ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน

FRONT Cover Nai Pee Series 1ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดย ศรีอินทรายุธ (นายผี, อัศนี พลจันทร)
หนังสือเล่มแรกในโครงการ “อ่านนายผี”
กันยายน 2556
ราคา 130 บาท

หมายเหตุจากสำนักพิมพ์
เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์
ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดย “ศรีอินทรายุธ” เป็นหนังสือใน “โครงการอ่านนายผี” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี พลจันทร ให้จัดพิมพ์ออกสู่สาธารณชนพร้อมกับ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

สำนักพิมพ์อ่านเลือกนำ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน มาจัดพิมพ์ใหม่เป็นเล่มแรกของโครงการฯ ก็เนื่องจากว่าหนังสือเล่มนี้ควรนับว่าเป็นผลงานแรกสุดเล่มหนึ่งของคุณอัศนีที่มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยก่อนหน้านี้งานเขียนของคุณอัศนีมีตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเรื่องๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เท่านั้น และหากจะมีกรณียกเว้นก็น่าจะมีกรณีเดียว คือการจัดพิมพ์ จากพระลอและศรีบูรพา โดยสำนักพิมพ์สหบรรณกรในปี 2495 แต่หนังสือ
ดังกล่าวเป็นงานรวมบทความสองเรื่องของนักเขียนสองคน คือ “ลิลิตพระลอ…วรรณคดีศักดินา” ของ “อินทรายุธ” ซึ่งตีพิมพ์ในคอลัมน์ “ข้อคิดจากวรรณคดี” ใน อักษรสาส์น (เมษายน 2492) และบทความ “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ของ “พ. เมืองชมพู” โดยมีอารัมภกถา “ข้อคิดเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปวรรณคดี” บรรจุอยู่ด้วย*  แต่ข้อมูลสำคัญที่ทำให้ระบุได้ว่า มีการจัดพิมพ์หนังสือของคุณอัศนีตามลำพังเมื่อ พ.ศ. 2501 ก็คือ คำบอกเล่าของคุณอารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา:

ประมาณ พ.ศ. 2500 วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ คุณอุดม สีสุวรรณ ได้นัดผมให้มาพบกันที่หน้าโรงภาพยนตร์
โอเดียน สามแยก (ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนเพื่อทำกิจการอื่นไปแล้ว) เป็นเวลาประมาณ 6 โมงเช้า แล้วขึ้นรถไปที่บ้านของคุณอัศนี พลจันทร ด้วยกันเพื่อไปพบปะพูดคุย และรับต้นฉบับที่คุณอัศนีจะมอบให้ผมไปจัดพิมพ์จำหน่าย เมื่อรถของเราถึงตลาดพระโขนง เรายังต้องนั่งเรือต่อเข้าไปตามลำคลองอีก เมื่อขึ้นฝั่งไปก็ต้องเดินเท้าไปตามร่องสวนอีกระยะหนึ่งจึงถึง ซึ่งคุณอัศนีได้รอเราสองคนอยู่แล้ว อาหารเช้าวันนั้น คุณอัศนีเลี้ยงต้อนรับเราด้วยกาแฟ ไข่ลวก และมีขนมปังปิ้งทาเนยอีกต่างหาก ระหว่างจิบกาแฟคุยกัน คุณอัศนีได้ถามผมถึงเรื่องการค้าขายแบบเรียนเครื่องเขียนและการพิมพ์หนังสือเรื่องอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นคุณอัศนีได้ส่งแฟ้มแข็งสองแฟ้ม ซึ่งเป็นต้นฉบับงานของท่าน รวมทั้งหมดมี 4 เรื่อง คือ “รวมกาพย์กลอน ‘นายผี’ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2” เล่มที่ 3 คือ “ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน” โดยใช้นามปากกา
“อินทรายุธ” เล่มที่ 4 เป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาสันสกฤตชื่อ “ภควัทคีตา” งานประพันธ์ของท่านที่มอบให้ผมจัดพิมพ์ วางตลาดได้เพียง 3 เล่มเท่านั้น สำหรับเล่มที่ 4 ไม่ได้จัดพิมพ์เพราะผมถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์เสียก่อน ซึ่งถูกศาลทหารในขณะนั้นตัดสินจำคุก 6 ปี (อารีย์ พื้นนาค,“เสี้ยวหนึ่งแห่งกาลเวลา”, ชีวิตและผลงาน: ตำนาน ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (2461-2530), กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงานนายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่, 2541, น. 223.)

นอกจากนั้น นิตยสาร สายธาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2501 ก็มีโฆษณาจำหน่ายหนังสือ กาพย์กลอนนายผี เล่ม 2 และ
ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ของอักษรวัฒนาด้วย โดยระบุราคาจำหน่ายที่ 2 และ 4 บาทตามลำดับ

สำนักพิมพ์อ่านได้สืบค้นหนังสือตามคำบอกเล่าของคุณอารีย์ แต่น่าเสียดายว่าเราไม่พบจากแหล่งข้อมูลใดๆ จนกระทั่งปลายปี 2555 คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์อ่าน ได้พบหนังสือ กาพย์กลอนนายผี ใน
หอสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ในระหว่างการเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” ซึ่งจัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล จึงได้จัดทำสำเนานำกลับมาเพื่อใช้ในการชำระต้นฉบับผลงานของคุณอัศนีต่อไป ส่วน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน นั้นเรายังไม่พบฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก แต่ได้สืบค้นพบฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2-4 จากหอสมุดหลายแห่ง จึงนำมาใช้ในการชำระต้นฉบับครั้งนี้ ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่ “ศรีอินทรายุธ” เขียนหนังสือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน อาจกล่าวว่าเป็นระยะที่เขาได้ตกผลึกทางความคิดเกี่ยวกับกาพย์กลอนมาแล้วไม่น้อยหลังจากที่ใช้นามปากกา “นายผี” และ “อ.ส.” เขียนงานในเวทีต่างๆ มาแล้วเกือบ 300 เรื่อง นับตั้งแต่ เอกชน (รายสัปดาห์), นิกรวันอาทิจ, สยามนิกร (รายวัน), สยามสมัย (รายสัปดาห์), อักษรสาส์น (รายเดือน) รวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่เป็นเสียงให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ มหาชน (รายสัปดาห์) เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับว่าเขาได้ผ่านสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองครั้งสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกบฏสันติภาพ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495) ซึ่งทำให้เขาต้องหลบหนีเพทภัยคุกคามชีวิตและหยุดเขียนงานลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ไปจนถึงปี 2500

“ศรีอินทรายุธ” เล่าไว้ในช่วงต้นของปรารภการของหนังสือเล่มนี้ ว่าหลังจากที่เขาได้อ่านหนังสือ ลำนำแห่งเจ้าพระยา ซึ่ง เจษฎา วิจิตร รวบรวมกาพย์กลอนของ 10 นักเขียนกลอนมาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2500 แล้ว เขามีความเห็นว่าวงการกาพย์กลอนของไทยจะขยายตัวต่อไปอย่างองอาจและสง่าผ่าเผย และ “คำว่า ‘กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม’ เป็นคำที่จริงอยู่ตลอดไป” (น. 32)

คำชื่นชมและให้กำลังใจกวีรุ่นใหม่โดยย้อนกลับไปหาวลีสำคัญในงานชิ้นเอกสมัยอยุธยาเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ นี้ ชวนให้นึกไปถึงกาพย์กลอนเรื่องแรกที่ “อ.ส.” แต่ง คือ “อัญเชิญ” (เอกชน, 1:2, 18 ม.ค. 2484, น. 20) ซึ่งมีเนื้อหาเชิญชวนกวีเขียนกาพย์กลอนเพื่อจะช่วยฟื้นฟูวงการกวีให้พ้นจากภาวะซบเซา แต่เมื่อไม่มีผู้ใดขานรับ “อ.ส.” จึงได้เขียน “ยอมแล้วฤๅ” (เอกชน, 1:14, 12 เม.ย. 2484, น. 39) เปรียบเปรยแกมประชดว่า ถ้า สมุทรโฆษคำฉันท์ แต่งค้างมาถึงขณะนั้น ก็คงจะไม่มีผู้ใดแต่งต่อได้:

สรวลสมุทร โฆเรศเรื้อง รจนา
สรวลปรมานุชิตสรวล ศัพทไท้
สรวลเสียงกวีสา รสร่ำ ฤๅพ่อ
สรวลกวีแล้งไร้ แหล่งสยาม

ปรากฏว่า ฉันทิชย์ กระแสสินธ์ุ กวีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในยุคนั้น เขียนกาพย์กลอน “กวีวงศ์” (เอกชน, 1:16, 26 เม.ย. 2484, น. 36-37) ตอบรับคำเชิญนี้ และ “อ.ส.” ก็ได้เขียนกาพย์กลอน “ความปิติ” แสดงความยินดีลงใน เอกชน ฉบับเดียวกัน (น. 38)**

ต่อมาเมื่อ “นายผี” เขียนกาพย์กลอนลงเป็นประจำในคอลัมน์ “วรรณมาลา” ใน สยามนิกร (ก.ค. 2489-พ.ค.2490) และคอลัมน์ “อักษราวลี” ใน สยามสมัย (พ.ค. 2490-ส.ค. 2495) เขาได้ใช้กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง และยังขยายข้อเรียกร้องต่อกวีให้ร่วมมือกันต่อสู้กับความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมด้วย ตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือ “Poets of All Countries Unite!” (สยามสมัย, ต.ค. 2492, น. 18) ซึ่งเปรียบเทียบว่ากาพย์กลอนคือ “ไถทิพ” ซึ่งกวีพึงใช้ในการขจัดสิ่งไม่ถูกต้องต่างๆ ไปเสีย ดังข้อความตอนหนึ่ง:

อันไถทิพลิบมายังหล้าโลก
ศุภโยคยอดกวีที่เสถียร
วิธีไถคือวิธีกวีเวียน
วาดอาเกียรณ์กลอนทิพระยิบระยับ

ใน พ.ศ. 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบทความวิจารณ์กาพย์กลอน “อีศาน” และยกย่อง “นายผี” ว่าเป็น “กวีของประชาชน”*** และในปีเดียวกันนี้เองที่คุณอัศนีหวนคืนสู่เวทีงานเขียนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่อนคลายลงบ้างแล้ว โดยเขาได้นำข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องต่อกวีและนักกลอนมาเขียนใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน
อีกทั้งยังระบุว่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ ลำนำแห่งเจ้าพระยา ดังกล่าวข้างต้น

ปีถัดมา คุณอัศนีเริ่มเขียนงานลงหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ กับนิตยสาร สายธาร เขากล่าวย้ำอีกครั้งถึงความหวังที่มีต่อกวีและนักกลอนรุ่นใหม่ ในข้อเขียนเปิดคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” (สายธาร, พ.ค. 2501, น. 80) ซึ่งใช้รูปแบบของจดหมาย เขียนถึงเสนีย์ เสาวพงศ์ ตอนหนึ่ง:

ที่ผมส่งลำนำแห่งเจ้าพระยามาให้คุณอ่านนั้นก็เพื่อจะให้คุณได้มีโอกาศทราบว่า; ในสมัยของเรานี้ มีหนุ่มสาวนักกลอนเกิดขึ้นไม่น้อย, และที่เป็นกวีก็ มีอยู่หลายคน, กาพย์กลอนที่เขาเขียนพลั่งพรูออกมานั้นเป็นสิ่งอันแสนพิสวง. ไม่เพียงแต่จะเป็นกาพย์กลอนที่อ่านได้ไพเราะเพราะพร้อง. มีสำนวนและโวหารอันชวนให้ติดใจ, หากยังเป็นกาพย์กลอนที่ชวนให้คิดอีกด้วย, นักกลอนและกวีเหล่านี้เป็นคนที่ควรนับถือก็ที่เป็นคนมีความคิดของตนเองแลได้ใช้ความคิดของตนเองเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์. มีคนอยู่อีกจำพวกหนึ่งเหมือนกันที่เห็นเขาเขียนกลอนก็เลยเขียนกับเขาบ้าง, อ่านดูแล้วไม่เห็นมีอะไรอยู่ในกลอนของเขามากไปกว่าตัวหนังสือที่เอามาเรียงๆ กันเข้าไว้จำนวนหนึ่ง-ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง! ความไพเราะของกาพย์กลอนนั้น มิใช่เพียงแต่การกระทบกันฤๅการคล้องจองกันของคำต่างๆ เหล่านั้นมิใช่หรือ? ในลำนำแห่งเจ้าพระยานั้น, นอกจากคุณจะได้เห็นกาพย์กลอนที่ดีๆ หลายบท, นอกจากคุณจะได้เห็นคนหลายคนกำลังจะกลายเป็นความพากพูมของสยามใหม่อย่างที่ใครคนหนึ่งว่า, คุณยังจะได้เห็นสำนวนใหม่ๆ เกิดขึ้นในวงการหนังสือของเรา แลสำนวนเหล่านี้กลายเป็นที่ติดปาก, ติดตา, และติดใจแก่คนทั่วไป; อย่างน้อยก็ที่ว่า: ‘ดวงเดือนรูปเคียว’, ‘สายธารแห่ง…’ ฯลฯ (สะกดตามต้นฉบับ – สนพ. อ่าน)

เมื่อพิจารณาที่เนื้อหา ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน มีข้อแตกต่างอย่างสำคัญจากหนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนส่วนใหญ่ กล่าวคือ ในขณะที่หนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนมักให้ความสำคัญกับแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ทางด้านฉันทลักษณ์ของกาพย์กลอนประเภทต่างๆ**** หนังสือเล่มนี้กลับมุ่งกล่าวถึงปัญหาเบื้องต้นของการเขียนกาพย์กลอนเช่นว่า กาพย์กลอนคืออะไร รูปการและเนื้อหาของกาพย์กลอนคืออะไร เกี่ยวข้องกับการเขียนกาพย์กลอนอย่างไร กวีและนักกลอนแตกต่างกันหรือไม่ และควรใช้แบบวิธีใดบ้างในการเขียนกาพย์กลอน เป็นต้น การวางน้ำหนักของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่ทรรศนะหรือจุดยืนในการเขียนกาพย์กลอนมากกว่าเรื่องฉันทลักษณ์ และขณะที่ศรีอินทรายุธชื่นชมกวีรุ่นใหม่ๆ ว่ามีจินตนาการค่อนข้างลึกซึ้งและมีฝีมือแหลมคม เขาก็ได้อธิบายให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเขียนกาพย์กลอนเพื่อ “กล่อมโลก” หรือ “ค้ำจุนโลก” ไว้นั้นยังไม่เพียงพอ และยิ่งจะเป็นสิ่งไม่ถูกต้องหากกล่อมโลกให้หลับไม่ลืมตาตื่นขึ้นดูความกดขี่และทารุณกรรมหรือคอยค้ำจุนโลกแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและเอารัดเอาเปรียบกันไว้ ดังที่เขาได้ระบุในตอนท้ายหนังสือว่า

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอนมิใช่เครื่องกล่อมโลกให้หลับอยู่ในมายา และก็มิใช่เครื่องพิทักษ์รักษา ฤๅค้ำจุนโลกอันเลวร้ายน่าอิดหนาระอาใจนี้. ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน แท้ที่จริงแล้วก็คือ กาพยายุธอันคมกล้าที่ได้ช่วยผลักดันโลกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดชะงักฤๅที่ได้ช่วยพิทักษ์มิให้ใครยื้อ ยุดฉุดกลับหลัง. พลังแห่งศิลปาการนี้มีสุดที่จะคณนา, เพียงแต่ว่าขอให้กวีและนักกลอนรู้จักใช้. มิฉะนั้นไซร้ศิลปาการแห่งกาพย์กลอนก็จักไม่มีประโยชน์. (น. 110-111)

เนื้อหาที่แตกต่างไปจากหนังสือกาพย์กลอนทั่วไปเช่นนี้ รวมทั้งความเห็นว่ากาพย์กลอนเป็นสิ่งสะท้อนชีวิตที่เป็นจริงของสังคมและ “ย่อมเป็นสิ่งที่รับใช้การต่อสู้กันของความขัดแย้งในสังคมไม่มากก็น้อย” (น. 85) คงจะก่อให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงนักเขียนอยู่ไม่น้อยเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกวางจำ หน่าย เพราะเมื่อคุณอัศนีเขียนคอลัมน์ “พูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสีย บา บ่า บ้า” ใน สายธาร ฉบับเดือนกันยายน 2501 เขาได้กล่าวตำหนิข้อเขียนในสัปดาห์สาร (ปีที่ 1 ฉบับที่ 11) ว่าใช้วิธีตัดตอนทอนความใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ลงเป็นท่อนๆ จนทำให้ผู้อ่านเกิดความ
ไขว้เขว เข้าใจผิดว่าผู้แต่งต้องการทำลายกวีและนักกลอนที่มีมนุษยธรรมและ “เตือนไม่ได้” เพราะเป็นกวีที่ไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับตน ทั้งที่จริงๆ แล้ว “ศรีอินทรายุธ” ระบุว่ามนุษยธรรมเป็นต้นทางของการก้าวไปสู่ความถูกต้อง แต่ที่เขามองว่าเป็นอุปสรรคก็เนื่องว่าผู้มีมนุษยธรรมมักต้องการแก้ความขัดแย้งที่ผล ไม่ได้มุ่งแก้ที่เหตุ

“ศรีอินทรายุธ” ได้ชี้แจงความเห็นของเขาต่อประเด็นมนุษยธรรมกับการเขียนกาพย์กลอนไว้แล้วในหนังสือเล่มนี้ และนี่คืออีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน แตกต่างไปจากหนังสือร่วมยุคสมัยในหมวดหมู่เดียวกัน อย่างไรก็ดีการกลับไปอ่านงานเขียนอายุมากกว่า 50 ปีเล่มนี้อีกครั้งก็ไม่น่าจะเป็นเพียงการอ่านอย่างหวนหาอดีต เพราะทรรศนะต่อแวดวงกาพย์กลอนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จะชวนให้ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบกับวงการกาพย์กลอนไทยในปัจจุบันซึ่งกำลังต่อสู้กันท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคม

สำนักพิมพ์อ่านคาดหวังว่า การจัดพิมพ์ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน และ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เนื่องในวาระ 95 ปีชาตกาลคุณอัศนี พลจันทร จะเป็นการกลับไปตั้งต้นที่เจตนารมณ์แรกของคุณอัศนีเมื่อครั้งที่เขานำงานเขียนมาพิมพ์เผยแพร่ “แด่ประชาชน” ดังคำอุทิศในหนังสือ กาพย์กลอนนายผี อีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนี้เราจะทยอยจัดพิมพ์ผลงานเรื่องอื่นๆ ของคุณอัศนีตามที่ได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทผู้ดูแลต้นฉบับผลงานทั้งหมด สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณคุณวิมลมาลี พลจันทร เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

การจัดพิมพ์ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ห้าหลังจากที่สำนักพิมพ์อักษรวัฒนาเป็นผู้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 55 ปีก่อน กลุ่มทัพหน้ารามจัดพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2518, สำนักพิมพ์ไทยศึกษาจัดพิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2521 และสำนักพิมพ์ทะเลหญ้าจัดพิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2534

สำนักพิมพ์อ่านได้ชำระต้นฉบับ โดยใช้เกณฑ์ดังนี้
1. การคัดเลือกต้นร่างสำหรับการจัดพิมพ์ สำนักพิมพ์อ่านได้สืบค้นจากหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ปรากฏว่าไม่พบฉบับพิมพ์ครั้งแรกในแหล่งใดๆ แต่พบฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2-4 กระจายอยู่ตามหอสมุดต่างๆ จึงได้รวบรวมมาเพื่อใช้ในการตรวจสอบและชำระต้นฉบับ

เมื่อเปรียบเทียบต้นฉบับเหล่านี้ พบว่าความแตกต่างสำคัญคืออักขรวิธี เข้าใจว่าผู้จัดพิมพ์ครั้งที่สองได้ปรับปรุงการเขียนสะกดการันต์ให้สอดคล้องตามแบบแผนการใช้ภาษาในระยะเวลาที่ตีพิมพ์ ส่วนผู้จัดพิมพ์ครั้งที่สามระบุในคำนำเสนอว่า “นำเอาฉบับที่ตีพิมพ์ปี 2501 มาเป็นแบบอย่าง และได้แก้ไขข้อบกพร่องบางประการที่มีอยู่ในฉบับเดิมนั้นด้วย” และผู้จัดพิมพ์ครั้งที่สี่ก็ได้ยึดตามฉบับพิมพ์ครั้งที่สาม สำนักพิมพ์อ่านจึงได้เลือกฉบับพิมพ์ครั้งที่สาม
และสี่เป็นต้นร่างในการชำระ โดยคงอักขรวิธีตามเดิมไว้ตามที่คุณวิมล พลจันทร คู่ชีวิตของคุณอัศนี และคุณวิมลมาลี ต้องการให้รักษารูปแบบภาษาต้นฉบับไว้ตามยุคสมัย

อนึ่ง คำใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ที่เขียนสะกดการันต์ตามต้นฉบับแต่แตกต่างจากอักขรวิธีในปัจจุบันได้แก่ กระดุมพี, กระแสร์, จารีตรนิยม, จ้าว, ฉะบับ, ฉะเพาะ, ชะนะ/ชำนะ, ชะนิด, โซร่, ตระหลบ, ทนุถนอม, ทราบซึ้ง, เทฆนิค, เทอด, นิราส, บรรเจอด, บุบผชาติ, ประสพ, ปราณี, ปลาด, เปน, พากพูม, พูลสุข, มืดมนธ์, มเหษี, รังสรร, รำพรรณ, ลางเลือน, ศักติสิทธิ์, ศิลป, ศิลปะ, ศูนย์เสีย,โศรก, สกด, สดวก, สท้อน, สมบัท, สร้างสรร, เสทือน, อิศรเสรี, อีศาน, โอกาศ, เหน็จเหนื่อย, โหยหวล เป็นต้น

กรณีที่สำนักพิมพ์อ่านมีการเพิ่มข้อมูลจากต้นฉบับเดิม จะใส่ไว้ในเชิงอรรถโดยระบุว่าเป็นเชิงอรรถโดย บ.ก.

2. การวางรูปเล่ม/การจัดหน้า เป็นไปตามแบบวิธีของสำนักพิมพ์อ่าน เช่น จัดข้อความในย่อหน้าแรกของเรื่อง และย่อหน้าแรกของหัวข้อให้ชิดซ้ายโดยไม่เว้นระยะย่อหน้า แต่รักษาวรรคตอนและการใช้เครื่องหมายต่างๆ ตามต้นฉบับไว้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าอาจทำให้การสื่อความหมายกำกวม จะปรับปรุงให้เหมาะสม

การเน้นข้อความสำคัญก็คงไว้ตามต้นฉบับเช่นกัน ทว่าไม่ใช้อักษรตัวหนาตามแบบวิธีที่นิยมกันในสมัยก่อนและปรับปรุงเสียใหม่โดย
(ก) ข้อความสั้น ใช้เครื่องหมาย “….” หรือตัวเอนอย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงการเน้น และ
(ข) ข้อความยาว ใช้อักษรตัวเอน แสดงการเน้น

การอ้างอิงชื่อหนังสือหรือสิ่งพิมพ์รายคาบ ใช้อักษรตัวเอนตามแบบวิธีที่นิยมในปัจจุบัน แทนที่จะเป็นอักษรตัวหนาหรือใส่เครื่องหมาย “…” ดังแต่ก่อน

3. บรรณานุกรมและดัชนี สำนักพิมพ์อ่านเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีการอ้างอิงตัวบทวรรณกรรมทั้งไทยและเทศอยู่หลายที่ จึงได้ตรวจทานกับหนังสือต้นฉบับ พร้อมทั้งจัดทำระบบอ้างอิงแหล่งที่มาและบรรณานุกรม เพื่อให้ผู้อ่านติดตามอ่านได้เพิ่มเติม นอกจากนั้นยังได้จัดทำดัชนีคำไว้ท้ายเล่มเพื่อความสะดวกในการสืบค้นด้วย

การชำระต้นฉบับดังกล่าวข้างต้นนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่การอ่าน กระนั้นก็ตาม สำนักพิมพ์อ่านขอน้อมรับความ
ผิดพลาดใดๆ ที่อาจมีอยู่ในการจัดพิมพ์ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ครั้งนี้