กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 2 (พ.ศ. 2491-2493)
โดย นายผี
วิมล พลจันทร บรรณาธิการ
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557
ราคา 350 บาท
หมายเหตุการจัดพิมพ์ / เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์
กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เป็นหนังสือชุดหนึ่งใน “โครงการอ่านนายผี” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี พลจันทร ให้จัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเริ่มต้นในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ ยึดตามต้นร่างซึ่งคุณวิมล พลจันทร ภรรยาของคุณอัศนี และบรรณาธิการของหนังสือชุดนี้ ได้ชำระต้นฉบับไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งเตรียมจัดพิมพ์ในวาระครบอายุ 85 ปี “นายผี” พ.ศ. 2546
เอกสารต้นร่างดังกล่าวรวบรวมกาพย์กลอนมากกว่า 300 เรื่องและจัดเรียงลำดับตามการตีพิมพ์ครั้งแรกไว้ดังนี้ 1) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2484-2489 ผนวก 2490 2) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2491 3) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2492 4) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2493 5) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2494 6) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2495 และ 7) กาพย์กลอนวิพากษ์
วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2501-2502
คุณวิมลรวบรวมกาพย์กลอนเหล่านี้และชำระต้นฉบับทั้งหมด รวมทั้งได้สอบทานกับต้นฉบับลายมือของคุณอัศนีเท่าที่มีหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งกาพย์กลอนและส่วนไขคำ/สถานการณ์ท้ายกาพย์กลอน นอกจากนั้นคุณวิมลยังได้เขียนสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขปเพื่อเกริ่นนำกาพย์กลอนแต่ละหมวด และเขียนไขสถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนแต่ละเรื่องเพิ่มเติม (แต่ไม่ครบทั้งหมด) เพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างต้นฉบับเดิมของคุณอัศนีที่ได้สูญหายไปในราว พ.ศ. 2495 ด้วย* เรื่องต้นฉบับสูญหายไปนี้ ยังความเสียใจเป็นอย่างยิ่งให้แก่คุณวิมล แต่ในภายหลังกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้คุณวิมลทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อรวบรวมต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีให้ครบถ้วน แม้ว่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวจะไม่เอื้ออำนวย และคุณวิมลประสบอุบัติเหตุตกจากรถเมล์ถึงสองครั้งในระหว่างเดินทางไปหอสมุดแห่งชาติ
คุณวิมลมาลีเล่าถึงการทำงานของคุณวิมลในระหว่างการรวบรวมและชำระต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีว่า “เราไม่มีรถ เราไม่มีเงิน นั่งๆทำกันไป พอไม่รู้อะไรก็ไปห้องสมุด นั่งรถเมล์ไป”**
สถานที่ทำงานของคุณวิมลคือนอกชานบ้านหลังน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนของคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาของคุณจำกัด พลางกูร ผู้เป็นมิตรสนิทของคุณอัศนี ส่วนคุณวิมลมาลีก็ได้ช่วยงานสอนเด็กเล็กอยู่ด้วย ปัจจุบันกิจการโรงเรียนเลิกไปแล้ว แต่คุณฉลบชลัยย์ได้ยกบ้านหลังนี้ให้แก่คุณวิมลมาลีกับครอบครัว บ้านน้อยหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านเดือนเพ็ญ”
อย่างไรก็ดี การทำงานของคุณวิมลก็ยังไม่สำเร็จลุล่วงเนื่องจากคุณวิมลได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ในวัย 81 ปี
…
แม้ว่าต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีร่างแรกจะสูญหายไป และในช่วงกบฏสันติภาพ (10 พ.ย. 2495) คุณอัศนีต้องหลบหนีการจับกุมและหยุดเขียนงานลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆไปนานถึงห้าปี แต่กาพย์กลอนนายผีก็ได้มีการจัดพิมพ์ในภายหลังในลักษณะคัดสรรอยู่เป็นครั้งคราว เช่นเมื่อ พ.ศ.2500 คุณอัศนีได้ติดต่อให้คุณอารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา นำกาพย์กลอน 30 เรื่องซึ่งเคยตีพิมพ์ในสยามสมัย (รายสัปดาห์) ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือพร้อมกับต้นฉบับงานอีกสองเรื่อง โดยมีคุณอุดม สีสุวรรณ เป็นผู้นัดหมายให้พบกันที่บ้านของคุณอัศนีย่านพระโขนง:
คุณอัศนีได้ส่งแฟ้มแข็งสองแฟ้มซึ่งเป็นต้นฉบับงานของท่าน รวมทั้งหมดมี 4 เรื่อง คือ กาพย์กลอนนายผีชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เล่มที่ 3 คือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดยใช้นามปากกา “ศรีอินทรายุธ” เล่มที่ 4 เป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาสันสกฤตชื่อ ภควัทคีตา งานประพันธ์ของท่านที่มอบให้ผมจัดพิมพ์ วางตลาดได้เพียง 3 เล่มเท่านั้น เล่มที่ 4 ไม่ได้จัดพิมพ์ เพราะผมถูกศาลทหารในขณะนั้นตัดสินจำคุก 6 ปี (อารีย์ พื้นนาค, “เสี้ยวหนึ่งแห่งกาลเวลา”, ชีวิตและผลงาน: ตำนาน ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (2461-2530), กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่”, 2541, น. 223.)
กาพย์กลอนนายผี ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกนี้ สำนักพิมพ์อ่านสืบค้นไม่พบจากหอสมุดต่างๆ ในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2555 คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ได้เดินทางไปร่วมสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา จึงพบหนังสือดังกล่าว และช่วยทำสำเนานำกลับมาเพื่อเป็นเอกสารประกอบการชำระต้นฉบับผลงานของคุณอัศนีอีกทางหนึ่ง ทว่า กาพย์กลอนนายผี ฉบับ พ.ศ. 2501 มีเพียงเล่มเดียว ไม่ใช่หนังสือชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ตามคำบอกเล่าข้างต้น สำนักพิมพ์อ่านได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังสำนักพิมพ์อักษรวัฒนาในภายหลัง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คุณอารีย์เสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม
หลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกแล้ว ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นระยะที่เกิดกระแสการกลับไปอ่านผลงานของนักคิดนักเขียนในช่วงรอยต่อกึ่งพุทธกาล เช่น เปลื้อง วรรณศรี, ทวีป วรดิลก, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ ผลงานกาพย์กลอนของนายผีก็มีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่เช่นกัน โดยมีทั้งแบบคัดสรรชิ้นงานอย่างเช่น กวีประชาชน (กลุ่มวรรณกรรมธรรมศาสตร์, 2517) นำบทกวีของนักเขียน 30 คนในช่วง พ.ศ. 2493-2510 มารวมตีพิมพ์ โดยมีกาพย์กลอนของนายผีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน หรือในกาพย์กลอนขนาดยาว เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า ของนายผีเอง สำนักพิมพ์เยาวชน (2522) ก็นำกาพย์กลอนนายผี 15 เรื่องมารวมพิมพ์ด้วย โดยแยกไว้เป็นหมวด “อหังการของกวี” เป็นต้น
การจัดพิมพ์กาพย์กลอนนายผีครั้งสำคัญน่าจะได้แก่ รำลึกถึงนายผีจากป้าลม (ดอกหญ้า, 2533) เนื่องในวาระอายุครบ 72 ปีของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งคุณวิมล พลจันทร หรือป้าลม ได้นำกาพย์กลอนนายผีจำนวน 27 เรื่อง ที่เคตีพิมพ์ใน สยามนิกร (รายวัน) และ สยามสมัย (รายสัปดาห์) ในระยะ พ.ศ. 2489-2491 มาพิมพ์รวมเล่ม โดยกาพย์กลอนเหล่านี้ (26 เรื่อง) มีไขคำ/สถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนซึ่ง “นายผี” เป็นผู้เขียนไว้เองเนื่องจาก:
เป็นความตั้งใจของคุณอัศนีที่จะตอบคำถามของท่านผู้อ่านที่ถามมา และได้รวบรวมไว้แต่ปี พ.ศ. 2490 ถึงปี พ.ศ. 2495 และต้นฉบับได้สูญหายไป พ.ศ. 2527 ข้าเจ้าได้พบกาพย์ โคลง กลอน เมื่อคลี่ออกมาดูปรากฏว่ากระดาษนั้นกรอบและขาดเปื่อยไปมากแล้ว ส่วนที่นำมาปะติดปะต่อได้มีจำนวนเพียงเล็กน้อย (วิมล พลจันทร, “จากใจของผู้รวบรวม”, รำลึกถึงนายผีจากป้าลม, น. 6)
นอกจากนั้นคุณวิมลยังเขียนบทความ “ความงามของชีวิต” บอกเล่าถึงชีวิตส่วนตัวของคุณอัศนีเป็นครั้งแรก และนำกาพย์กลอนของคุณอัศนี “ที่เขียนขึ้นในขณะที่ประสบสถานการณ์ในเขตต่างๆ” มารวมไว้ด้วย ต่อมาในปลายปี 2533 หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ซ้ำในชื่อ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม โดยสำนักพิมพ์ทะเลหญ้าได้เพิ่มกาพย์กลอนกับไขคำ/สถานการณ์ที่ตกหล่นอีก 6 เรื่อง รวมเป็น 33 เรื่อง
ภายหลังการเชิญอัฐิคุณอัศนี พลจันทร กลับสู่ประเทศไทย และการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่” ในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2540 ในปีถัดมาคณะกรรมการจัดงานดังกล่าวได้จัดพิมพ์ ชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461-2530) รวบรวมบทความและข้อเขียนเพื่อรำลึกถึงคุณอัศนีจากผู้คนในหลากหลายแวดวง สำนักพิมพ์สามัญชนก็ได้รวบรวมผลงานทั้งหมดของคุณอัศนีจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด 3 เล่ม ในชื่อ รวมบทความ, รวมบทกวีและรวมเรื่องสั้น: “นายผี” อัศนี พลจันทร
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้ขอคำปรึกษาจากคุณวิมลมาลีและสืบค้นต้นฉบับที่ยังขาดเพิ่มเติม*** และได้ตรวจสอบกับต้นฉบับลายมือคุณอัศนีที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งฉบับพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สืบค้นได้ และจัดทำเชิงอรรถเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น โดยรักษาโครงสร้างงานไว้ตามต้นร่างที่รับมอบมา
กาพย์กลอนที่รวบรวมรายชื่อได้ล่าสุดมีจำนวน 338 เรื่อง**** ครอบคลุมผลงานที่เผยแพร่ระหว่าง พ.ศ. 2484-2502 ในสิ่งพิมพ์รายคาบหลายฉบับ ได้แก่ เอกชน (รายสัปดาห์), นิกรวันอาทิจ, สยามนิกร (รายวัน), สยามสมัย (รายสัปดาห์), อักษรสาส์น (รายเดือน), มหาชน (รายสัปดาห์) และ ปิยมิตรวันจันทร์ กาพย์กลอนเกือบทั้งหมดผู้เขียนใช้นามปากกา “นายผี” แต่มี 6 เรื่องใช้นามปากกา “อ.ส.” และอีก 1 เรื่องระบุว่า “อ.ส. และนายผีช่วยกันแต่ง”
กาพย์กลอนในแต่ละหมวดขึ้นต้นด้วยสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขป คุณวิมลเขียนเรียบเรียงข้อมูลส่วนนี้เพื่อนำเสนอภาพรวมเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ “นายผี” เขียนกาพย์กลอน โดยได้อาศัยข้อมูลจากปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อ พ.ศ. 2526
ต่อจากสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขป เป็นกาพย์กลอนนายผีซึ่งเรียงไปตามลำดับเวลาการตีพิมพ์ครั้งแรก โดยมีไขคำ /สถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนเป็นเรื่องๆไป ทั้งนี้กาพย์กลอนที่ “นายผี” เขียนไขคำ /สถานการณ์ไว้เองมีเพียง 32 เรื่อง***** ไขสถานการณ์ที่เหลือนอกจากนี้คุณวิมลเป็นผู้เขียนเรียบเรียงด้วยตนเองจากความทรงจำ และจากการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยอาศัยข้อมูลส่วนใหญ่จากปริญญานิพนธ์ของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ดังกล่าวข้างต้น การจัดพิมพ์ในครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านจึงได้ระบุการอ้างอิงกำกับไว้ท้ายข้อความเพื่อแยกแยะให้ชัดเจน และเพื่อให้ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติมโดยสะดวก
ทั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านขอชี้แจงเกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือและการชำระต้นฉบับในรายละเอียดเพิ่มเติม:
(ก) ต้นฉบับในการจัดพิมพ์ สำนักพิมพ์อ่านใช้ต้นร่างที่ได้รับมอบจากคุณวิมลมาลีในการจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม แต่เนื่องจากงานทั้งหมดครอบคลุมกาพย์กลอนถึง 338 เรื่อง จึงแบ่งหมวดหมู่เพื่อจัดพิมพ์เป็น 3 เล่ม ดังนี้
1. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 1 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 100 เรื่องที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2484 – 2490 ดังนี้
– หนังสือพิมพ์เอกชน (รายสัปดาห์) เดือนมกราคม2484 – มิถุนายน 2484 จำนวน 24 เรื่อง
– คอลัมน์ “อุทยานวรรณคดี” ในหนังสือพิมพ์นิกรวันอาทิจ เดือนกุมภาพันธ์ 2486 – กรกฎาคม 2487 จำนวน 4 เรื่อง และกาพย์กลอน 2 เรื่องที่ไม่พบข้อมูลการตีพิมพ์ครั้งแรก แต่เมื่อพิจารณาจากอักขรวิธีที่ใช้ พอจะอนุมานได้ว่าเป็นผลงานในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีสะกดคำในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงนำมารวมพิมพ์ไว้ในกลุ่มนี้
– คอลัมน์ “วรรณมาลา” ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (รายวัน) เดือนกรกฎาคม 2489 – พฤษภาคม 2490 จำนวน 43 เรื่อง
– คอลัมน์ “อักษราวลี” ในหนังสือพิมพ์สยามสมัย (รายสัปดาห์) เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2490 จำนวน 27 เรื่อง
2. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 2 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 179 เรื่องที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2491 – 2495 ดังนี้
– คอลัมน์ “อักษราวลี” ใน สยามสมัย (รายสัปดาห์) เดือนมกราคม 2491 – สิงหาคม 2495 จำนวน 166 เรื่อง
– คอลัมน์ “ปุษกริณี” ใน อักษรสาส์น (รายเดือน) เดือนเมษายน 2492 – กรกฎาคม 2493 จำนวน 13 เรื่อง
3. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 3 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 49 เรื่อง ที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2501 – 2502 ดังนี้
– คอลัมน์ “นายผีเขียน ‘อักษราวลี’” ในหนังสือพิมพ์ปิยมิตรวันจันทร์ พ.ศ. 2501 – 2502 จำนวน 40 เรื่อง
– หนังสือพิมพ์สยามนิกร พ.ศ. 2501 จำนวน 9 เรื่อง
ทั้งนี้กาพย์กลอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวและกาพย์กลอนที่เขียนภายหลังจากปี 2502 ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่คุณวิมลเตรียมต้นฉบับไว้ จึงขอแยกไปไว้ในหนังสือ ความงามของชีวิต โดย วิมล พลจันทร ซึ่งจะจัดพิมพ์ต่อไป
(ข) การชำระต้นฉบับ สำนักพิมพ์อ่านชำระต้นฉบับตามที่คุณวิมลรวบรวมและจัดทำต้นร่างไว้ แต่เราได้สอบทานต้นร่างซ้ำโดยเปรียบเทียบกับผลงานกาพย์กลอนของนายผีทั้งที่เป็นต้นฉบับลายมือ เอกสารอัดสำเนาและไมโครฟิล์มจากสิ่งพิมพ์ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่จะสืบค้นได้ รวมทั้งผลงานบางส่วนที่เคยจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือก่อนหน้านี้ อาทิ กาพย์กลอนนายผี, รำลึกถึงนายผีจากป้าลม และ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม รวมทั้งปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของคุณสุจิราคุปตารักษ์
(ค) การอ้างอิงข้อมูลการตีพิมพ์ ระบุตามที่คุณวิมลได้รวบรวมไว้ในชั้นต้น แต่เราได้ตรวจสอบและเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับวันเดือนปีที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สามารถทำได้เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าต่อไป ทั้งนี้จะเห็นว่ารายละเอียดการอ้างอิงอาจดูลักลั่นกันอยู่ กล่าวคือ บางรายการระบุข้อมูลการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยละเอียด ทั้งชื่อสิ่งพิมพ์วันเดือนปีและเลขหน้า แต่บางรายการมีข้อมูลเพียงบางส่วน เนื่องจากในการสืบค้นเอกสารชั้นต้นในหอสมุดต่างๆ พบว่าบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและการดูแลรักษา และบางส่วนสูญหายไปหรือไม่ได้เก็บรวบรวมอยู่ในรายการจัดเก็บ เช่น เราพบต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีในหนังสือพิมพ์ เอกชน ทั้งหมด ซึ่งมีจัดเก็บในรูปไมโครฟิล์มในหอสมุดแห่งชาติ แต่เนื่องจากเป็นเอกสารเก่าที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2484 จึงอ่านไม่ได้ชัดเจนครบถ้วน ส่วนกาพย์กลอนที่ตีพิมพ์ใน สยามนิกร เราตรวจสอบจากเอกสารอัดสำเนาเท่าที่คุณวิมลรวบรวมไว้ก่อนหน้านี้แล้วส่วนหนึ่ง และสอบทานกับปริญญานิพนธ์ “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของสุจิรา คุปตารักษ์ แต่ไม่สามารถจะสอบทานกับต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกได้เนื่องจากไมโครฟิล์มของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชำรุดเสียหายแล้ว เป็นต้น
ในส่วนสรุปสถานการณ์การเมืองสยาม รวมทั้งไขคำ/สถานการณ์ที่อยู่ท้ายกาพย์กลอนแต่ละเรื่อง สำนักพิมพ์อ่านได้จัดทำอ้างอิงเพิ่มเติมไว้ท้ายข้อความ เช่น [สุจิรา, น.xxx] หมายถึงข้อมูลที่มาจาก “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ส่วนไขคำ /สถานการณ์ที่คุณวิมลเขียนเองจะมีวงเล็บ [วิมล พลจันทร] อยู่ท้ายข้อความ ไขคำ /สถานการณ์ที่ไม่มีวงเล็บระบุเป็นอย่างอื่น “นายผี” เป็นผู้เขียน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากต้นฉบับลายมือของนายผีเป็นเอกสารเก่าและมีบางส่วนชำรุดแล้ว จึงได้ทำเครื่องหมาย […] แสดงข้อความที่ไม่สามารถอ่านได้ไว้ด้วย
4. การใช้ภาษา การจัดพิมพ์ครั้งนี้คงการสะกดคำต่างๆ ไว้ตามต้นร่างเอกสารซึ่งได้พยายามสอบทานให้ตรงกับต้นฉบับลายมือและต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเพื่อรักษารูปแบบการใช้ภาษาของยุคสมัยไว้ตามหลักเกณฑ์ของบรรณาธิการผู้จัดทำต้นร่าง
นอกจากนั้น ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้เรายังได้พยายามรักษาโครงสร้างวรรคตอนของกาพย์กลอนไว้ตามต้นฉบับการตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สืบค้นมาได้ แต่เนื่องจากกาพย์กลอนทั้งหมดตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์ต่างฉบับกัน และในช่วงเวลายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2502 โครงสร้างวรรคตอนในต้นฉบับจึงแตกต่างกันไป ไม่มีแบบแผนเด็ดขาด การจัดพิมพ์ในครั้งนี้จึงพิจารณาเรื่องนี้ประกอบกับรูปแบบการจัดหน้าหนังสือตามความเหมาะสมด้วย
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้รับน้ำใจและความช่วยเหลืออย่างดีจากคุณชลิดา ทาเจริญศักดิ์, คุณขวัญฤทัย ชิ้นมาลัย, คุณสมิทธ์ ถนอมศาสนะ, คุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ, คุณธิกานต์ ศรีนารา, คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว, คุณจิรวัฒน์ แสงทอง, คุณอับดุลรอยะ ปาแนมาแล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณสุจิรา คุปตารักษ์ ผู้เขียนปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำคัญ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
เอกสารต้นร่าง กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคุณวิมลมาลี พลจันทร ซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมอบต้นร่างทั้งหมดพร้อมกับเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณอัศนีให้แก่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเก็บรักษาและเผยแพร่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนต่อไป
สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณคุณวิมลมาลี พลจันทร อย่างยิ่งที่ให้โอกาสเราได้แสดงความขอบคุณและคารวะต่อคุณอัศนีและคุณวิมล พลจันทร ผู้มีส่วนนำทางให้คนรุ่นหลังได้แสวงหา “ความคิดก้าวหน้า” ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ความบกพร่องใดๆ ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์อ่าน