กำเนิดสยามจากแผนที่ (Siam Mapped)

Siam Mapped Front Cover

กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ
แปลจาก Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation
ผู้เขียน ธงชัย วินิจจะกูล
ผู้แปล พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
บรรณาธิการแปล ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
บรรณาธิการต้นฉบับ วริศา กิตติคุณเสรี

พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2556
ปกอ่อน ราคา 400 บาท
ปกแข็ง ราคา 550 บาท

บางส่วนจากคำนำฉบับแปลภาษาไทย
โดย ธงชัย วินิจจะกูล

หนังสือเล่มหนึ่งเมื่อพ้นมือคนเขียนไปแล้วมักจะมีโชคชะตาไม่ตรงกับที่คนเขียนคาดหวัง คนเขียนทุ่มเทความคิด จินตนาการ และส่วนหนึ่งของชีวิต ลงไปในตัวบท แต่บ่อยครั้งคนอ่านมองไม่เห็นสิ่งที่คนเขียนต้องการจะบอก ทว่าบ่อยครั้งคนอ่านกลับเห็นในสิ่งที่คนเขียนเองก็นึกไม่ถึง

Siam Mapped (ต่อจากนี้จะเรียกว่า SM) อ่านได้หลายแบบ ทั้งโดยเจตนาของผู้เขียนที่พยายามออกแบบให้เป็นเช่นนั้น และด้วยการค้นพบของผู้อ่านซึ่งผู้เขียนเพิ่งมาเข้าใจภายหลัง

SM ศึกษาความเปลี่ยนแปลงความรู้ความคิดทางภูมิศาสตร์ที่ให้กำเนิดสยามประเทศ หวังว่าอย่างน้อยๆ ผู้อ่านจะได้อิ่มเอมกับประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์ นอกเหนือจากนั้นถือเป็นของกำนัลซึ่งขอฝากไว้ให้ตามแต่ผู้อ่านจะค้นพบหรือสร้างความหมายมากน้อยขึ้นมา

ความปรารถนามูลฐานของผู้เขียนมีอยู่เพียงว่าอยากเล่าเรื่องดีๆ (to tell a good story) สักเรื่องหนึ่ง นี่เป็นความอยากของนักประวัติศาสตร์โดยทั่วไป ความปรารถนาข้อนี้ฟังดูง่ายดีแต่ทำได้ยากชะมัด และไม่ใช่ว่านักประวัติศาสตร์ทุกคนจะประสบความสำเร็จ เพราะ “การเล่าเรื่องดีๆ” มีความหมายหลากหลายตามแต่คนอ่าน
คาดหวัง และตามแต่ความปรารถนา จินตนาการในการเข้าใจอดีต และประสบการณ์ชีวิตของคนเขียน

SM เขียนขึ้นหลัง 6 ตุลา 2519 และหลังขบวนการสังคมนิยมไทยล่มสลาย ในขณะนั้นคำถามและการวิเคราะห์
ร่วมสมัยของปัญญาชนกำลังเป็นอดีตไปแล้ว แต่จิตวิญญาณกบฏและความท้าทายต่อโลกที่เป็นอยู่ กลับยังคง
โลดแล่นผ่านกรอบความคิดใหม่ๆ หลายกระแสเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ นับแต่เช้าวันพุธเดือนตุลาปีนั้น ผ่านการณ์ผันแปรทั้งหลายหลังจากนั้น ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า “ประวัติศาสตร์โหดร้าย” (ในทุกๆ ความหมายของวลีนี้)
SM จึงเป็นการโรมรันพันตูกับความรู้ประวัติศาสตร์ไทยเต็มตัว ตั้งแต่ชื่อ ประเด็นใจกลาง วิธีการศึกษา แนวคิดวิเคราะห์หลักและรอง หลายเรื่องหลายประเด็น ตลอดจนถึงนัยและความหมายโดยอ้อม