รวมผลงานของ นพพร ประชากุล
จัดพิมพ์ร่วมกันโดยสำนักพิมพ์อ่านและสำนักพิมพ์วิภาษา
เพื่อรำลึกถึงการจากไปของนักวิชาการคนสำคัญแห่งวงวรรณกรรมวิจารณ์ของไทย
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552
จัดพิมพ์เป็นชุด 2 เล่มคือ
ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1 ว่าด้วยวรรณกรรม (428 หน้า/ราคา 300 บาท/สมาชิก 240 บาท)
ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 ว่าด้วยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (624 หน้า/ราคา 450 บาท/สมาชิก 360)
(พิเศษทั้งชุดใส่กล่องเพื่อเป็นที่ระลึก ราคาสมาชิก 650 บาท)
คำนำในการจัดพิมพ์
หนังสือชุด ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1 และ 2 เป็นการรวบรวมผลงานของรองศาสตราจารย์นพพร ประชากุล แห่งภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงการทุ่มเทให้กับงานวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อแสดงความอาลัยต่อการจากไปของอาจารย์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2550 โดยมีสำนักพิมพ์วิภาษาและสำนักพิมพ์อ่าน ร่วมกันดำเนินการจัดพิมพ์ รายได้ส่วนหนึ่งของการจัดจำหน่าย จะนำมาสมทบ “กองทุนนพพร ประชากุล” เพื่อสานต่อความฝันของอาจารย์ด้านการแปลและการวิจารณ์วรรณกรรม
หนังสือเล่มแรก หรือ ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1 เป็นรวมผลงานด้านภาษาและวรรณกรรมอันหลากหลาย ทั้งแนวคิดทฤษฎีด้านวรรณกรรมศึกษา บทวิจารณ์วรรณกรรมไทยและเทศ ตลอดจนมุมมองที่แหลมคมต่อวงวรรณกรรมไทย นอกเหนือจากงานเขียนตามขนบทางวิชาการโดยเคร่งครัดแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมี “วรรณกรรมวิจารณ์แนวสตรีนิยม” ซึ่งอาจารย์ทดลองนำเสนอสาระดังกล่าวผ่านรูปแบบของเรื่องสั้นได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สำหรับความเป็นมาของ ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1 นั้น อาจารย์ตั้งใจจะรวมผลงานเกี่ยวกับวรรณกรรมให้สำนักพิมพ์วิภาษาจัดพิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่ต้น อาจารย์พยายามปรับแก้ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้เรื่อยมา จึงกล่าวได้ว่านี่คือผลงานชิ้นสุดท้ายที่อาจารย์ฝากไว้ให้กับวงวิชาการไทย
หนังสือเล่มที่สอง หรือ ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 เป็นผลงานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่คณะผู้จัดพิมพ์รวบรวมขึ้นมา ทั้งที่เคยปรากฏในลักษณะของบทความ บทสัมภาษณ์ คำบรรยาย และคำนำเสนอ ทั้งหมดประกอบไปด้วยทฤษฎีร่วมสมัยอย่างสตรีนิยม หลังอาณานิคม นวประวัติศาสตร์ โพสต์โมเดิร์น หรือวัฒนธรรมศึกษา ตลอดจนผลงานของนักคิดคนสำคัญ เช่น ทอมัส ฮอบส์ คาร์ล มาร์กซ์ โรล็องด์ บาร์ตส์ และมิแช็ล ฟูโกต์ ทั้งนี้ ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 เป็นผลมาจากการตื่นตัวอยู่เสมอต่อการเรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ และความสามารถของอาจารย์ในการถ่ายทอดมันออกมาผ่าน “ภาษาพูดและภาษาเขียน” ที่กระชับ ชัดเจน และมีชีวิตชีวา
ท้ายที่สุด คุณความดีทั้งหลายของหนังสือทั้งสองเล่มเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของอาจารย์นพพร ประชากุล ผู้อุทิศชีวิตให้กับงานวิชาการตราบจนลมหายใจสุดท้าย
คณะผู้จัดพิมพ์