ตั้งแต่อีสานล่มจนถึงทางออกของอีสาน : อ่านบทกวี “อีศาน” ของนายผี

รางวัลชนะเลิศ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 2

ประเภทร้อยแก้ว

โดย วิมล โคตรทุมมี

 

“‘นายผี’ อาจไม่คุ้นหูของเด็กรุ่นใหม่ แต่ย้อนไปในทศวรรษ 2490 เขาคือนักเขียนฝีปากร้าย สมัยจอมพล ป. เขาคืออัยการผู้ซื่อตรงที่ทำคดีทุจริตจัดซื้อลวดหนามของน้องชายจอมพล ป. ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เขาคือหัวสมองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และตลอด 69 ปีที่เขามีชีวิต เขาได้ฝากงานเขียนรวมกว่า 400 เรื่องไว้ให้วงการวรรณกรรมไทย”[1]

หนึ่งในงานเขียนของ นายผี หรืออัศนี พลจันทร คือ “อีศาน!” ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2495 บทกวีว่าด้วยความเป็นอีสาน ดินแดนที่ราบสูงแต่มีความหมายต่ำจากสายตาของ ‘เขา’ ผู้ดูหมิ่นดูแคลนคนในพื้นที่อีสานแห่งนี้ อีสานจึงเป็นประเด็นที่ปรากฏในงานของนายผี ซึ่งยังรวมไปถึงงานกวีชิ้นต่อ ๆ มา ได้แก่ “อีศานล่ม” (2501) และ “โอ้…อีศาน” (2502)

จะเป็นอีสาน หรือ อีศาน หากพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดโดยร่วมก็จะพบว่า อีสาน ล้วนถูกสะท้อนจากมุมมองผู้ถูกกระทำทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกันบริบทอีสานในช่วงไล่เลี่ยกันกับงายเขียนของนายผีก็เห็นได้ว่า การพัฒนาในทางความเจริญอาจไม่มากนัก โดยพิจารณาร่วมกับบทบาทของเตียง ศิริขันธ์ เมื่อครั้นที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2488 – 2490 ตัวแทนภาคอีสานที่มีการตั้งกระทู้เกี่ยวกับคนที่ถูกโกงและถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนการถามเรื่องชลประทาน และการเกษตร ชี้ชัดว่าในทางการดูแลจากรัฐ อีสานยังไม่ได้รับการพัฒนาที่มากพอ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังเห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้มากกว่าภาคอีสานอีกด้วย[2] บริบทอีสานในงานกวีทั้งสามชิ้นของนายผีจึงปรากฏภาพอีสานที่ดูแห้งแล้ง เป็นดินแดนที่ราบสูงที่ไม่ได้รับการพัฒนา กระทั่งเป็นดินแดนที่มีการดูถูกซึ่งกันและกัน

ความแตกต่างของเตียง ศิริขันธ์ ที่ตั้งกระทู้ต่อการพัฒนาภาคอีสานจากรัฐบาล สรุปได้คือการหาปัจจัยภายนอกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงภายใน สิ่งที่นายผีเขียนจากงานทั้งสามก็คือการเปลี่ยนภายในจากคนในเอง โดยผู้เขียนจะชี้ให้เห็นประเด็นนี้จากบทกวีทั้งสามชิ้น ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันในแง่ของการกล่าวถึงอีสานตั้งแต่การล่มสลายไปจนถึงทางออกที่นายผีเขียนไว้ โดยจะวิเคราะห์ร่วมกันทั้งสามชิ้น ดังนี้

การล่มสลายของอีสาน จากบทกวีทั้งสามชิ้น สัญญาณแรกอันเป็นขนบในการแต่งบทกวีอีสานทั้งสามชิ้นของนายผี คือการชี้ให้เห็นบรรยากาศของอีสาน ตั้งแต่งานกวีชิ้นแรกคือ “อีศาน!” ที่ตีพิมพ์ในปี 2495 ว่าอีสานเป็นพื้นที่ที่บนฟ้าไม่มีฝน แผ่นดินแห้งแตกกลายเป็นทราย กระทั่งน้ำตาที่ตกลงไปซึมหายไปทันที

ในฟ้าบ่มีน้ำ   ในดินซ้ำมีแต่ทราย   น้ำตาที่ตกราย   ก็รีบซาบบ่รอซึม

จาก “อีศาน!”

หรือในปี 2501 แผ่นดินเป็นฝุ่นแดง มีลมร้อนแล้งพัดอยู่ ฝนฟ้าก็พิกลพิการไป

แผ่นดินเป็นฝุ่นแดง    อันร้อนแล้งด้วยไอลม   ฝนตกก็เป็นตม   ตลอดทุ่งอยู่ทรมา

โอ้อกแผ่นดินดอน   อาบอายร้อนอยู่รอรา   ฝนลงแลศงกา   จะพิการไปกลใด

จาก “อีศานล่ม”

กระทั่งในบท “โอ้…อีศาน” บรรยากาศอีสานร้อนแรงด้วยเพลิงรุมเผา ที่ราบสูงถูกสมด้วยเพลงแห่งความลำเค็ญ แผ่นดินเป็นสีแดง ความทุกข์ยากลำบากกระจายไปทั่ว

ทั่วที่ราบสูงล้วนสุม   เพลิงลำเค็ญคุม   ก็คือนรกฤาปาน

จาก “โอ้…อีศาน”

งานทั้งสามชิ้นของนายผี เห็นได้ว่ามีการเปิดเรื่องคล้ายกัน คือการเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงสภาพบรรยากาศของภาคอีสานที่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดน้ำ ร้อนด้วยลมแล้ง มองในเชิงภูมิศาสตร์ย่อมเป็นไปได้ แต่การหยิบใช้ของนายผีที่ปรากฏโดยมากเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการต้องการสื่อความหมายที่มากกว่าพื้นที่แห่งนี้แล้งโดยธรรมชาติ หากแต่จะเป็นการแสดงความหมายอีกอย่างว่า บรรยากาศที่แห้งแล้งนี้ เกิดจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เพียงธรรมชาติที่กระทำต่ออีสาน ดังจะเห็นในส่วนต่อไปของบทกวีของนายผีที่ชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยภายนอกอันปรากฏในรูปแบบตัวละครหรือรวมไปถึงตัวตนปริศนาอื่น ๆ

ผู้ทำให้อีสานล่มสลาย หากไล่ตามปีของชิ้นงาน นายผีเห็นว่าปัญหาที่เข้ามากระทบต่อพื้นที่อีสานมักจะเป็นคนนอก ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในอีสาน และผู้มีอำนาจหรือผู้ที่ใช้อำนาจในการกดขี่ประชาชน ซึ่งนายผีเขียนไว้โดยใช้ทั้งคำตรงไปตรงมาและคำแทน เห็นในบทแรกว่า ‘ผู้แทน’ นายผีเสียดสีผู้แทนราษฎร ด้วยการกล่าวว่าผู้แทนแม้จะเป็นคนฉลาด แต่ก็เป็นคนที่คดโกง กดขี่ประชาชน นอกจากนี้นายผีเองยังชี้ให้เห็นว่า มี ‘เขา’ บุคคลอื่นที่กล่าวว่าคนอีสานเป็นคนโง่เง่า

จาก ‘เขา’ บุคคลปริศนา จนถึงผู้แทนประชาชนในบทแรก ต่อมาในบทกวี “อีศานล่ม” นายผีชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอีสานกับผู้ปกครองสยาม แม้ว่านายผีจะไม่ได้ชี้ชัดว่าสยามรัฐเป็นผู้กระทำต่ออีสานโดยตรง แต่สยามรัฐก็เป็นส่วนหนึ่งที่มามีอำนาจอยู่เหนืออีสาน ‘มือลาว’ ทั้งหลายในดินแดนอีสานต้องเป็นผู้ยกชู เป็นพื้นที่ที่ทำงานหลัก ในขณะที่สยามรัฐกลับรุ่งเรืองขึ้น

แสนล้านนี้มือลาว   อันหาญห้าวบหันเห   ชูไว้บ่ได้เซ   สยามรัฐจึ่งเรืองรอง

จาก “อีศานล่ม”

ซึ่งในบท “อีศานล่ม” หากพิจารณาเนื้อหาโดยรวมจะพบว่า นายผีตั้งใจจะให้เป็นบทที่แสดงถึงการล่มสลายของภาคอีสานมากที่สุด เพราะมีเนื้อหาช่วงบรรยายถึงสภาพอากาศมาก อีกทั้งประเด็นสยามรัฐนายผีก็กล่าวอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา แตกต่างจากบท “อีศาน!” ที่กล่าวถึงผู้แทน ซึ่งเป็นระดับตัวบุคคลที่ยังมีความเชื่อมโยงต่อตัวประชาชนอยู่ การใช้สยามรัฐ จึงเป็นระดับโครงสร้างทางสังคมที่ใหญ่กว่าที่กระทำต่อภาคอีสาน กระทั่งในบทสุดท้าย ผู้กระทำต่ออีสานเป็นบุคคลอื่น ๆ คือ ‘เขา’ นายผีกลับมาใช้คำนี้ ระดับคำเล็กลง ซึ่งเป็นการไม่เจาะจงเหมือนบทก่อน ๆ ดังนี้

เขาก็สาปอีศานเสียตัว   โอ้ว่าเฮาอย่าหวัว   มาเห็นฉิบหายห้วยเฮือน

จาก “โอ้…อีศาน”

ต่อการล่มสลายของอีสานในงานของนายผี เห็นได้ว่า การที่นายผีบรรยายสภาพพื้นที่อีสานที่มุ่งนำเสนอภาพความแห้งแล้ง ไม่น่าอยู่ ในแง่หนึ่งอาจตอบคำถามต่อประเด็นทางภูมิประเทศ แต่ในอีกแง่นายผีต้องการสร้างภาพเชิงลบเพื่อที่จะนำไปสู่การพูดถึงผู้กระทำต่ออีสาน อีสานไม่ได้ร้อนเพราะลมแล้ง แต่ร้อนเพราะคนอื่นมาทำให้ร้อน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทน สยามรัฐ และเขา ทั้งหมดเป็นบุคคลภายนอก พวกเขาไม่ใช่คนอีสาน แต่มากดขี่ข่มเหง ดูถูกดูแคลนคนภูมิภาคนี้

ทางออกของอีสาน หรือการจัดการกับการดูถูก การกดขี่ข่มเหง หรือการถูกกระทำทางอำนาจต่าง ๆ จากคนอื่นต่อคนอีสานในข้อเสนอของนายผี เป็นส่วนสุดท้ายที่นายผีเขียนไว้ในงานทั้งสามชิ้นนี้ หากไล่เรียงตั้งแต่งานชิ้นแรก คือ “อีศาน!” นายผีชี้ให้เห็นว่า เราควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามี คือมือทั้งสองข้าง การเริ่มต้นเช่นนี้คือการเริ่มด้วยมือทั้งสองข้างขางตน ข้อเสนอนี้เป็นการชี้ไปที่การสร้างสำนึกในระดับปัจเจกบุคคล การเห็นคุณค่าของตัวเอง นายผียังย้ำให้สู้ด้วยสองแขน กระทั่งนำไปสู่การโต้แย้งต่อไป

สองมือเฮามีแฮง   เสียงเฮาแย้งมีคนยิน   สงสารอีศานสิ้น   อย่าซุด,สู้ด้วยสองแขน!

จาก “อีศาน!”

จากข้อเสนอในระดับปัจเจก ในบทกวี “อีศานล่ม” มีการรวมตัวกันมากขึ้น ข้อเสนอบทนี้นายผีชี้ให้เห็นว่า การรวมตัวกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การปลดจากการจำจอง ซึ่งในบริบทของงานเขียน คือการปลดจากการจำจองของสยามรัฐ ผู้มาใช้อำนาจครอบคลุมอีสาน และนำการพัฒนามาสู่เพียงแต่ตน

กอดมือกันทั้งหมด   จึ่งจะปลดจากจำจอง

จาก “อีศานล่ม”

กระทั่งใน “โอ้…อีศาน” นายผีสรุปข้อเสนอทั้งหมดของตนด้วยการชี้ให้เห็นการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออีสาน โดยเริ่มจากการแสดงออกในระดับปัจเจกบุคคล นายผีชี้ให้เห็นความสำคัญของการเริ่มต้นด้วยสองมือ สองมือของคนอีสานเหมือนหินผา มันคือความแข็งแรงที่พร้อมจะทำสิ่งอื่น ๆ ความเชื่อมั่นของนายผีและคนอีสานยังท้าทายออกมาอีกว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้ขอให้ ‘เขา’ ผู้กระทำต่ออีสานทั้งหลายดูให้ดี ชาวอีสานจะสามัคคีกัน การรวมตัวกันของคนอีสานจะเป็นกลุ่มพลังอันยิ่งใหญ่ นายผีเปรียบว่าเป็นเหมือนแม่น้ำโขงที่ไหลแรง ผู้ขัดขวางจะถูกพัดหนี

สองมือเฮาคือหินผา   เจ้าสิเบิ่งเสียสา   แลเฮาจะได้เห็นดี

โอ้ว่าความสามัคคี   แสนล้านเรามี   มหานุภาพพึงแสดง

คือว่าลำโขงไหลลงแรง   ใครขวางทางแทง   ทะลุทะลักฤาทาน

จาก “โอ้…อีศาน”

หากนับว่าบทกวี “โอ้…อีศาน” เป็นทางออกของการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน ผลที่เกิดจากการเห็นคุณค่าของตนจากสองแขนที่มี กระทั่งถึงการรวมกันสู้ อีสานจะเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นที่ที่ชุ่มชื่น อุดมสมบูรณ์อันหมายถึงอุดมสมบูรณ์ทั้งพื้นที่ และชีวิต ความเป็นคนของพวกเขา

ท่วมล้นท้นลงฤานาน   ล้างสิ้นอีศาน   กำซาบที่สูงเสียม

ชุ่มชื่นรื่นถิ่นใดเทียม   สิ้นซอมกรอมเกรียม   ก็กลายอุดมสมบูรณ์

จาก “โอ้…อีศาน”

จากการล่มสลายของอีสาน งานทั้งสามชิ้นของนายผีได้ไล่เรียงให้เห็นตั้งแต่บรรยากาศที่เกิดขึ้น อีสานเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง บริบททางสังคมในขณะนั้นก็ตอกย้ำว่า อีสานควรได้รับการพัฒนาจากภาครัฐ จากการตั้งกระทู้ของนายเตียง ศิริขันธ์ นักต่อสู้ทางการเมืองคนสำคัญเสนอว่า อีสานควรได้รับการพัฒนาเท่า ๆ กับภูมิภาคอื่น ซึ่งทั้งหมดเป็นการยื่นข้อเสนอให้บุคคลภายนอกเข้ามาพัฒนาต่ออีสาน ในขณะเดียวกัน มุมมองของนายผีอาจต่างออกไป นายผีชี้ให้เห็นว่า ผู้เข้ามาทำลายความเป็นอีสานกลับเป็นคนภายนอก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปกครองทั้งหลาย พวกเขาเข้ามามีอำนาจเหนือกว่า และนำการพัฒนาเข้าสู่เพียงแต่ตน พวกเขาดูถูก กดขี่ข่มเหงคนอีสาน นายผีชี้ให้เห็นว่า ทางออกที่สำคัญคือการเริ่มต้นจากตัวเอง การเริ่มจากการเห็นคุณค่าของตน การเริ่มด้วยมือทั้งสองข้าง กระทั่งร่วมกันในมากขึ้น ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

อีสานจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ไม่ใช่คนอื่น หากแต่คนอีสานเอง คนอื่น ๆ ที่เข้ามาเห็นแล้วว่า พวกเขาไม่ได้จริงใจต่อคนอีสาน มีแต่จะกดขี่ข่มเหง และน่าผิดหวังที่สุด เพราะคนที่อ้างว่าจะมาพัฒนาคนอีสานกลับเป็นคนทำลายคนอีสานเสียเอง

 

[1] ประชาไท, (2561), นาย คือ บดี ผี คือ ปิศาจ 100 ปี ‘นายผี’ จากอัยการ นักเขียน สู่นักปฏิวัติ (ออนไลน์), สืบค้น 13 พฤษภาคม 2562, เข้าถึงได้จาก  https://prachatai.com/journal/2018/04/76230.

[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ บรรณาธิการ, (2544), ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน +1, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 205.

 

วิมล โคตรทุมมี เป็นคนอีสาน บ้านอยู่ใกล้แม่น้ำโขง และเพิ่งเรียนจบจากอีสาน มหาลัยที่อยู่ใกล้แม่น้ำมูล ตอนนี้รับจ้างทั่วไป ว่างก็อ่านหนังสือ