บทความ เรื่อง “ปฏิวัติที่เพิ่งเริ่ม(?): จากรัฐประหารซ้อน 2491 สู่(จุดเริ่มต้น)ปฏิวัติของประชาชน 2562”

ผลงานผ่านการพิจารณาให้เผยแพร่ โครงการ “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 3

ประเภทบทความ หัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition”

โดย โจเซฟอะครับ

หากอธิบายโดยสรุป งานเขียนชิ้นนี้ต้องการเริ่มด้วยการเข้าไปสนทนากับงาน “ปฏิวัติที่ห่าม” (2491) ของอัศนี พลจันทร หรือนายผี โดยเริ่มจากการเข้าไปแกะรอยความคิดเรื่อง “การปฏิวัติ” ในทัศนะของนายผีที่ได้อธิบายไว้ผ่านงาน “การปฏิวัติที่ห่าม” พร้อมทำความเข้าใจบริบทที่ส่งผลต่อความคิดทางการเมืองในช่วงนั้น ก่อนที่จะนำมาเปรียบเทียบความคิดทางการเมืองของนายผีกับนักปรัชญาตะวันตกอย่าง Hannah Arendt ผู้เสนอมุมมองต่อการปฏิวัติได้น่าสนใจในผลงานของเธอคือ “On Revolution” (1963) เพื่อที่จะนำมาคิดต่อไปว่าเหตุใดการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในไทยจึงยังไม่ถือว่ามีการปฏิวัติ (โดยประชาชน) อย่างแท้จริง และยิ่งชวนให้คิดต่อไปว่า ในปัจจุบันและในอนาคตภายภาคหน้าของไทยการปฏิวัติโดยประชาชนของไทยมีอุปสรรคใดที่พึงให้ความสนใจ ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะเป็นการชวนให้ผู้อ่านร่วมครุ่นคิดต่อไปถึงอนาคตของสังคมการเมืองไทย ผ่านสิ่งที่ Hannah Arendt เรียกว่า “จุดเริ่มต้นใหม่” (new beginning) ที่จะนำไปสู่การปฏิวัติโดยประชาชนอย่างแท้จริงและอาจนำไปสู่อนาคตที่ดีของสังคมการเมืองไทยในที่สุด

เห็นอะไรจาก “ปฏิวัติที่ห่าม”?

“การปฏิวัติที่แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วแบบไหนที่ไม่ใช่การปฏิวัติ” อาจถือเป็นคำถามสำคัญจากงานนิทานการเมือง “การปฏิวัติที่ห่าม” ที่นายผีได้เข้าไปสนทนาด้วย เพื่อเข้าไปสนทนากับนิทานการเมืองชิ้นนี้ ในส่วนนี้จึงต้องเข้าใจเกี่ยวกับงานชิ้นนี้มีอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ บริบททางสังคมและบริบทการเมืองขณะนายผีเขียนงานชิ้นนี้ จากนั้นจึงเข้าไปแกะรอยความคิดทางการเมืองต่อ “การปฏิวัติ” (ที่แท้จริง) ในความคิดของนายผีต่อไป

บริบททางสังคมในกรุงเทพฯขณะนั้นอาจกล่าวได้ว่า เป็นสภาวะที่ผู้คนต่างใส่ใจเพียงเรื่องส่วนตน ละเลยความสนใจต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ดังที่นายผีบรรยายลักษณะนิสัยของชาวสยามในงานของเขาว่า

“ประชาชนอย่างชาวสยามผู้เห็นทรัพย์ผู้อื่นเหมือนก้อนดิน ภรรยาท่านเหมือนมารดาตน และเห็นตัว

ยี่เกแห่งความขี้เกียจประแป้งแต่งหน้าออกมาเล่นเปนพระเอกชื่อว่าพระเจ้าแห่งความสันโดษ ก็ไม่
สดุ้งเสทือน ไม่หวั่นไหวและไม่รู้เรื่อง เหมือนควายที่เคี้ยวเอื้องอยู่กลางปลักอันโสโครกอย่างไม่ระคายตัว” (อัศนี พลจันทร, การปฏิวัติที่ห่าม, ตอนที่1 หน้า 3)

บริบทสังคมสยามที่ถูกเล่าผ่านงาน “ปฏิวัติที่ห่าม” จึงดูมีความสิ้นหวังและชวนหดหู่ยิ่ง เนื่องด้วยความละเลยไม่ใส่ต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่นอกจากสภาพเศรษฐกิจยังย่ำแย่แล้ว สภาพการเมืองยังชวนให้ผู้คนถอยห่างและอาจจะอยากกล่าวคำหนึ่งแบบผู้คนบางกลุ่มในสังคมไทยปี 2562 ว่า “เบื่อการเมืองแล้วครับ/ค่ะ”

นอกจากนั้นบริบททางการเมืองสยามในขณะนั้นค่อนข้างเห็นได้ว่าเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังโรยแรง คณะราษฎรกำลังร่วงโรย การรัฐประหารยึดอำนาจมีสถานะเป็น “เรื่องปกติ” เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ในขณะเดียวกันเสรีภาพของประชาชนก็ไม่สู้ดีนัก บทบรรยายการเปิดหน้าต่างของประชาชนชาวสยามเพื่อมองดูการเคลื่อนทัพของกลุ่มรัฐประหาร ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งเหตุการณ์และอุปลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นได้ว่าเสรีภาพทางการเมืองที่ประชาชนทั่วไป(ถูกทำให้รับรู้ว่า)พวกเขาทำได้เพียง “จ้องมอง” ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นจนกระทั่งผ่านพ้นไป และเมื่อผ่านพ้นไปพวกเขาก็เข้าใจไปเองว่าการมีเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขาสิ้นสุดลงเท่านั้น เมื่อพวกเขาถูกปกปิดว่าเสรีภาพการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้แม้เป็นช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารยึดกุมอำนาจอยู่ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกนักที่นายผีจะบรรยายผ่านตัวละครในเรื่องด้วยท่าทีไม่พอใจต่อสถานการณ์การเมืองต่อทั้งฝ่ายรัฐประหารซ้อนว่าเป็นพวกไม่เด็ดขาดและจะเจ๊งด้วยตัวเองในที่สุด[1]  แล้วก็หวังว่าฝ่ายรัฐบาลจะสิ้นอำนาจลงด้วยพลังของประชาชนที่ลุกขึ้นปฏิวัติในที่สุด[2] (แบบที่เกิดขึ้นในประเทศจีน) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากทำการแกะรอยความคิดทางการเมืองของนายผีแล้วพบว่านายผีได้รับอิทธิพลความคิดทางการเมืองแนวมาร์กซิสม์ (marxism) มาไม่น้อย

ในทำนองเดียวกันนี้ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ก็ได้กล่าวผ่านงานเสวนา “กวีของนายผี และการเมืองของอัศนี พลจันทร” (2553) ว่าอิทธิพลความคิดทางการเมืองของนายผีในช่วงแรกนั้นได้รับอิทธิพลจากปรีดี พนมยงค์เป็นหลัก ทำให้ความคิดทางการเมืองของนายผีสามารถเข้าไปคลุกคลีกับวิธีคิดแบบศักดินาได้ ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วง 2491 เป็นต้นมาความคิดทางการเมืองของนายผีได้ตื่นขึ้นอย่างชัดเจนหลังเริ่มศึกษาความคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสม์ ตามแนวทางของ Lenin ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการที่นายผีสามารถก้าวข้ามความคิดทางการเมืองแบบปรีดี และเข้าถึงความคิดทางการเมืองที่เน้นการปฏิวัติโดยประชาชน ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติเพื่อเข้าสู่สังคมที่ดีตามแนวทางของ Vladimir Lenin ซึ่งสังเกตได้จากบทบรรยายที่กล่าวถึง “การปฏิวัติที่ห่าม” ว่ามีนัยถึงการปฏิวัติที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนโดยประชาชน[3]

ถ้าเช่นนั้นการปฏิวัติที่แท้จริงในความคิดของนายผีมีลักษณะเช่นไร ตรงนี้สามารถทำความเข้าใจได้ในลักษณะเดียวกันกับความคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสม์เลนิน การปฏิวัติที่แท้จริงสำหรับนายผีแล้วอาจเข้าใจได้ผ่านบทบรรยายในตอนที่ 2 หน้าที่ 2-3 ซึ่งอาจสรุปใจความได้ว่า เป็นการปฏิวัติที่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชน นอกจากนั้นนายผียังย้ำว่าการปฏิวัติที่ที่แท้จริงต้องไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาชน ปฏิวัติสังคม แต่ยังครอบคลุมถึงระบบเศรษฐกิจ ระบบศาลยุติธรรม ระบบการศึกษา อีกทั้งนายผียังกล่าวย้ำเช่นเดียวกับธานอส (ตัวละครในเรื่อง Avengers) ว่าเป็น ”ชะตาที่มิอาจหลีกเลี่ยง” ประชาชนจะลุกขึ้นปฏิวัติไม่ช้าก็เร็ว อีกทั้งยิ่งการมีอุปสรรคที่มาก ความรุนแรงที่จะเกิดจากการปฏิวัติก็จะมีมากตามไปด้วย

แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากจะต้องการไปให้ไกลกว่าการปฏิวัติในทัศนะของนายผี สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของการปฏิวัติในเชิงกระบวนการที่ไม่สิ้นสุด ไม่ใช่ในฐานะของปลายทางเท่านั้น โดยต่อไปนี้จะเป็นการเชิญนักปรัชญาชาวตะวันตกเข้าร่วมการสนทนาในครั้งนี้ ซึ่งก็คือ Hannah Arendt

“การปฏิวัติ” ในสายตาของ Hannah Arendt

เมื่อนึกถึงเรื่องของการปฏิวัติ Hannah Arendt เป็นบุคคลที่สำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ เธอได้เขียนงานถึงเรื่องการปฏิวัติได้อย่างน่าสนใจ ในงานของเธอ “On Revolution” (1963) หากกล่าวโดยสรุป เธอได้ตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับการปฏิวัติในสองประการสำคัญ ประการแรก การปฏิวัติไม่ควรเป็นเพียงปลายทาง แต่ควรเป็นกระบวนการเพื่อการเริ่มต้นโครงการใหม่ และประการที่สอง การปฏิวัติเองเป็นไปเพื่อรักษาเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมกัน โดยเธอได้อธิบายทั้งสองประการผ่านกรณีศึกษาการปฏิวัติในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส รวมถึงประเพณีการปฏิวัติ (revolutionary tradition) ที่ทั้งสองประเทศใช้เพื่อรักษาจิตวิญญาณการปฏิวัติให้ดำรงอยู่ ดังจะอธิบายต่อไปนี้

ประการแรก การปฏิวัติในทัศนะ Arendt มีความสำคัญในฐานะของจุดเริ่มต้น โดย Arendt ได้รับอิทธิพลความคิดมาจากความคิดทางการเมืองแบบโรมันที่เชื่อว่าระบอบการเมืองของรัฐจะดำรงอยู่ได้เมื่อมีการปักหลักให้รัฐมี “จุดเริ่มต้นอันศักดิ์สิทธิ์” (Re ligare) ถ้าเช่นนั้นการปฏิวัติที่แท้ก็จำต้องเป็นไปเพื่อก่อร่างจุดเริ่มต้นใหม่ (new beginning) ให้แก่รัฐเช่นกัน ดังที่ชาวโรมันนับถือโรมุลุสและเรมุสในฐานะจุดเริ่มต้นของกรุงโรม กรณีศึกษาผ่านประเทศสหรัฐฯและฝรั่งเศสจึงชี้ให้เห็นว่าต่างมีการปฏิวัติที่นอกจากจะมีประชาชนเป็นแนวร่วมด้วยแล้ว ยังเป็นการปฏิวัติที่มีการปักหลักจุดเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะสหรัฐฯที่วางหลักการ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ที่มีการแบ่งมลรัฐและให้มลรัฐส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองระดับประเทศเพื่อสะท้อนหลักเสรีภาพที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง ในขณะที่ฝรั่งเศสได้เชิดชูหลัก “solidarity” เพื่อสะท้อนความเท่าเทียมกันของประชาชนตามหลักเจตนารมณ์ทั่วไป (general will) ของ Jean Jacque Rousseau และปักหลักในฐานะจุดเริ่มต้นใหม่ของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติโดยประชาชน

ประการที่สอง การปฏิวัติมีความสำคัญเพื่อรักษาเสรีภาพของประชาชน ประเด็นเสรีภาพมีความสำคัญที่นายผีอาจมองข้ามไปเพราะนายผีอาจมุ่งหมายที่เป้าหมายมากเกินไปทำให้ละเลยในส่วนของการรักษาเสรีภาพของคนรุ่นหลังไป ทั้งนี้ในส่วนนี้ Arendt เห็นว่ารัฐจำเป็นต้องวางรากฐานประเพณีการปฏิวัติเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนคนรุ่นหลังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิวัติระบบที่มีความล้าสมัยตามกาลเวลาและสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบบที่ดีกว่าได้ผ่านกลไกรัฐที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ กรณีศึกษาเช่น ในสหรัฐอเมริกาที่มีการวางระบบ town-hall meeting เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นหลังได้มีส่วนร่วมสานต่อจิตวิญญาณการปฏิวัติและสถาปนาจุดเริ่มต้นใหม่ของแต่ละยุคสมัยต่อไป หรือนอกจากนั้นอาจสังเกตได้จากข้อกฎหมาย Amendments ที่ชาวอเมริกันสามารถต่อเติมได้ตามความเหมาะสมของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย หรือในส่วนของฝรั่งเศสที่มีการใช้ระบบการปกครองท้องถิ่นแบบคอมมูนเพื่อความสะดวกในการรับฟังความเห็นจากประชาชนในการสานต่อจิตวิญญาณการปฏิวัติให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป

เมื่อเห็นมุมมองต่อการปฏิวัติของ Arendt แล้ว คำถามถัดไปจึงเป็นการชวนผู้อ่านนำความคิดทางการเมืองว่าด้วยการปฏิวัติของนายผี สู่ Hannah Arendt แล้วนำมาถกเถียงกับปัญหาการเมืองไทยเพื่อตอบคำถามสำคัญสองประการ ได้แก่ หากคิดตามแนวคิดนายผีเหตุใดในไทยจนถึงปัจจุบันจึงไม่ถือว่าเคยเกิดการปฏิวัติแท้จริง และหากคิดตาม Arendt จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติจะสามารถปักหลักได้อย่างไร

Political polarization ในฐานะอุปสรรคของการปฏิวัติโดยประชาชนในทัศนะของนายผี

หากความคิดทางการเมืองว่าด้วยการปฏิวัติของนายผีวางหลักอยู่บนการสนับสนุนของประชาชน ถ้าเช่นนั้นก็อาจถือได้ว่าสังคมการเมืองไทยไม่เคยมีการปฏิวัติที่แท้จริงเลย เพราะปัญหาสำคัญของแนวคิดการปฏิวัติของนายผีอยู่ที่ “ใครคือประชาชนบ้าง” ในเมื่อสังคมไทยมีปัญหาร้าวมาเนิ่นนานระหว่างฝ่ายขวาส่วนน้อยที่กุมอำนาจมาก ในขณะที่ฝ่ายซ้ายที่เป็นคนส่วนมากกลับมีอำนาจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อปัญหาการเมืองแยกขั้ว (political polarization) เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่และทำให้คนไทยเกิดความคับข้องจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ (power relation) ที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่นนั้นแล้วการปฏิวัติแท้จริงโดยประชาชนตามทัศนะของนายผีย่อมเป็นไปไม่ได้เลยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสภาวะเช่นปัจจุบันที่มีการแบ่งขั้วชัดเจนระหว่างคนรุ่นเก่าที่นิยมความเป็นไทยกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแสวงหาการเมืองที่มีพื้นที่ให้อนาคต

มิพักต้องพูดถึงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ ศาลยุติธรรม หรือระบบการศึกษา ซึ่งล้วนถูกชนชั้นนำฝ่ายขวาควบคุมไว้ได้โดยสิ้นเชิง นอกจากนั้นการใช้กำลังต่อสู้ของประชาชนยิ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆหากเทียบกับอำนาจของกองทัพที่สามารถกำราบประชาชนมือเปล่าได้อยู่หมัด ด้วยเหตุนี้เพื่อก้าวข้ามการปฏิวัติที่ห่ามมานานปี การคำนึงถึงการปฏิวัติที่มีการวางหลักจุดเริ่มต้นใหม่และมองหาพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนสามารถแสดงออกได้โดยใช้ความคิดทางการเมืองของ Arendt เป็นแบบจึงอาจช่วยให้การปฏิวัติของประชาชนมีความเป็นไปได้มากขึ้น และมีหลักการรองรับในระยะให้จิตวิญญาณการปฏิวัติคงอยู่

“ปฏิวัติ 2019” จุดเริ่มต้นสำหรับการโต้กลับของประชาชนรุ่นใหม่

จนกระทั่งปี 2562 อาจเรียกได้ว่าพอมีเค้าลางของการปฏิวัติขึ้นบ้างแล้วหากมองการปฏิวัติตามทัศนะของ Arendt โดยสองประการที่ควรคำนึงถึงคือ พื้นที่ในการแสดงเสรีภาพทางการเมืองในยุค 4.0 และการปฏิวัติในฐานะจุดเริ่มต้นใหม่ เราจะเริ่มต้นใหม่กันอย่างไร

ประการแรก กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการสื่อสารที่เป็นผลดีต่อสังคมการเมืองไทย โดยเฉพาะการเกิดระบบโซเชียลมีเดียที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองตัดข้ามเวลาและสถานที่ได้ทั่วประเทศอย่างรวดเร็วในคลิกเดียว อีกทั้งหากดูจากบริบทสังคมไทยยุคปัจจุบันอจกล่าวได้ว่าบนช่องทางโซเชียลอาจเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ผู้คนมีเสรีภาพและปลอดภัยมากกว่าการหลบภัยในวัดวาอารามด้วยซ้ำ นอกจากนั้นโซเชียลมีเดียยังมีอำนาจมากพอที่จะเป็นพื้นที่ในการเชื่อมต่อและส่งต่อจิตวิญญาณการปฏิวัติการเมืองและสังคมระหว่างผู้คนที่มีความคิดทางการเมืองสอดคล้องกันให้ความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์สังคมการเมืองที่ดีดำรงอยู่ต่อไปให้ผู้คนรับรู้ผ่านการกดรีทวีตหรือแชร์ต่อๆไป

ประการที่สอง การปักหลักจุดเริ่มต้นใหม่ ต้องคำนึงถึงก่อนว่าปัญหาที่สังคมไทยหลงทางไปไกลคือ การมองและปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างอย่างไร้ความเป็นมนุษย์ (dehumanization) จุดเริ่มต้นของสังคมการเมืองไทยจึงอาจเริ่มต้นด้วยหลักการง่ายๆว่า “เป็นการเมืองแบบใหม่ ที่ต้องทำความเคยชินกับผู้คนที่มีความแตกต่างทั้งด้านอุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันด้วย” โดยเฉพาะกับฝ่ายที่มองว่าฝ่ายตรงข้ามก่อความไม่สงบ ฝ่ายหัวก้าวหน้ายิ่งจำเป็นต้องแสดงการยอมรับฟังความเห็นต่างอย่างมีอารยะเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายใดกันแน่ที่ใช้อำนาจก่อความวุ่นวายทางการเมืองอย่างไร้อารยะและขาดการรับฟังความเห็นต่างใดๆ ซึ่งการมีโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เชื่อมผู้คนที่มองเห็นอนาคตให้เกิดจิตวิญญาณการปฏิวัติที่มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงให้เกิดสังคมการเมืองที่ดีร่วมกัน และวางหลักการเริ่มต้นใหม่สู่การเมืองใหม่ของผู้มีอารยะและอยู่ในกฏเกณฑ์รัฐสภา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติที่แท้จริง”

 

บรรณานุกรม

สุรพศ ทวีศักดิ์. (2559). นายผีและจิตร ภูมิศักดิ์ กับการ ‘แยกศาสนาจากรัฐ’. เข้าถึงได้ที่: https://prachatai.com/journal/2016/10/68475.

อัศนี พลจันทร (รวบรวมโดยสำนักพิมพ์อ่าน). (2560).  “การปฏิวัติที่ห่าม” ใน “นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร”. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่าน.

Arendt, Hannah. (1963). On Revolution. USA: The Viking Press.

Rousseau, Jean-Jacques, 1712-1778. (1974). The essential Rousseau: The social contract, Discourse on the origin of inequality, Discourse on the arts and sciences, The creed of a Savoyard priest. New York: New American Library.

[1] อัศนี พลจันทร. (2491). การปฏิวัติที่ห่าม. ตอนที่ 1 หน้าที่ 2

[2] อ้างถึงแล้ว. ตอนที่ 1 หน้าที่ 4, ตอนที่ 2 หน้าที่ 3

[3] อ้างถึงแล้ว. ตอนที่ 2 หน้าที่ 1