ดีไซน์ + คัลเจอร์ เล่ม 3

ดีไซน์ + คัลเจอร์ 3
ดีไซน์ + คัลเจอร์ 3

รวมบทความโดย ประชา สุวีรานนท์
คำนำโดย วิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์
280 หน้า (ภาพประกอบสี่สีทั้งเล่ม)/ราคา 380 บาท สมาชิก 300 บาท

คำนำสำนักพิมพ์

หลังจากเปิดตัวมาร่วมสี่ปีกว่า คอลัมน์ “ดีไซน์ คัลเจอร์” ก็ยังคงลงหลักปักฐานใน มติชนสุดสัปดาห์ อย่างมั่นคง
เช่นเดิม และหลังจากที่ตีพิมพ์รวมเล่มขึ้นเป็น ดีไซน์+คัลเจอร์ เล่มแรกเมื่อสามปีก่อน วันนี้ “ดีไซน์ คัลเจอร์” ก็ได้
เดินทางมาสู่ ดีไซน์+คัลเจอร์ 3 แล้ว

ดีไซน์+คัลเจอร์ 3 เป็นงานเขียนที่คัดมาจากช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึง สิงหาคม 2553 ที่ยังคงแนวทาง
การวิจารณ์และความเข้มข้นไว้ดุจเดิม สำหรับในแง่เนื้อหานั้น ดีไซน์+คัลเจอร์ 3 ยังคงเกาะเกี่ยวกับประเด็นหลักที่
ไม่ได้หนีขาดจากเดิมมากนัก นั่นคือเรื่องของดีไซน์ วัฒนธรรม และวัฒนธรรมการดีไซน์ที่เกี่ยวพันกับคุณค่า
ความเชื่อ อำนาจ อุดมการณ์ รวมทั้งแรงบันดาลใจและอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการสร้างผลงาน หากก็มีสิ่งที่ถูกเน้นให้เด่นชัดเพิ่มขึ้นมาอย่างสำคัญ คือการจุดประเด็นเรื่องบทบาทของกราฟิกดีไซเนอร์ต่อสังคมวงกว้างที่งานออกแบบนั้นรับใช้อยู่

ดีไซน์+คัลเจอร์ 3 ตั้งประเด็นปัญหาขึ้นมาว่า “กราฟิกดีไซน์คืออะไร?” ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามต่อไปถึงความเชื่อเรื่องการแยกขาดระหว่าง ‘รูปแบบ’ กับ ‘เนื้อหา’ หรือระหว่าง ‘สื่อ’ กับ ‘สาร’ อันเป็นครรลองความเชื่อที่นำไปสู่ภาวะ “ไร้หน้าตาและตัวตน” ของนักสื่อสารทางสายตาและวัฒนธรรมอย่างกราฟิกดีไซเนอร์ ที่มักอ้างว่าตนเองเป็นเพียง
ผู้ผลิตรูปแบบ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ถูกผลิตขึ้น ซึ่งสภาวะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหา “วิกฤต
อัตลักษณ์” หรือที่กราฟิกดีไซเนอร์ท่านหนึ่งเรียกว่าปัญหา “อัตลักษณ์ทางวิชาชีพ” กล่าวอย่างง่ายๆ ว่า คือปัญหาเรื่องตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ของผู้ประกอบวิชาชีพนี้ในสังคม โดยเฉพาะบทบาทและที่ทางที่มีต่อการสื่อสารประเด็นทางสังคมและการเมือง ซึ่งในแง่หนึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องย้อนแย้งก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก ในตัวของมันเอง กราฟิกดีไซน์นั้นย่อม “…มีบทบาทในการนำเสนอคุณค่าต่างๆ ที่หล่อหลอมชีวิตจิตใจของผู้คน ทั้งในด้านส่วนตัวและสาธารณะ” อยู่แล้ว

คำถามคือ ประเด็นปัญหาเหล่านี้สำคัญอย่างไรต่อผู้อ่านวงกว้างที่อยู่ ‘วงนอก’ ของวงการวิชาชีพดังกล่าว เพราะ
ดูเหมือนนี่จะเป็นเพียงปัญหาเรื่องการจัดการ “สมดุลระหว่างอาชีพกับสำนึก หรืองานกับชีวิต” ของผู้ประกอบอาชีพกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนล้วนต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างของการแบ่งกันทำหน้าที่และประกอบอาชีพนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราแต่ละคนล้วนแต่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือประกอบอาชีพเฉพาะด้าน
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกันทั้งสิ้น ปัญหาเรื่องการแยกส่วนระหว่างอาชีพกับสำนึกจึงสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกคน

ต่อเรื่องนี้นั้น เมื่อมองให้ถึงที่สุดแล้ว ควรจะพูดได้ว่ามันคือคำถามเรื่องบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของปัจเจกบุคคล (หลังจากถอดสถานะวิชาชีพเฉพาะด้าน ความชำนาญเฉพาะทางออกหมดเสียแล้ว) ต่อสังคมหรือชุมชนการเมืองที่เขาสังกัดอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปัญหาเรื่องการแยกและการเชื่อมระหว่างโลกส่วนตัวกับโลกสาธารณะ

จะเห็นคำถามลักษณะนี้ได้ชัดขึ้น เมื่อ ดีไซน์+คัลเจอร์ 3 จัดวางบริบทของปัญหานี้ลงในกระแสวัฒนธรรมของโลกไซเบอร์ อันเป็นพื้นที่ที่ดูเหมือน ‘โลกส่วนตัว’ กับ ‘โลกสาธารณะ’ จะเคลื่อนเข้ามาปะทะและซ้อนทับกันมากขึ้น เพราะมันคือวัฒนธรรมที่การนำความเป็นส่วนตัวออกมาแสดงต่อสายตาสาธารณะกลายเป็นเรื่องปกติ และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลก็ทำได้อย่างเปิดกว้างและสะดวกดายมากขึ้น

เมื่อกล่าวถึงบทบาทของปัจเจกต่อสาธารณะหรือชุมชนทางสังคม-การเมือง นักวิจารณ์ชาวตะวันตกท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของสังคมตะวันตก (และสังคมสมัยใหม่ใดๆ ก็ตาม?) ว่า การที่คนเรายึดถือความเชื่อที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเอง (ในทางตรรกะ) อย่างเช่นการรู้สึกว่าตนเองเป็นปัจเจกชนที่มีเสรีภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถมีปากเสียงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ได้นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัญหาสำคัญ คือ การขาดวิธีการและสื่อกลางที่จะช่วยแปรเปลี่ยนปัญหาหรือความคับข้องส่วนบุคคลให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะหรือจุดหมายร่วมของสังคม และนี่เป็นปมปัญหาสำคัญของแม้แต่ในสังคมที่เชื่อในเสรีนิยม และย่อมกระทั่งถึงสังคมที่ผู้คนรู้สึกว่าตนเองมีเสรีภาพแล้วด้วยเช่นกัน

ดีไซน์+คัลเจอร์ 3 ก็คล้ายจะชี้ชวนให้เราถามคำถามทำนองนั้น

วริศา กิตติคุณเสรี
สำนักพืมพ์อ่าน
มีนาคม 2554