เทศกาลกวีไร้ชีพ

prakai-cover2PrakaiCover

เทศกาลกวีไร้ชีพ

รวมบทกวีโดย ประกาย ปรัชญา

พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2556

96 หน้า ราคา 100 บาท

คำนำจากผู้เขียน

เทศกาลกวีไร้ชีพ / ประกาย ปรัชญา

ลือกันว่าคือทางแยกสู่ดินแดนโดดเดี่ยว

เพียงยื่นเท้าสัมผัสจะมีสภาพราวถูกปล่อยเกาะ

เสียงวางอำนาจจากปีศาจสาธารณ์

เตือนว่าอย่าใกล้กราย เตือนว่าอย่าก้าวไป

ครั้งยังเป็นหนุ่มน้อย ข้าพเจ้ามักได้ฟัง “เคล็ดลับ” แห่งการไต่เต้า – แสวงความก้าวหน้าในแวดวงวรรณกรรมจากปากของรุ่นพี่และคนรุ่นเดียวกัน…

จงเข้าหาและสร้างสัมพันธ์อันดีกับบรรณาธิการหรือผู้พิจารณาบทกวีตามนิตยสารต่างๆ เพื่อว่าความคุ้นเคยอันเป็นพิเศษนั้นจะเอื้อประโยชน์ต่อปลายทางบทกวีแต่ละชิ้นของคุณ, ทำความรู้จักกับผู้คนในแวดวงให้มากที่สุด, นำเสนอตัวเองด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมของแวดวงให้บ่อยที่สุด

เข้าพบและนบนอบต่อผู้ใหญ่ในวงการอย่างคนที่เชื่อมั่นในวิถีทางฝากเนื้อฝากตัว ให้ท่านพาไปเลี้ยงเหล้ามื้อใหญ่

ติดสอยห้อยตามท่านไป น้อมรับคำสั่งสอนด้วยความปลาบปลื้ม

คุณต้องฝึกตนให้เป็น “นักประนีประนอม” ในบางสถานการณ์ของแวดวงวรรณกรรมที่โดยแท้จริงแล้วคุณจำเป็นต้อง “เลือกฝ่าย”

…คือบางวิธีการท่ามกลางความหลากหลายของเคล็ดลับ

ในฐานะผู้มาใหม่ ข้าพเจ้าฉงนใจ… เหตุใด “สำนึกอันฟอนเฟะ” เหล่านี้ ล้วนถูกสำรอกออกจากปากนักเขียน – กวีฝ่ายสร้างสรรค์ทั้งสิ้น

ยุคสมัยหนึ่ง นักเขียน – กวีนิยมเดินทางไปค้อมคารวะผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งมักมีอาณาจักรของตัวเองในที่ต่างๆ ข้าพเจ้าถูกชวนไปในการนี้นับครั้งไม่ถ้วน

ทุกสถานที่ ข้าพเจ้าล้วนเคยสัญจรผ่าน “ประตู” ด้านหน้า เคยลัดเลาะเฉียด “รั้ว” ด้านข้าง และทราบว่า ในสถานที่เหล่านั้น กำลังมีคนเขียนหนังสือเข้าไปเยี่ยมเยือน พักพิง หรือถึงขั้น “ชุมนุม”

จวบจนบัดนี้ ข้าพเจ้าไม่เคย “เข้าไป” แม้แต่ที่หนึ่ง แม้สักครั้งเดียว

ผู้ยิ่งใหญ่บางคน รอคอยผู้น้อยเข้าแสดงความเคารพ – สวามิภักดิ์ ก่อนประทานเมตตาตอบแทนเป็นชุดคำยกยออันเหลวไหลเกินเลย ส่วนผู้น้อยที่ไม่เข้าหาผู้ยิ่งใหญ่ก็ปราศจากสายตาจะเหลือบแลเห็น ทั้งต่อตัวตนและผลงาน

สำหรับข้าพเจ้า นั่นหาใช่ความ “เคารพ” ที่แท้ เป็นแต่การกำเงินเข้าไปซื้อยาหลอนจิตชนิดหนึ่ง, เป็นเพียงพวงมาลัยนำไปคล้อง เพื่อจะได้สิ่งซึ่งนึกละโมบจาก “ผี” ตนนั้น

นั่นหาใช่ความ “เมตตา” ที่แท้ เป็นแต่พิธี “เจิม” เพื่อขับเน้นสถานะอันสูงกว่าของตน เพื่อตอบแทนการแสดงอาการซูฮกอันนำมาซึ่งความอิ่มเอิบใจไปอีกวัน

กิจกรรมตวัดลิ้นเลียเพื่อประจบประแจงนั้น มีผู้สมัครเข้าแข่งขันจำนวนมาก

คอกอันมีเนื้อที่จำกัดของระบบอุปถัมภ์ก็เช่นกัน คลั่กคั่งด้วยผู้คน จนส่วนหนึ่งล้นทะลักออกมา

กระทั่งวันนี้ วันที่ข้าพเจ้าเขียนบทกวีมา 34 – 35 ปี รูปธรรมและปรากฏการณ์ภายนอกของแวดวงวรรณกรรมเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย ทว่า นามธรรมและจิตสำนึกภายในอันเป็นแก่นแกนเดิม มีใครพบสัญญาณการ

เปลี่ยนแปลง ?

ข้าพเจ้ามิได้ไต่เต้า และไม่ทราบว่าตัวเอง “ก้าวไปข้างหน้า” ในแวดวงวรรณกรรมหรือไม่ อย่างไร

ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเลือก “ก้าวไปข้างนอก” – ก้าวออกไป

บนทางแยกสู่ดินแดนโดดเดี่ยว ข้าพเจ้าตระหนักชัดถึงการถูกปล่อยเกาะด้วยน้ำมือของปีศาจสาธารณ์

หลังถูกลงทัณฑ์ให้เป็นอิสระ… ข้าพเจ้าออกแสวงหาความเสมอภาคเท่าเทียม การให้เกียรติที่แท้ ความเคารพที่แท้ และความเมตตากรุณาที่แท้

โชคดีที่ข้าพเจ้าทยอยพบสิ่งเหล่านั้นในดินแดนโดดเดี่ยว, บนท้องถนนซึ่งคนอยู่ต่ำสุดในแผ่นดินถูกฆ่าฟันด้วยเหตุแห่งข้อเรียกร้องอันเล็กน้อย

ข้าพเจ้าพบในหลายกระแสใจ… ผ่านมือปิยมิตรที่ยื่นมาแตะไหล่อย่างแผ่วเบา บอกให้รู้ว่าเธอและเขาก็ก้าวเดินอยู่ใกล้ๆ นี้ ข้าพเจ้าแตะไหล่ตอบ…

เขาจุดรอยยิ้มขึ้น ขณะยิ้มกระจ่างของเธอคงเพื่อยินดียอมรับความมืดมนทุรกันดารของการรอนแรม

สีสันหม่นราง, ฉันหันสบตา

รู้กันว่าเราจะเคียงบ่าจนสุดเส้นทาง

เย้ากันว่าปล่อยเกาะคำขู่ประดามีตั้งแต่เมื่อไร

ปีศาจถูกทิ้งเป็นสิ่งชวนหัวเราะหัวใคร่

ไว้เบื้องหลัง

ประกาย ปรัชญา

สำนักเขียน, ทะเลตะวันออก

มกราคม 2556