บทความ เรื่อง “สภาพการณ์ 2491 ถึงการแตกสลายของ Bhumibol Consensus”

ผลงานผ่านการพิจารณาให้เผยแพร่ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 3

ประเภทบทความ หัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition”

โดย ทวี สัจจยุค

นิทานการเมืองเรื่อง “การปฏิวัติที่ห่าม” เป็นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริง “นายผี” ได้บันทึกเอาไว้ในรูปแบบ “นิทานการเมือง” เนื้อหาเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่  1 ต.ค. 2491 หรือต่อมารู้จักกันในชื่อ “กบฏเสนาธิการ” เขาได้สมมุติตัวละครชื่อ “กุลิศ” เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ในคืนนั้น และให้ตัวละคร “ฟาตีมะห์”ร่วมแลกเปลี่ยนซักถาม เพื่อเป็นการถ่ายทอดความคิดของเขา

สภาพการณ์ 2491

กบฏเสนาธิการ หรือ กบฏ 1 ตุลาคม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 เมื่อนายทหารระดับเสนาธิการนำโดย พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนจะเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม แต่รัฐบาลขณะนั้นทราบแผนการล่วงหน้าเสียก่อน จึงทำการจับกุมได้ก่อนปฏิบัติการจะเริ่มขึ้น

ตามแผนปฏิบัติการจะเริ่มก่อการขึ้นในเวลา 20.00 น. ซึ่งจะเป็นช่วงงานเลี้ยงสมรสระหว่าง พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้นำฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดจะไปรวมตัวกันที่นั่น แต่ทว่าเมื่อแผนการรั่วไหล ฝ่ายรัฐบาลจึงส่งกองกำลังทหาร และตำรวจเข้าปราบปราม และเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ ฝ่ายปฏิวัติจึงยอมจำนน และเจรจามอบตัว

นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์อย่าง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ วิเคราะห์ถึง “ปัจจัยภายใน” ของการเกิดกบฏเสนาธิการว่า เป็นผลผลิตของการต่อต้านคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกานยน 2490 ภายในกองทัพบกเอง โดยพิจารณาปัจจัย 2 ประการ คือ

หนึ่ง ด้านดุลแห่งอำนาจในกองทัพบก กล่าวคือ ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้มีการตั้ง นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สภาพกองทัพบกในสมัยนายควงนี้ยังคงราบรื่นดี  แต่เมื่อคณะรัฐประหารจี้นายควงออก และสถาปนารัฐบาลจอมพลป. ความรู้สึกไม่พอใจก็เริ่มปะทุขึ้น เช่น กรณีการก้าวก่ายทางการเมือง และเคลื่อนไหวตามใจชอบของ พล.ท.กาจ กาจสงคราม และการเข้าไปควบคุมองค์การทหารผ่านศึกของพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ข่าวพันพันการทุจริตที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วไปว่าคณะรัฐประหารกระทำการเพื่อมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงนำมาซึ่งความพยายามก่อการยึดอำนาจ

สอง ปัจจัยทางด้านความคิด เนื่องจากในระยะที่รัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือนบริหารประเทศระหว่าง พ.ศ. 2487-2490 นั้น ได้มีการผลักดันแนวคิดแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการฝ่ายทหาร ที่เรียกว่า “ความคิดทหารอาชีพ” โดยเห็นว่า ทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือถ้าจะรับตำแหน่งทางการเมืองก็ควรลาออกจากทหารประจำการก่อน แนวคิดดังกล่าวเชื่อว่าการที่ทหารเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วจะมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนลัทธิเผด็จการ

“ความคิดทหารอาชีพ” มีอิทธิพลต่อนายทหารกลุ่ม “เสนาธิการ” ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของคณะรัฐประหาร ความขัดแย้งของทั้งสองแนวคิดนี้ดำรงอยู่ในกองทัพเมื่อ พ.ศ.2490-2491 และเป็นเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การก่อกบฏเสนาธิการนี้ด้วย (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2553 : 153-158)

ด้าน ณัฐพล ใจจริง ได้วิเคราะห์ให้เห็นในบริบทที่กว้างออกไป เขากล่าวถึงรัฐบาลจอมพล.ป. ในช่วงนั้นว่านอกจากจะมีความขัดแย้งระหว่างกองทัพและภายในกองทัพบกแล้ว รัฐบาลจอมพล.ป.ยังต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากปรปักษ์ทางการเมืองหลายกลุ่ม เช่น “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ“กลุ่มปรีดี”

เขาระบุว่าการท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาเรียกว่า “กบฏเสนาธิการ” ครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคยร่วมมือกันใน“ขบวนการเสรีไทย” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอ้างข้อมูลจากซีไอเอโดยดังนี้

“ซีไอเอได้รายงานว่า แผนการรัฐประหารดังกล่าวว่ามี 2 วิธี คือ การใช้กำลังทหารจากกรมปืนต่อสู้อากาศยานภายใต้การสั่งการของพล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เพื่อจับกุมนายกรัฐมนตรีและแกนนำคณะรัฐประหารและแผนที่สอง คือ การใช้กำลังโดยตรงต่อคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป.ทั้งหมด หากแผนการสำเร็จจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง“กลุ่มปรีดี”และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” (ณัฐพล ใจจริง, 2552 : 80)

สถานการณ์ของรัฐบาลดังกล่าวจึงเป็นดังที่ สุธาชัย สรุปว่า

“รัฐบาลจอมพล ป.ใน พ.ศ.2491 นั้นยังคงมีข้อจำกัดอย่างมากในการใช้อำนาจ และการบริหารส่วนใหญ่ก็ยังเป็นลักษณะเดียวกับรัฐบาลขัดตาทัพของควง อภัยวงศ์ การใช้อำนาจเผด็จการยังมิได้เป็นไปอย่างเต็มที่ และยังประสานประโยชน์กับฝ่ายอนุรักษณ์นิยมอยู่มาก ดังนั้นจึงเรียกยุคสมัยนี้ว่า ‘กึ่งเผด็จการ’” (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2553 : 133)

โดยสรุปสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้มีกลุ่มอำนาจที่กำลังช่วงชิงกันอยู่สามกลุ่มคือ หนึ่ง กลุ่มทหาร สองกลุ่มปรีดี และสามกลุ่มรอยัลลิสต์ แต่ละกลุ่มยังไม่ได้มีชัยชนะต่อกันอย่างเด็ดขาด การวิเคราะห์ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนั้นของ “นายผี” ในนิทานการเมือง เรื่อง “การปฏิวัติที่ห่าม” ดังจะได้กล่าวต่อไป

ฟากฟ้าที่ปราศจากดวงจันทร์!

สถานการณ์การเมืองในช่วงปี 2491 นายผีมองว่าเป็นฟ้าที่ปราศจากดวงจันทร์ เขาพรรณาว่า

“ฟ้านั้นปราศจากเมฆ ปราศจากดวงจันทร์ อา! และเมื่อปราศจากดวงจันทร์เช่นนั้น, ดาวทั้งหลายก็ขึ้นเด่นอยู่เต็มฟากฟ้า มีทั้งดาวร้ายและดาวเลวที่เรืองรัศมีไปเปนกงจักร์!”(อัศนี พลจันทร, 2560 : 83)

ลักษณะ “ฟากฟ้าที่ปราศจากดวงจันทร์” เปรียบได้กับสังคมที่ยังไม่มีกลุ่มการเมืองใดสถาปนาอำนาจนำได้สูงสุด ทำให้ดวงดาวทั้งหลายต่างช่วงชิงขึ้นมาเพื่อจะเป็นใหญ่ กล่าวอีกอย่างได้ว่าลักษณะดังกล่าวเป็นสภาพสังคมที่ยังหา “ฉันทามติ”ร่วมกันไม่ได้ ไม่มีกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่งครองอำนาจนำได้อย่างเบ็ดเสร็จเหนือกลุ่มอื่น

สถานการณ์ในปี 2491 มีกลุ่มอำนาจที่กำลังต่อสู้ขับเคี่ยวกันสามกลุ่มดังได้กล่าวไป และในปีต่อๆมาถึงแม้กลุ่มของปรีดีจะพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในปี 2494 ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มการเมืองที่เหลือสถาปนาอำนาจนำได้อย่างเบ็ดเสร็จแต่อย่างใด สังคมการเมืองไทยตลอดช่วงทศวรรษ 2490 ยังอยู่ในลักษณะการเมือง “สามเส้า” และจบลงเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ทำการรัฐประหาร ในปี 2500

สถานการณ์ในอดีตมีความคล้ายคลึงกับวิกฤตการณ์ทางการในรอบสิบกว่าปีมานี้เป็นอย่างยิ่ง!

มีนักวิชาการอย่างน้อย 2 คน คือ เกษียร เตชะพีระ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เห็นร่วมกันเกี่ยวกับวิกฤตในปัจจุบันว่า สังคมการเมืองไทยปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ที่ยังหา “ฉันทามติ” ใหม่ไม่ได้ ภายหลังการ “breakdown” ของ “ฉันทามติภูมิพล” (Bhumibol Consensus)

เกษียร เตชะพีระ ให้ความหมาย “The Bhumibol consensus” ว่าเป็น

“สถานการณ์อันเปราะบางที่ไม่มีอำนาจนำทางการเมืองอันเป็นที่ยอมรับในแง่ความชอบธรรม, ไม่มีกรอบกฎเกณฑ์กติกาปกติของการดำเนินและแก้ไขยุติความขัดแย้ง, มีแต่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น และอำนาจบังคับด้วยกำลังที่มิอาจแก้ไขข้อขัดแย้งให้ตกไปอย่างถึงรากได้” (เกษียร เตชะพีระ, 2560)

 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ว่าเขาเห็นตรงกันกับเกษียรตรงที่  ณ จุดภาวะปัจจุบันประเด็นปัญหาอยู่ตรงที่ต้องหา “ฉันทามติใหม่” เขาอธิบาย “Bhumibol Consensus” ว่า

“ที่ผ่านมา อย่างน้อยในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนการเริ่มของวิกฤติ สังคม-การเมืองไทยก็มีสิ่งที่ว่านี้อยู่ (ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น ฉันทามติ, อำนาจนำทางวัฒนธรรม, ความเป็นชาติ, ชาตินิยม) : ในหลวงภูมิพล”

และ

“วิกฤติสิบกว่าปีที่ผ่านมา ถ้าจะพูดแบบรวบยอดเป็นรูปธรรม อาจจะพูดได้ว่าคือวิกฤติการ breakdown หรือการ “แตกสลาย” ของ อำนาจนำของในหลวงภูมิพล” (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 2560)

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์อย่าง “กบฏเสนาธิการ”จะไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นการ “ปฏิวัติที่สมบูรณ์” ในทัศนะของนายผี กระนั้นก็ดี ระหว่างสองฝ่ายระหว่าง “ฝ่ายรัฐประหาร”กับ “ฝ่ายปฏิวัติ” นายผีเองได้มองเห็นส่วนที่ก้าวหน้าของคณะทหารฝ่ายเสนาธิการ เขามองว่าการดำเนินการในครั้งนี้อย่างน้อยก็ไม่ได้เสียหายอะไร แม้จะเป็นการดำเนินที่ผิดทาง แต่เมื่อยึดอำนาจแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการทำลายระบอบราชาธิปไตยอำนาจจำกัดลงไปเองในตัว และย่อมจะเป็นการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วยหยาดโลหิต  ดังที่ตัวละครอย่างกุลิศ กล่าวว่า

“ฟาตีมะห์, การปฏิวัติที่ห่ามนั้น จะผิดหรือถูกอย่างไรก็ตามที แต่ก็เปนน้ำล้างปลาหยดหนึ่งเหมือนกัน!” (อัศนี พลจันทร, 2560 : 92)

 

บรรณานุกรม

เกษียร เตชะพีระ. (2560). ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง. สืบค้นเมื่อ 12 มิ.ย. 62, จาก https://bit.ly/2Ev0OYC

ณัฐพล ใจจริง. (2552). การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ. 2491-2500), วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2553). แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐ และการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพฯ : พี.เพรส.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2560). “ฉันทามติ-อำนาจนำ-เอกลักษณ์ร่วม-ความเป็นชาติ/ชาตินิยมหรือไม่มีกษัตริย์ภูมิพลแล้ว จะมีใครหรืออะไร แทนที่”. สืบค้นเมื่อ 12 มิ.ย. 62, จาก https://bit.ly/2VxCKiI

อัศนี พลจันทร. (2560). นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อ่าน

 

“ทวี สัจจยุค” ทำงานในพื้นที่ชนบทอีสาน ได้ตระหนักว่าการต่อสู้มีมาในทุกทุกสมัย และยังไม่บสิ้น สนใศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองสมัยใหม่