คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – วิจารณ์ “อีศานล่ม” และ “โอ้…อีศาน”

งานวิจารณ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการประกวดข้อเขียน “เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 2 จากชิ้นงานชวนอ่าน “อีศานล่ม” และ “โอ้…อีศาน” มีความน่าสนใจร่วมกันอยู่ในแง่ที่ผู้วิจารณ์ได้พยายามจะนำกรอบทฤษฎีและมุมมองใหม่ๆ มาอ่านและตีความกาพย์กลอนของนายผีที่แตกต่างจากความหมายตั้งต้นในตัวบทและผิดแผกไปจากความตั้งใจเบื้องต้นของผู้ประพันธ์ อันเป็นสปิริตที่น่ายกย่องและเป็นมาตรฐานใหม่ในการวิจารณ์วรรณกรรมที่ควรจะสนับสนุนอย่างยิ่ง

ดังนั้นในการพิจารณาให้รางวัลในครั้งนี้ แม้คณะกรรมการจะยืนยันว่าความถูกต้องแม่นยำในการเข้าใจตัวบทที่วิจารณ์นั้นเป็นฐานของงานวิจารณ์ แต่ความถูกต้องแม่นยำดังกล่าวก็มิใช่ประเด็นชี้ขาดการตัดสินแต่ถ่ายเดียว เพราะเราเห็นว่าความสมเหตุสมผล ความหนักแน่น ความแจ่มชัด และความสดใหม่ของข้อเสนอที่ปรากฏในบทวิจารณ์ที่ผ่านการพิจารณาทั้ง 3 เรื่องนี้ มีน้ำหนักเพียงพอและอยู่ในระดับที่ชวนให้ครุ่นคิดและร่วมถกเถียงด้วยได้อย่างน่าชื่นชม

และเป็นไปได้ว่าหากมีการวิจารณ์กาพย์กลอนของนายผีในทางลบ หรือตั้งสมมุติฐานหักล้างนายผีในกาลข้างหน้า ก็จะยิ่งเป็นเรื่องน่ายินดีด้วย

ผลการตัดสินบทวิจารณ์ประเภทร้อยกรอง

ไม่มีผู้ได้รับรางวัล

ผลการตัดสินบทวิจารณ์ประเภทร้อยแก้ว

ผู้ชนะเลิศได้แก่ วิมล โคตรทุมมี

ตั้งแต่อีสานล่มจนถึงทางออกของอีสาน : อ่านบทกวี “อีศาน” ของนายผี

บทวิจารณ์ชิ้นนี้มีจุดเด่นในแง่การตีความกาพย์กลอนของนายผีที่พุ่งไปยังประเด็นใจกลางอย่างมีทิศทาง ประเด็นใจกลางที่ว่านี้ได้แก่ ทำไมอีสานจึงล่ม? ใครทำให้อีสานล่ม? อะไรคือทางออกของอีสาน? ผู้วิจารณ์นำเสนอประเด็นออกมาอย่างแจ่มชัดด้วยการยกบทบาทของ เตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานมาเป็นตัวเปรียบเทียบและเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมการเมือง

นอกจากนี้ ผู้วิจารณ์ยังพยายามอ่านลึกลงไปกว่าภาพผิวเผินของตัวบทพอสมควร เช่น ตอนที่วิเคราะห์ถึงภาพความร้อนแล้งที่ปรากฏโดดเด่นในกาพย์กลอนทั้ง 3 ชิ้น (คือ “อีศาน!”, “โอ้…อีศาน” และ “อีศานล่ม”) นั้น ผู้วิจารณ์ได้ชี้ให้เห็นว่านายผีมิได้สื่อความหมายแต่เพียงความร้อนแล้งตามธรรมชาติ แต่เกิดจากปัจจัยที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วย ทั้ง “เขา” “ผู้แทน” และ “สยามรัฐ” นำไปสู่ข้อสรุปในท้ายที่สุดว่าปัจจัยอย่างหลังนี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของบุคคลภายนอก ดังนั้นทางออกจากความล่มสลายจึงอยู่ที่คนอีสานเอง

ทั้งนี้ การชี้ประเด็นใจกลางเหล่านี้นับเป็นจุดตั้งต้นที่น่าสนใจ และควรจะได้รับการพิจารณาให้ละเอียดขึ้นต่อไปจากตัวบทและบริบททางประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมตัวงาน เช่นว่า บท “โอ้…อีศาน” นั้นมิได้ตั้งแง่ต่อความเป็นผู้แทนอย่างในบท “อีศาน!” เสียทีเดียว หากเล่าว่าได้เคยมีความพยายามต่อสู้ผ่านทางผู้แทนราษฎรที่เป็นคนของอีสานเองมาแล้ว แต่กลับถูกประทุษร้าย “โอ้ว่าพ่อผู้เอื้ออุดหนุน กลับถูกทารุณ ประทุษแลทำจำจอง” (ซึ่งกรณีเตียง ศิริขันธ์ ก็อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งในใจผู้ประพันธ์) จึงเหลือหนทางเดียวที่ชอบธรรมคือประชาชน “แสนล้านเรามี” จะต้องปฏิวัติ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีผลงานที่ทางโครงการฯ เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจและผ่านการพิจารณาเผยแพร่ออนไลน์อีก 2 เรื่อง ได้แก่

บทวิจารณ์ “เมื่อนายผีเขียนอีสานผ่านผัสสะ ในบทกวี ‘โอ้…อีศาน’ และ ‘อีศานล่ม’”

โดย อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

เมื่อนายผีเขียนอีสานผ่านผัสสะ ในบทกวี “โอ้…อีศาน” และ “อีศานล่ม”

บทวิจารณ์นี้มีความน่าสนใจในแง่การสกัดเอาแง่มุมเล็กๆ ที่แฝงอยู่ในกลวิธีการพรรณนาภาพความแห้งแล้งในกาพย์กลอน “โอ้…อีศาน” และ “อีศานล่ม” ออกมาได้อย่างมีความหมายและมีประเด็นผ่านกรอบทฤษฎีทางผัสสะและผัสสารมณ์

ผู้วิจารณ์ยกตัวอย่างให้เห็นว่างานเขียนของนายผีใช้ประสาทสัมผัสใดบอกเล่าสภาพความทุกข์ยากของชาวอีสาน และก่อผลกระทบต่อการรับรู้และความรู้สึกในลักษณะใดบ้าง อีกทั้งยังเสนอว่าการใช้ผัสสะของความแห้งแล้งนั้นอาจเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ สื่อได้ทั้งภาวะของผู้ถูกกระทำและภาวะของผู้กระทำการ และในบางแง่มุมยังอาจกลายเป็นมายาคติเกี่ยวกับความเป็นอีสานด้วย

““ອີສານ” ໃນຖານະສັດຕູ ແລະຜູ້ຄ້ຳຊູສະຫຍາມ : ການຕໍ່ສູ້ຂອງທ້ອງຖິ່ນທີ່ພົວພັນກັບພູມິທັດຢູ່ບົດກະວີ “ໂອ້…ອີສານ” ແລະ “ອີສານຫຼົ້ມ””

โดย เฉลิมศิลป์ เฉลิมแสนยากร

“ອີສານ” ໃນຖານະສັດຕູແລະຜູ້ຄ້ຳຊູສະຫຍາມ : ການຕໍ່ສູ້ຂອງທ້ອງຖິ່ນທີ່ພົວພັນກັບພູມິທັດຢູ່ບົດກະວີ “ໂອ້…ອີສານ” ແລະ “ອີສານຫຼົ້ມ”

บทวิจารณ์นี้มีความน่าสนใจที่เกร็ดต่างๆ จากการตั้งข้อสังเกตและการค้นคว้าอย่างกว้างขวาง เขียนขึ้นด้วยความพยายามลงแรงทางภาษาอย่างหนัก แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เขียน นับตั้งแต่การเขียนงานวิจารณ์ด้วยภาษาลาวอย่างแปลกใหม่ การแปลกาพย์กลอนของนายผีบางส่วนเป็นภาษาลาว การตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็นภาคต่อ/ภาคตามหรือไม่ของชิ้นงานชวนอ่าน และการนำแนวคิดหลายต่อหลายแนวคิดมาทดลองใช้อธิบายกาพย์กลอนของนายผี เพื่อจะพาไปสู่ข้อสรุปว่ากาพย์กลอน “อีศาน” “โอ้…อีศาน” และ “อีศานล่ม” เป็นชุดของงานที่แสดงความอหังการในการปลุกเร้าอำนาจของคนท้องถิ่นที่ราบสูงอย่างไร

 

อนึ่ง ทางโครงการฯ ขอขอบคุณทุกท่านที่ส่งผลงานมาร่วมในการประกวดรายการที่สองนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ทางเราจะส่งหนังสือในโครงการ “อ่านนายผี” ไปให้เป็นจำนวน 2 เล่ม เพื่อแทนคำขอบคุณที่ทุกท่านได้ร่วมรื้อฟื้นและประเมินพันธกิจและความปรารถนาในใจที่ดูเหมือนสวนทางกันแต่จริงๆแล้วอาจจะไม่ ของ “กุลิศ อินทุศักดิ์” ดังที่เคยได้แสดงออกมาในนิทานการเมืองเรื่อง “ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู” (2491) ว่า

“…จงจำไว้ กุลิศ, ว่า 4 จังหวัดภาคอิสาณก็ดี 4 จังหวัดภาคใต้ก็ดี จะเปนชะนวนแห่งความยุ่งยากอันร้ายแรง, หน้าที่ของเธอ, กุลิศ, คือ 4 จังหวัดภาคใต้! จงทำให้อิสลามิคทั้งหลายรู้ความจริงว่า ‘ไทยทั้งหลายคือพี่น้องของเขา, คือสหายของเขา; จงทำให้เขารู้ว่าคนเดียวชั่วสิบคนดีไม่เปนไร จงทำให้เขารู้ว่า การแตกแยกจากไทนั้นเปนภัยแก่เขาเอง เพราะเปนการพ้นจากอิสสรภาพไปสู่ความเปนทาสของคนฉลาดอีกคนหนึ่ง’”

“แต่ผมไม่เหมาะสมเลย, ผมไม่รู้จักประเพณี, ศาสนา และภาษาของเขา, ให้ผมไปภาคอิสาณเถิด, ผมเคยอยู่และรู้ภาษาฝรั่งเศสด้วย”

“กุลิศ” คนนั้นพูดอย่างเคร่งเครียด “คนดีกว่าเธอมีทางภาคอิสาณ, คนดีกว่าเธอไม่มีทางภาคใต้, สิ่งไรที่เธอไม่รู้ จงทำให้รู้, ฉันมั่นใจว่าเธอทำได้”

ประกาศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562

ในวาระรำลึกการเสียชีวิตของ ครูครอง จันดาวงศ์ เมื่อปี 2504