สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

การทูตทักษิณ

280 ฿

บทวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของไทยยุคทักษิณ ชินวัตร

รายละเอียด

การทูตทักษิณ
บทวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของไทยยุคทักษิณ ชินวัตร
ผู้เขียน ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Reinventing Thailand: Thaksin and His Foreign Policy
โดย ISEAS-Yusof Ishak Institute พ.ศ. 2553
ฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์อ่าน มีนาคม 2559
โดยได้รับอนุญาตจาก ISEAS- Yusof Ishak Institute ประเทศสิงคโปร์
ISBN 978-616-7158-60-0
336 หน้า ราคา 350 บาท

หมายเหตุสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์

ต้นฉบับชิ้นนี้ถูกเสนอมาถึงสำนักพิมพ์อ่านขณะที่ผู้แต่งกำลังอยู่ระหว่างลี้ภัยเผด็จการหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั่นทำให้การชั่งใจพิจารณาตกลงตีพิมพ์หนังสือในแนวทางที่ไม่คุ้นเคยอย่างงานศึกษานโยบายการต่างประเทศในครั้งนี้ มีปัจจัยเพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเรียกมันว่าการแสดง “ท่าที” หรือ gesture ของสำนักพิมพ์อ่านต่อสถานการณ์การคุกคามที่ผู้แต่งถูกกระทำอยู่ก็ได้ แต่แน่นอนว่า หากตัวงานมิได้มีความน่าสนใจโดยตัวมันเอง การเพียงแต่จะอุปถัมภ์นักวิชาการ ย่อมไม่ใช่มาตรฐานของสำนักพิมพ์อ่าน

เหตุที่ต้องย้ำถึงที่มาเป็นพิเศษ ก็เพื่อให้เราได้ตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ว่าเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของประเทศนั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการของงานวิชาการและของประชาธิปไตยอย่างไร และในกรณีนโยบายต่างประเทศ การวิจารณ์ก็ทำให้เราได้ไตร่ตรองว่า เมื่อเปิดประเทศไม่ว่าเพื่อค้าขายหรือเพื่อปรับดุลอำนาจภายนอก/ภายใน เราจะหาที่ยืนของเราอย่างไรในโลกนอกกะลา

และด้วยเหตุจำเพาะเกี่ยวกับสถานะที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยกะทันหันของผู้แต่ง การสืบค้นเอกสารอ้างอิงย้อนหลังสำหรับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยนี้จึงทำได้จำกัด สำนักพิมพ์อ่านได้พยายามช่วยเสาะหาเท่าที่จะทำได้ ขอขอบคุณผู้แต่งที่วางใจมอบต้นฉบับชิ้นนี้ให้เราเป็นผู้จัดพิมพ์ และขอขอบคุณสถาบัน ISEAS Yusof Ishak Institute ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ ที่ให้ความอนุเคราะห์แก่การจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทยนี้

คำนำจากผู้เขียน / ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณสำนักพิมพ์อ่าน ที่ให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อหนังสือของผมที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทยในยุคทักษิณ แม้ว่าการศึกษาจะเป็นช่วงที่ผ่านมานานแล้วพอควร แต่ผลกระทบของนโยบายต่างประเทศในยุคนั้นต่อการทูตของไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ ผมหวังว่าผู้อ่านจะยังคงได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ เพื่อใช้เป็นคู่มือในการศึกษาและทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของบริบทระหว่างประเทศ และบทบาทหรือท่าทีของไทยต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ยุคของคุณทักษิณนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ในด้านการต่างประเทศนั้น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทางการการทูตได้เกิดขี้น นำไปสู่การตั้งสมมติฐานว่าไทยมีความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของภูมิภาคหรือแม้แต่หนึ่งในตัวแสดงนำของโลกด้วยซ้ำ นับเป็นช่วงเวลายาวนานที่ไทยจะได้แสดงให้นานาประเทศเห็นถึงศักยภาพของประเทศในด้านการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้นโยบายต่างประเทศที่โดดเด่นอาจปรากฏในยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบในอินโดจีนเป็นสนามการค้า แต่ยุคทักษิณต่อยอดไปมากกว่านั้น ไม่เพียงแต่สร้างนโยบายต่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์การเมืองในภายใน แต่ต้องการสร้างความเป็นเจ้า (hegemonisation)ในภูมิภาคเหนือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพด้อยกว่า

แต่ยุคทักษิณก็นำไปสู่ข้อวิจารณ์มากมาย ทั้งประเด็นความทะเยอทะยานที่เกินตัวของนโยบายต่างประเทศ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างทักษิณกับบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศ หรือแม้แต่ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดมาจากการคอร์รัปชั่นเมื่อนโยบายต่างประเทศถูกนำมาใช้สรัางประโยชน์ให้กับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำ หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เป็นหนังสือที่แสดงความชื่นชมต่อความล้ำหน้าของนโยบายต่างประเทศไทยในช่วงนั้น แต่ยังมีจุดยืนที่วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา

นับตั้งแต่ทักษิณถูกรัฐประหารในปี 2006 จนมาถึงยุคยิ่งลักษณ์ที่รัฐบาลต้องประสบกับจุดจบเช่นเดียวกันในปี 2014 การต่างประเทศไทยในปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. นั้น สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้เฝ้าติดตามการต่างประเทศของไทยอย่างมาก ด้วยเหตุที่ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ทำให้ประเทศตะวันตกจำนวนมากกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อไทย และทำให้ทางเลือกด้านนโยบายต่างประเทศของไทยลดน้อยลง ไทยไม่สามารถพึ่งพาตะวันตกได้ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ จึงเป็นเหตุให้ไทยหันไปคบหากับมิตรในภูมิภาครวมถึงจีนมากขึ้น การคบค้ากับประเทศที่มิได้เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเพียงกึ่งประชาธิปไตย อาจส่งผลให้ คสช. รู้สึกมั่นใจขึ้นว่าระบอบทหารไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวจากโลก แต่ขณะเดียวกันปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของภูมิภาค หรือในบริบทที่ชัดกว่านั้นคือผลกระทบต่ออาเซียนและการขับเคลื่อนญัตติประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต

นับตั้งแต่รัฐประหาร ชีวิตของผมก็เปลี่ยนไปอย่างมาก (ไม่แพ้การเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศครับ) ผมยืนยันที่จะไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.เพราะผมไม่ได้ทำความผิดใด และที่สำคัญกว่านั้น ผมไม่ยอมรับความชอบธรรมของ คสช. ในการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลที่ได้รับนั้น หลายท่านคงทราบอยู่ คสช. ได้ออกทั้งหมายจับและยกเลิกหนังสือเดินทางของผม สถานการณ์นี้บังคับให้ผมต้องขอสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลญี่ปุ่น

แต่ผมไม่เคยยอมแพ้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อผมสามารถเดินทางได้อีกครั้งหนึ่ง ผมได้ใช้สถานะนักวิชาการในการเดินไปยังสถาบันในต่างประเทศต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบที่เกิดต่อภูมิภาคด้วย แต่ภารกิจเหล่านี้ต้องพบกับอุปสรรคนานัปการ สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศได้กลายเป็นเครื่องมือของคสช. ในการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการของผมในต่างประเทศ ใช้อิทธิพลในการคุกคามสถาบันการศึกษาต่างประเทศเพื่อให้ปฏิเสธการเชิญผม รวมถึงการส่งกลุ่มคนที่สนับสนุน คสช. เข้ามาคุกคามในระหว่างการบรรยายของผม ดังที่ปรากฏที่มหาวิทยาลัยเยลเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2015 อาจสรุปได้ว่า ณ เวลานี้ ความหวังที่จะเห็นตัวแทนทางการทูตของไทยทำหน้าที่ส่งเสริมประชาธิปไตยของไทย คงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น

แต่ผมเชื่อว่าประเทศไทยยังมีหวัง และยิ่งกว่านั้น การทูตไทยยังมีหวังเช่นกัน ผมเชื่อว่านักการทูตรุ่นใหม่ในกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และจะเป็น generation ใหม่ที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกระทรวงฯ ให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ปารีส
เช้าตรู่วันที่ 10 มีนาคม 2016

อื่นๆ

ผู้เขียน

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ปีที่พิมพ์

มีนาคม 2559

จำนวนหน้า

336

ISBN

978-616-7158-60-0