พวงมาลาดอกชงโคและเฟื่องฟ้า กับประชาธิปตัยสมบูรณ์

สยามนิกร ฉบับวันที่ 20 ธ.ค. 2490

 

ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ปี 2490 ครูคนหนึ่งนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาถูกตำรวจจับกุม และตกเป็นข่าวหน้า 1 ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2490 ซึ่งพาดหัวว่า “ล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จับผู้วางพวงมาลาไว้อาลัย ๑๐ ธันวาคม” พร้อมพาดหัวรองอย่างขึงขังว่า “ครู ป.ป.1 ไปวางพวงหรีดอย่างองอาจ โค้งคำนับอนุสาวรีย์แล้วก็ถูกจับกุม” โดยลงรูปประกอบ ทั้งพวงมาลา ครูแก้ว พรหมสกุล และกลุ่มตำรวจที่มารอจับกุมผู้วางพวงมาลาอีกด้วย

การวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลายเป็นเหตุให้ถูกจับกุมได้ก็เพราะขณะนั้นคือช่วงเวลาราวหนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่เมื่อเราลองค้นดูข่าวตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 9 ธันวาคมของปีนั้น ก็จะพบว่ากำลังระอุไปด้วยเรื่องการจับกุมและตามล่าตัวบุคคลสำคัญทางการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น ดร.เดือน บุนนาค หัวหน้าพรรคสหชีพ, การค้นและเข้ายึดบ้านของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ซึ่งเป็นที่ทำการของพรรคสหชีพ, การจับกุมสุรีย์ ทองวานิช เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงไทย และตั้งข้อหาว่าร่วมกับ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ พิมพ์ใบปลิวต่อต้านรัฐประหาร, การคุมตัว ดร.วิจิตร ลุลิตานนท์ และค้นอาวุธในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช และนายแช่ม พรหมยง จุฬาราชมนตรี นั้น ก็มีรายงานว่าหลบหนีออกจากประเทศไทยไปถึงสิงคโปร์แล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้ฝ่ายคณะรัฐประหารยังได้ข่าวมาว่า จะมีสมาชิกสภาบังอาจนำมาวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม จึงมีการเตรียมที่จะนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารมาจับกุม แต่ปรากฏว่าได้มีมือมืดนำพวงมาลาไปวางไว้แล้วก่อนหน้าที่ตำรวจจะมาประจำการในเช้ามืดวันนั้น ข้อความบนพวงมาลาดังกล่าวมีว่า “ด้วยความอาลัยจากชาวไทย ชาตะ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ อวสาน ๘ พ.ย. ๒๔๙๐”

เมื่อถูกตัดหน้าอย่างอุกอาจเช่นนี้ เจ้าหน้าที่จึงยิ่งเพิ่มกำลังเป็นการใหญ่เพื่อมารอจับกุม ส.ส. ที่จะมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ครั้นรออยู่จนถึงช่วงสาย ก็ไม่ปรากฏว่ามี ส.ส.คนใด การณ์กลับกลายเป็นว่า “มีบุคคลผู้หนึ่งกะเร่อกะร่าเอาพวงมาลาทำด้วยดอกเฟื่องฟ้าและชงโคฝีมือไม่สู้ปราณีต์นักไปวาง เจ้าหน้าที่เห็นเข้าก็กรูเข้าไปจับกุมกันเปนการใหญ่”

บุคคลผู้นั้นคือครูแก้ว พรหมสกุล ผู้ให้ปากคำถึงเหตุผลในการไปวางพวงมาลาว่า “เพื่อประชาธิปตัยสมบูรณ์”2

ข่าวการจับกุมครูแก้ว พรหมสกุล ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น จึงกลายเป็นข่าวแปลกไปจากรายงานสถานการณ์การเมืองอันร้อนระอุในช่วงนั้น ด้วยสีสันของพฤติการณ์, คำให้การของครูแก้วเอง, วิธีการเขียนรายงานข่าว รวมถึงการที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนเองก็เรียกครูแก้วว่า “ฮีโร่” ทั้งหมดนี้ทำให้ชวนคิดไม่น้อยเกี่ยวกับความรับรู้และความคิดเรื่องประชาธิปไตยในเวลานั้น (รวมทั้งในเวลานี้?)

 ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไร้ธงประดับ ใน สยามนิกร ฉบับวันที่ 12 ธ.ค. 2490

แม้ว่าสุดท้ายแล้วอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปีนั้นจะไร้การประดับประดา ดังปรากฎภาพข้างต้นในหนังสือพิมพ์พร้อมคำบรยายว่า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ไม่ปรากฏว่ามีธงชาติประดับด้วยเลย” แต่การคว้ามีดขึ้นสนิมเล่มหนึ่งไปฟันกิ่งดอกไม้หลังบ้านมาริดใบทำพวงมาลาสีแดงไปตามประสา แล้วเดินดุ่มไปวางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยท่ามกลางกำลังตำรวจทหารมากมายในวันอากาศหนาววันหนึ่งวันนั้น ก็ควรค่าแก่การที่จะได้เล่าขานในความ “นึกสนุก” ครั้งนั้นของราษฎรคนหนึ่ง

คอลัมน์ Yesterday’s paper จึงคัดเนื้อความข่าวดังกล่าวจากหนังสือพิมพ์ สยามนิกร สองฉบับมาให้อ่าน พร้อมก้บขอถือโอกาสนี้แสดงความนับถือครูแก้ว พรหมสกุล รวมทั้งราษฎรทั้งหลายที่ยืนยันในหลักประชาธิปไตยสืบเนื่องมาจนถึงวันนี้ แม้ในวันที่มีแต่เพียงตัวเขาโดยลำพัง

 

รายงานข่าวใน สยามนิกร ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2490

หน้าแรกของ สยามนิกร ฉบับวันที่ 11 ธ.ค. 2490

ครู ป.ป. ไปวางพวงหรีดอย่างองอาจ
โค้งคำนับอนุสาวรีย์แล้วก็ถูกจับกุม
เช้าตรู่มีมือมืดไปวาง

ทหารและตำรวจเปนจำนวนมากได้พากันไป ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเช้าวานนี้ เพื่อจับกุมตัวอดีตสมาชิกสภาผู้แทนที่จะนำเอาพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์นั้น ทหารและตำรวจได้ไปคุมเชิงอยู่ตั้งแต่เช้าจนสาย แต่ก็ไม่ปรากฏตัวสมาชิกสภาผู้แทนเลยแม้คนเดียว

ทั้งนี้โดยที่ปรากฏข่าวล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จะมีสมาชิกสภากระทำการเช่นนั้น และเนื่องจากไม่ปรากฏบุคคลแน่ชัดว่าเปนผู้ใด จึงมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพากันไปสอบปากคำของสมาชิกหลายคนว่า ทราบหรือไม่ว่า สมาชิกผู้ใดจะนำพวงมาลาไปวาง

การสอบถามปากคำเจ้าหน้าที่ได้ไปถามสมาชิกหลายคนแต่ได้รับคำปฏิเสธว่า ในการนี้ไม่ได้ทราบเรื่องเลย เจ้าหน้าที่เมื่อไม่แน่ว่า ใครจะเปนต้นคิดในเรื่องนี้แน่ จึงพากันไปดักอยู่ที่อนุสาวรีย์เพื่อจับสมาชิกผู้วางพวงมาลา ได้รอคอยอยู่หลายชั่วโมง ก็ไม่สมาชิกผู้ใดไปเลย

อย่างไรก็ตาม ในตอนเช้าตรู่ของวันนั้น ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจะไปถึง ได้มีมือมืดไปวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ไว้เสียก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงพบแต่พวงมาลาที่มีข้อความต่างๆ ซึ่งไม่ทราบว่าเปนพวงมาลาของบุคคลใด เปนเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องขอกำลังมาเพิ่มเติมอีกและในตอนสายของวันนั้น การก็ได้ปรากฏว่า แทนที่จะมีสมาชิกสภาไปวางพวงมาลา กลับมีบุคคลผู้หนึ่งกะเร่อกะร่าเอาพวงมาลาทำด้วยดอกเฟื่องฟ้าและชงโคฝีมือไม่สู้ปราณีต์นักไปวาง เจ้าหน้าที่เห็นเข้าก็กรูเข้าไปจับกุมกันเปนการใหญ่

มาลาพวงแรกที่มือมืดนำไปวางในตอนเช้าตรู่ เปนมาลาเก่าๆ มีอักษรเขียนติดที่กระดาษไว้ตอนบนว่า “ด้วยความอาลัยจากชาวไทย” ในตอนกลางมีแพรดำคาด และเขียนด้วยตัวอักษรสีขาวขนาดใหญ่ว่า “ชาตะ ๑๐ ธ.ค. ๗๕ – อวสาน ๘ พ.ย.๙๐”  เจ้าหน้าที่ยึดพวงมาลานั้นแล้วส่งไปสถานีตำรวจนางเลิ้งเพื่อจัดส่งไปยังกองบัญชาการต่อไป

สำหรับการวางพวงมาลารายหลังนี้ การวางได้เริ่มเมื่อ ๑๐ น. ภาพที่เห็นกันทั่วไปก็คือ มีชาย ๒ คน คนหนึ่งในวัย ๒๕ ปี อีกคนหนึ่งเปนเด็กถือพวงมาลาตามหลัง ก่อนที่จะนำไปวางได้แวะร้านกาแฟร้านหนึ่งตรงมุมอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อน

คนข่าวของเราได้เข้าไปถามนามผู้นำพวงมาลามาวางก็ได้รับแจ้งว่า เขาชื่อนายแก้ว พรหมสกุล เปนครู ป.ป. การนำพวงมาลามาวางนั้นไม่มีความหมายเหมือนกับพวกอดีต ส.ส.จะกระทำกัน เขาชี้ให้คนข่าวของเขาดูความหมาย-ของเขาพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดใหญ่ความว่า “หลักประชาธิปไตย” และอักษรเขียนด้วยดินสอว่า “รำลึกสิบธันวาว่าประชาธิปไตยสมบุรณ์ เปนยอดปรารถนาทั่วสากล”

เมื่อได้เวลา ๑๐.๐๐ น. ตรงกับเวลาประกอบรัฐพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ นายแก้วก็นำพวงมาลาไปยืนทำการคารวะอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย โค้งคำนับ ๑ นาฑี ทหารตำรวจปล่อยให้คำนับแล้วพากันขึ้นไป พอนายแก้ววางพวงมาลาเสร็จเรียบร้อย นายสมชาย ศรีสมวงค์ ก็เข้าไปจับตัวนายแก้วทันที คนข่าวของเราได้พบนายสมชายว่าจับด้วยข้อหาอะไร ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ทราบ แต่ทางวังสวนกุหลาบสั่งว่าใครเอาพวงมาลามาวางก็ให้เชิญตัวไป นายแก้วจึงถูกเชิญตัวไปภายในความแวดล้อมของคนข่าวหนังสือพิมพ์ และตากล้องตลอดจนคนเดินถนนทั้งหลาย

รายงานข่าวใน สยามนิกร ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2490

หน้าแรกของ สยามนิกร ฉบับวันที่ 20 ธ.ค. 2490

เหตุผลนักวางพวงหรีด
ทหารถาม: ทำไมวางพวงหรีด
แก้ว: เพื่อประชาธิปตัยสมบูรณ์

นายแก้ว พรหมสกุล นักวางพวงหรีดอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย ๑๐ ธันวาคม ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวไปขัง ณ กลาโหมฐาน “ต่อต้าน” นั้น หลังจากที่ได้รับการสอบสวน ๑ ครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เปล่อยเปนอิสสระ ระหว่างที่อยู่ในกลาโหม แก้ว พรหมสกุล ได้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮีโร่” นายทหารพลาธิการในกลาโหมแทนที่จะเรียกชื่อ “แก้ว” กลับเรียกว่า “ฮีโร่” เพราะเหตุที่ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม มีนายแก้ว พรหมสกุล ไปวางพวงหรีดแต่ผู้เดียว ไม่มีผู้อื่นไปวางพวงหรีดดังที่มีข่าวเกรียวกราวล่วงหน้าไว้ก่อนเลย

การสอบสวนที่วังสวนกุหลาบ ได้กระทำ […] นายทหารชั้นพันโทเปนประธานพร้อมด้วยนายตำรวจชั้นร้อยเอก ๑ นาย สอบสวน ๒ ชั่วโมงตั้งแต่ ๑๐ น. ๑๒ น. เบิกตัวไปสอบสวนที่วังสวนกุหลาบ ซึ่งแก้ว พรหมสกุล กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบข้อหาอันใด ต่อเมื่อชะโงกเห็นข้อหาบนหน้ากระดาษมีคำว่า “ต่อต้าน” จึงได้รู้ว่าการวางพวงหรีดวันนั้นเปนการต่อต้าน

ผู้สอบสวนถามว่านายแก้วทราบรัฐประหารเมื่อใด แก้ว พรหมสกุล ตอบว่า รู้ในเช้าวันนั้นเวลา ๘ น. ที่ร้านกาแฟ ผู้สอบสวนถามความรู้สึกของแก้ว พรหมสกุล เกี่ยวกับรัฐประหารว่าเปนอย่างใด แก้ว พรหมสกุล อึกอักอยู่ชั่วครู่จึงตอบว่า “รู้สึกว่ากล้าหาญและรุนแรง”

ซักต่อไปว่า ที่ว่ารุนแรงนั้นหมายถึงอะไร หมายถึงนองเลือดใช่หรือไม่ แก้ว พรหมสกุล ตอบว่าไม่ใช่ หมายถึงกระทบกระเทือนจิตต์ใจประชาชน ผู้สอบสวนย้อนถามว่า คุณรู้จิตต์ใจประชาชนทั้งหมดได้เช่นนั้นหรือ แก้ว พรหมสกุล ตอบว่า รู้ไม่หมด แต่ฟังทางหนังสือพิมพ์

การสอบสวนเข้าสู่ประเด็นที่ว่า นายแก้ว พรหมสกุล พอใจรัฐประหารหรือไม่ นายแก้ว พรหมสกุล ตอบว่าเฉยๆ ผู้สอบสวนย้ำถามว่า ถ้าเช่นนั้นไม่พอใจใช่หรือไม่ นายแก้ว พรหมสกุล ตอบว่า รังเร เพราะไม่รู้จะเข้าข้างไหน

เมื่อผู้สอบสวนถามถึงความมุ่งหมายในการวางพวงมาลาว่า แก้ว พรหมสกุล กระทำเพื่ออะไร ก็ได้รับคำตอบว่า มุ่งหมายเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์ ถามต่อไปว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามความเข้าใจของนายแก้ว พรหมสกุล หมายถึงอะไร แก้ว พรหมสกุล ก็ตอบว่า คืออำนาจปวงชน ถามว่าทำไมจึงทำอย่างนี้ (วางพวงมาลา) ตอบว่า เพราะเคารพประชาธิปไตย

เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้สอบสวนถามว่าได้อ่านแล้วหรือยัง ตอบว่า อ่านแล้ว ถามว่าไม่พอใจบทไหนบ้าง ตอบว่ามีหลายบท เชน อายุ ๓๕ ปี 3 เปนต้น

การวางมาลาในวันที่ ๑๐ ธันวาคม อันเปนเหตุให้แก้ว พรหมสกุล ต้องถูกจับนั้น มีเหตุผลเนื่องมาจากข่าวเอิกเริกบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ว่า จะมีสมาชิกสภากลุ่มหนึ่งไปวางพวงมาลา แก้ว พรหมสกุล กล่าวว่า ข่าวหนังสือพิมพ์นั้น ได้อ่านวันที่ ๙4 ครั้นตื่นขึ้นเมื่อเวลาตี ๕ อากาศหนาวจัดลุกขึ้นมานั่งแล้วปลงไม่ตกว่า วันที่ ๑๐ นี้จะไปเที่ยวที่ไหนดีหนอ

ความหนาวของอากาศทำให้นึกถึงว่า จะมีการวางพวงหรีดกัน แก้ว พรหมสกุล นึกสนุกกับเขาบ้าง ไปดูเขาวางทั้งทีควรจะหาพวงมาลาติดไม้ติดมือไปด้วย แล้วแก้ว พรหมสกุล ก็ลุกขึ้นกุลีกุจอ หามีดขึ้นสนิมได้ด้ามหนึ่งก็ไปฟันกิ่งชงโคกับกิ่งเฟื่องฟ้าหลังบ้านกว่ามีดที่ขึ้นสนิมจะริดกิ่งชงโคออกดอกก็ร่วงเสียหมด แล้วเอาพันไม้โค้งเปนพวงมาลาโดยปัจจุบันทันด่วนนั้นเอง

แก้ว พรหมสกุลบอกว่าไม่เห็นด้วยกับบุคคลที่จะเอาพวงมาลาดำไปวาง “เขาเอาดำเราต้องเอาแดง” แก้ว พรหมสกุลกล่าว พร้อมกับให้เหตุผลว่า พวงหรีดดำหมายความว่าอำนาจตายแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ตาย เราต้องเล่นพวงหรีดแดง ทั้งๆ ที่พวงหรีดแดง แก้ว พรหมสกุลก็ถูกจับในที่สุด

ก่อนปล่อยตัวออกมา แก้ว พรหมสกุล ว่า กำลังนอนฝันอยู่ทีเดียว ทหารมาปลุกให้ปล่อยตัวก็ดีใจ

…..

เชิงอรรถ:

  1. ป.ป. ย่อมาจาก ประกาศนียบัตรประโยคครูประถม
  2. การสะกดคำในเนื้อหาข่าวที่คัดลอกมานี้คงตามต้นฉบับเดิมทั้งหมด กรณีข้อความที่อ่านไม่ได้ชัดเจน ได้ใส่เครื่องหมาย [ ] ไว้
  3. ในช่วงต้นเดือนธันวาคม มีข่าวการลงมติของกรรมาธิการในเรื่องอายุของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยลดจาก 35 ปี เป็น 25 ปี
  4. เกี่ยวกับคำให้การเรื่องนี้ เท่าที่สืบค้น สยามนิกร ฉบับวันที่ 9 ธ.ค. 2490 แล้ว ไม่พบข่าวที่ครูแก้วเอ่ยถึงว่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มหนึ่งนัดหมายกันไปวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันรัฐธรรมนูญ แต่เข้าใจว่าคงมีปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น

หมายเหตุ
หนังสือพิมพ์ทั้งหมดถ่ายจากต้นฉบับซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ภาพถ่ายโดยโครงการ อ่านกรุ/Aan Archives สำนักพิมพ์อ่าน