอย่างไร

และใครที่รู้จักภูมิหลังของ อรุณวตี กงลี่ คงไม่แปลกใจที่เธอสามารถเสนอภาพดังกล่าวออกมาในขนบของโรแมนติคคอมเมดี้ได้อย่าง “สมจริง” ขนาดนี้ สมจริงทั้งที่เกินจริงขนาดนั้น สมจริงในความไร้สาระขนาดนั้น

เป็นโลกมายาพาฝันที่สะท้อนความจริงอีกด้าน บรรณาการเป็นความบันเทิงอันขันขื่นฆ่าเวลา แด่ประชาชนในยุคเผด็จการ
AAN_Cover_160823