สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

อ่านจนแตก

260 ฿450 ฿

เป็นหนังสือที่รับคืนกลับจากสายส่งในสภาพสีปกซีดลง แต่เนื้อในยังสะอาด ตัวเล่มแข็งแรง

รายละเอียด

อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย
ผู้เขียน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
ผู้แปล พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
บรรณาธิการแปล วริศา กิตติคุณเสรี, ไอดา อรุณวงศ์
คำนำ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2558
ปกอ่อน ราคา 400 บาท
ปกแข็ง ราคา 500 บาท

คำนำสำนักพิมพ์ / ไอดา อรุณวงศ์

ฤดูใบไม้ร่วง 2012 คือปีที่ดิฉันได้พบอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เป็นครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิธากา ฉากแรกนั้นเกิดขึ้นขณะดิฉันหลบมานั่งจิบชาเรียกขวัญอยู่ในห้องครัวเล็กๆ ชั้นล่างของตึกเคฮินก่อนเริ่มการเสวนาในเวิร์คช็อป The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan ซึ่งดิฉันเป็นหนึ่งในผู้นำเสนอ อาจารย์ทักษ์ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นนักวิชาการอาวุโสด้านรัฐศาสตร์ และเป็นผู้บริหารคนสำคัญของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล โผล่มาในชุดเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว กางเกงยีนส์ และเสียงหัวเราะหึหึอันเป็นเอกลักษณ์ เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และกระทั่งเมื่ออาจารย์ตั้งคำถามมายังดิฉันในเวิร์คชอปนั้น ดิฉันก็ยังตอบไปอย่างเกร็งและประหม่าประสาเด็กแปลกถิ่นต่อผู้ใหญ่แปลกหน้า

แต่ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งวันและนับเนื่องจากนั้นจนถึงฤดูร้อนอีกสองปีต่อมา การณ์ก็ราวกับเราสามารถกระโดดข้ามกำแพงแห่งวัยและสถานะ อาจารย์ทักษ์กลายมาเป็นเพื่อนร่วมวิสาสะที่ไม่เพียงทำให้ดิฉันเลิกประหม่าและหายเกร็งกันไป แต่ยังมักทำให้ดิฉันประหลาดใจอยู่บ่อยครั้งด้วยลักษณะที่ดูจะสะท้อนถึงความขัดแย้งในตัวเองหลายประการ บางทีมันอาจมิใช่เป็นความขัดแย้งที่เป็นปัญหาในตัวของอาจารย์ทักษ์เองมากเท่ากับที่เป็นความขัดแย้งที่ดิฉันผูกมันเองขึ้นมา ตามบริบททางสายตาของผู้ที่ยังเต็มกลืนอยู่กับฐานะราษฎรเต็มขั้นแห่งประเทศไทยแลนด์

ความขัดแย้งในตัวเองเหล่านั้นที่ดิฉันสัมผัสได้ มักเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารหรือบนรถปิคอัพขณะอาจารย์ขับพาแล่นออกนอกเมือง โดยผ่านการสนทนาโต้ตอบและผ่านการที่ดิฉันมักแอบสังเกตท่วงทีกิริยา (กระทั่งเสื้อผ้าการแต่งกาย!) และปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มิใช่ผ่านการอ่านงานเขียนหรือฟังบรรยายปาฐกถา จนเมื่อได้อ่านบทความเหล่านี้ที่ต่อมาดิฉันตกลงใจตีพิมพ์เป็นเล่ม ดิฉันก็พบความอัศจรรย์ของการยืนยันซึ่งกันและกันระหว่างตัวบุคคลกับตัวงาน สิ่งใดที่สัมผัสได้ผ่านบทสนทนาและมารยาทบนโต๊ะอาหาร สิ่งนั้นก็อยู่ในงานเขียนทางวิชาการด้วย

และดังนั้นเองดิฉันจึงหวังให้ผู้อ่านได้สัมผัสอย่างเดียวกัน ถึงเรื่องราวที่เสนอผ่านสายตาของอาจารย์ทักษ์ในฐานะกุลบุตรผู้มาจากพื้นเพครอบครัวและรากเหง้าทางสังคมที่ค่อนไปทางอนุรักษนิยม แต่กลับมีทัศนะอย่างเสรีนิยมมากพอที่จะมองเห็นส่วนผสมที่ขัดแย้งในตัวเองของความเป็นไทย ดังสะท้อนออกมาอย่างเข้มข้นในบทความหลักสามบทความแรก คือ “ความไม่พยาบาท ของครูเหลี่ยม กับวิบากความทันสมัยของไทย”, “นางเนรมิตร ของครูเหลี่ยม กับแฟนตาซีของสยาม”, “เปิดพื้นที่อย่างใหม่ในทำเนียบวรรณกรรมไทย” และขมวดซ้ำอย่างแหลมคมขึ้นไปอีกเมื่อเชื่อมโยงไปถึงฐานะอันก้ำกึ่งนั้นที่สะท้อนอยู่ในชนชั้น “เจ้า” ของไทยในบทความ “ล้อหมุนเร็ว : การแข่งรถ วรรณกรรมการแข่งรถ และชาตินิยมไทย” อันว่าด้วยพระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดชและพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กับโลกของการแข่งรถสากลของพวกเขา

เช่นกันกับที่ดิฉันอยากให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงเรื่องราวที่เสนอผ่านสายตาของความเป็นนายทักษ์ บุรุษผู้รักจะใช้ชีวิตทำกิจกรรมกลางแจ้งในภาพแบบฉบับอย่าง “ชายๆ” ไม่ว่าแข่งรถ แล่นเรือ ตกปลา ฯลฯ ที่มองมายังโลกของการดิ้นรนของหญิงไทยราวกับด้วยความรู้สึกทึ่งและต้องการหยั่งถึงความยุ่งเหยิงซับซ้อนที่พวกเธอต้องรับมิือด้วย ไม่ว่าในแง่ทัศนะต่อเรื่องทางเพศอย่างในบทวิเคราะห์ นางเนรมิตร, ทางการสำแดงบทบาทเพศสถานะอย่างในกรณีบทความ “กุลสตรี ถอยไป : ห้วงรักเหวลึก และหลวงวิจิตรวาทการ” และความเป็นผู้หญิงที่ผูกโยงกับปัญหาทางชนชั้น อันซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อเป็นชนชั้น “เจ้า” ในกรณีบทความปริทัศน์ “ผู้หญิงศิวิไลซ์: ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และศตวรรษที่ 20 ของไทย”

และสุดท้ายคือเรื่องราวที่เสนอจากสายตาของศาสตราจารย์ทักษ์ นักวิชาการในฐานันดรสูงสุดของโลกหอคอยงาช้าง ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจโครงสร้างของเรื่องราวและโลกทัศน์อันมีพลวัตท่ามกลางการขยับเคลื่อนทางฐานันดรในโลกวิชาชีพที่สาธารณ์กว่าของบรรดาจีนเจ๊กแต่ละเจเนอเรชั่น รวมทั้งพ่อค้านักธุรกิจ นักการเมือง ดารา นักร้อง นักแสดงตลก ในบทความ “เราใช่เขา?: ภาพเสนอของคนจีนในวรรณกรรมไทยศตวรรษที่ 20” และ “อัตชีวประวัติของคนรวย คนสวย และตลก: แบบอย่างความสำเร็จในสังคมไทยร่วมสมัย”

การที่สำนักพิมพ์อ่านตัดสินใจนำบทความเหล่านี้มาแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ก็เพราะดิฉันอยากให้ผู้อ่านชาวไทยได้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวเองของสังคมไทยที่สะท้อนผ่านสายตาของผู้มีความซับซ้อนขัดแย้งในตัวเองของผู้เขียน ที่เอาเข้าจริงแล้วเราผู้อ่านชาวไทยก็ควรจะสามารถสัมผัสได้ไม่ต่างจากเขาสักเท่าไหร่ เพราะความขัดแย้งในตัวเองนั้นก็ดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเราด้วยเช่นกัน หากว่าเราเพียงแต่จะลองสำรวจและครุ่นคิดกับมันโดยรู้จักถอยระยะออกมา ไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงอิธากา เพียงให้ห่างออกจากระบบชุดคุณค่าอันสถาปนา ที่บดบังสายตาของเราไว้

ที่พิเศษไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือบทสัมภาษณ์และข้อเขียนในภาคผนวก (และอันที่จริงก็รวมถึง “คำนำจากผู้เขียน” ด้วย) ที่จะทำให้เราเห็นภาพว่า สายตาเช่นนี้ของผู้เขียน มาจากมุมมองทางเจเนอเรชั่นหรือมุมมองของคน “รุ่น” ไหน ในแง่ความเป็นปัญญาชนของสังคมไทยและของโลกวิชาการสากล

และสุดท้าย โดยฉันทาคติอันไม่อาจปิดบังได้ ดิฉันออกจะรู้สึกมีกำลังใจ ที่ได้เห็นว่าโจทย์ของความขัดแย้งในโลกของชุดคำใหญ่ๆ เหล่านี้ กลั่นมาจากนักรัฐศาสตร์ที่อ่านวรรณกรรมทั้งอย่างออกรสและอย่างจริงจัง อย่างพ้นไปจากฐานะคู่ตรงข้ามของ “ความบันเทิงไร้สาระ” กับความ “มีประโยชน์” ดังที่โลกวิชาการในสังคมไทยมักจัดวางตำแหน่งให้

ราวกับจะบอกว่า การ “อ่าน” ทุกประเภทล้วนมีความหมาย ขอเพียงให้ “อ่านจนแตก” ดังที่อาจารย์ทักษ์ตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ไว้ เท่านั้นเอง

อื่นๆ

ผู้เขียน

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ

คำนำ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ผู้แปล

พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

บรรณาธิการแปล

วริศา กิตติคุณเสรี, ไอดา อรุณวงศ์

ปก

ปกแข็ง, ปกอ่อน