อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง

อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง
โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
พิมพ์ที่ 2 (2nd edition) ปรับปรุงใหม่/เพิ่มเติมบทความ มีนาคม 2558
456 หน้า
ปกอ่อน ราคา 450 บาท
ปกแข็ง ราคา 550 บาท

คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์

อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง
ฉบับนี้ เป็นฉบับพิมพ์ที่สอง ในความหมายอย่างเดียวกับ second edition ตามธรรมเนียมการพิมพ์สากล กล่าวคือ แม้หนังสือเล่มนี้จะเคยพิมพ์ซ้ำมาแล้ว แต่การพิมพ์ครั้งนี้มีการปรับปรุงต้นฉบับใหม่ รวมทั้งมีการคัดสรรบทความเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนแปดบทความ เป็นต้นฉบับพิมพ์ที่สองที่ต่างไปจากพิมพ์แรก บทความที่เพิ่มเข้ามานี้ ล้วนเป็นบทความที่เขียนขึ้นในช่วงทศวรรษเดียวกันกับบทความต่างๆที่พิมพ์ในฉบับพิมพ์แรก ยกเว้นบทความ “ไม้ เมืองเดิม: นักเขียนตำนาน ตำนานนักเขียน” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2553

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงไว้ คือการอ้างอิงทางเวลาตามที่ปรากฏอยู่ในต้นฉบับเดิม นั่นหมายความว่า หากบทความกล่าวถึงถ้อยคำเช่น “ทศวรรษหน้า” ขอให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่าหมายถึงทศวรรษหน้าเมื่อนับจากปีที่บทความเขียนขึ้นและตีพิมพ์ในครั้งแรก และด้วยเหตุที่ต้องการให้ง่ายสำหรับผู้อ่านในการหาจุดอ้างอิงทางเวลาเหล่านี้ จึงได้ระบุข้อมูลการตีพิมพ์ครั้งแรกไว้ข้างท้ายของทุกบทความ

หนังสือเล่มหนึ่งๆ มี “วาระ” ของมัน ทั้งในความหมายทางเวลา และในความหมายของเนื้อหาหรือสารที่นำเสนอต่อ
ผู้อ่าน การกลับมาอ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ใหม่หลังจากเวลาผ่านไปร่วมยี่สิบปีนับจากการพิมพ์ครั้งแรก ทำให้สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของผู้เขียนในฐานะนักวรรณกรรมศึกษารุ่นใหม่ของไทยเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ที่จะแนะนำ เชื้อเชิญ และท้าทายให้โลกการอ่านในปริมณฑลของสาธารณะ อันหมายถึงประชาชนทั่วไป ได้ขบคิดและทดลองต่อวัฒนธรรมอย่างใหม่ของการอ่าน ที่แต่ละปัจเจกใช้ในการเข้าถึงงานศิลปะ และที่ในทางสาธารณะ
ก็คือจำแลงหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์

ฐานะของผู้เขียนเองที่เป็นอาจารย์วิชาวรรณคดี ก็นับเป็นอีกวาระที่น่าสนใจ ถ้านับย้อนไปถึงช่วงทศวรรษที่บทความเหล่านี้เผยแพร่ครั้งแรกตามหน้านิตยสารต่างๆ ก็ต้องเรียกได้ว่าผู้เขียนกำลังเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงที่เพิ่งจบการศึกษาด้านวรรณคดีจากต่างประเทศมาไม่นาน ความเร่าร้อนทางวิชาการปรากฏร่องรอยอยู่ในหลายประเด็นอันเป็นสปิริตอย่างที่ควรจะเป็นของโลกวิชาการ คือการท้าทาย ต่อยอด หักล้าง และมุ่งสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนิยามของการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ การเสนอชุดคำอธิบายใหม่ๆต่อความเปลี่ยนแปลงทางรสนิยมและมาตรฐานของแนววรรณกรรมต่างๆในสังคมไทย หรือกระทั่งการนำวรรณกรรมเล่มต่างๆ ทั้งไทยและเทศซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีมา “อ่านใหม่”

แต่ความสดใหม่ในสปิริตทางวิชาการนี้ แทนที่จะเพียงเผยโฉมอย่างเงียบๆ และเฉพาะกลุ่มเฉพาะตนอยู่ในวงวิชาการ กลับถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องและเข้มข้นสู่นักอ่านทั่วไป จนกลายเป็นปรากฏการณ์ด้านวรรณกรรมวิจารณ์ของไทยที่พื้นที่การอ่านทางสาธารณะมีความเข้มข้นสดใหม่เสียยิ่งกว่าพื้นที่ในวงวิชาการวรรณคดี ผลสำเร็จในทางสาธารณะของหนังสือเล่มนี้ในแง่ที่เป็นการจุดประกายต่อโลกการอ่านและการวิจารณ์วรรณกรรมในสังคมไทยนั้น เป็นที่ปราศจากข้อกังขา ส่วนในวงวิชาการวรรณคดี ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลายชั้นเรียนวิชา
วรรณคดีก็พลอยได้อาศัยหนังสือที่เขียนเพื่อสาธารณะชนทั่วไปเล่มนี้ เป็นตำราอ้างอิงทั้งในทางทฤษฎีและในแง่การสาธิตไปโดยปริยาย

ช่างเป็นสปิริตที่สอดคล้องต่อความเป็นจริง (หรือสัจธรรม?) ของการเรียนรู้ในสังคมไทยโดยแท้

และเราก็ได้แต่หวังต่อไปว่า วัฒนธรรมการอ่านในโลกสาธารณะของสังคมไทย และวัฒนธรรมทางวิชาการในวงวรรณกรรมศึกษาของไทย จะสามารถเดินเคียงคู่เสมอหน้ากันไป ในการต่อยอด ท้าทาย หรือกระทั่งหักล้างก็ได้ ต่อสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้บุกเบิกไว้ ในสปิริตอย่างที่ อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง ได้พิสูจน์ตนเองต่อโลกการอ่านและวงวรรณกรรมวิจารณ์ของไทย

และเป็นสปิริตที่ทำให้สำนักพิมพ์อ่านรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงและภาคภูมิใจที่ได้จัดพิมพ์หนังสือแห่งวาระเล่มสำคัญเล่มนี้ ในวาระนี้

คำนำผู้เขียนฉบับพิมพ์ (edition) ที่สอง ปรับปรุงใหม่ / ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์


อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง : รวมบทความวรรณกรรมศึกษาและบทวิจารณ์วรรณกรรมไทยและเทศ
เป็นหนังสือที่รวบรวม
ข้อเขียนต่างๆ ที่ผมได้เขียนเผยแพร่ในหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายเล่มในทศวรรษ 2530-2540 ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร สารคดี, หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน, นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์, มติชนสุดสัปดาห์ และอื่นๆ หนังสือเล่มนี้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 2545 และพิมพ์ซ้ำในปี 2548 ทั้งสองครั้งพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ

ในการจัดพิมพ์ใหม่ครั้งนี้ ผมได้ปรึกษากับสำนักพิมพ์อ่านว่าอยากจะเพิ่มงานบางชิ้นที่เขียนขึ้นหลังจากหนังสือเผยแพร่ไปแล้วหรือที่ยังไม่ได้รวมเข้ามาในการพิมพ์ครั้งแรก โดยจะคัดเฉพาะชิ้นที่ใช้วิธีการวิจารณ์ในแนว “อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง” พร้อมกันนี้ก็ถือโอกาสปรับปรุงแก้ไขบทความเหล่านี้โดยเฉพาะการตรวจทานและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ และในเรื่องระบบการอ้างอิงเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้สนใจจะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ฉบับพิมพ์ (edition) ที่สองนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ทั้งนี้ ผมต้องขอบคุณทีมงานสำนักพิมพ์อ่านทุกคน ตั้งแต่ คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการ, คุณวริศา กิตติคุณเสรี และคุณเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ ที่มีความอุตสาหะวิริยะอย่างยิ่งยวดเกินความเป็นบรรณาธิกรมืออาชีพ ในการสืบค้นและตรวจสอบแหล่งข้อมูลและความถูกต้องของบทความเหล่านี้ บทความส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้เขียนในรูปของบทความวิชาการลำลองเพื่อเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์มวลชน ด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้ระบุแหล่งอ้างอิงต่างๆไว้อย่างละเอียดและเคร่งครัด เพราะจะดูรุงรังและรกสายตาเกินควร การต้องหวนกลับไปค้นและตรวจสอบแหล่งอ้างอิงต่างๆ จึงเป็นภาระที่หนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง ในฐานะผู้เขียนเองที่น่าจะรู้ข้อมูลและที่มาต่างๆดีที่สุด ผมขอสารภาพว่าได้ถอดใจไปนับครั้งไม่ถ้วนเมื่อจะต้องกลับไปค้นแหล่งที่มาเหล่านี้ แต่ทางทีมงานของสำนักพิมพ์อ่านก็มิได้ย่อท้อ เพียรพยายามสืบค้นกันอย่างสุดความสามารถและสุดกำลังวังชาด้วยกลวิธีต่างๆนานาที่เหนือความคาดหมาย สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำหนังสือคงจะนึกไม่ถึงว่าการทำหนังสือที่ดูเหมือนเป็นเรื่องของสติปัญญาความคิดเป็นสำคัญ แท้จริงแล้วเป็นงานที่ใช้ “แรงกาย” ไม่น้อยไปกว่าการใช้สติปัญญา ทั้งหมดนี้ก็ด้วยเจตนาอันน่านับถือของทีมงานสำนักพิมพ์อ่านที่มุ่งหมายจะให้หนังสือมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากหนังสือเล่มนี้จะขาดตกบกพร่องหรือผิดพลาดใดๆในเรื่องของข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้วไซร้ ขอให้ท่านรับรู้ว่าล้วนมาจากข้อจำกัดของผมเองโดยแท้

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการตีความและการนำเสนอประเด็นความคิดต่างๆในหนังสือเล่มนี้นั้น หากท่านพบว่า “ผิดพลาด” หรือ “ไม่เข้าท่าอย่างยิ่ง” ก็ขอให้รับทราบว่านั่นคือเจตนาสำคัญของผมเอง เพราะผมมีความเชื่ออันแรงกล้ามาโดยตลอดว่า วรรณกรรมและการตีความวรรณกรรมไม่เคยมีเพียงคำตอบเดียว และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเพียง
คำตอบสุดท้าย

วรรณกรรมนั้นไม่มีวันตาย ตราบเท่าที่เราอ่านมันด้วยชุดคำถามใหม่ๆ เพื่อหาคำตอบที่แตกต่างไปจากเดิม หรือกระทั่งล้มล้างคำตอบที่มีอยู่แล้ว