เถ้าเป่าเปลว

I
The extinguished fire they blow.
Two crouching figures
Now the one is blowing
Then the other alternately
Yet the fire flames not
Perturbed smoke’s enshrouding the body
Thin, black and full of pus
Knees sticking to the ribs
Bones squeezing together
The down-trodden in the cold

II
People pass by indifferently
Casting a look or two
Then glide away
Despised figure left behind
On dry, yellow grass
Behind the shadow of Djrak Plant
In the dim, lazy light
Cricket’s creaking, Grasshopper’s chirping
Crying complaint in empty hole
The down-trodden die nakedly.


เสียเปลวก็เป่าเถ้า
ทุเรศเร้าทั้งสองรา
บัดใจจะเป่ามา
และมิตรน้อยนั่นเป่าไป
เถ้าร่อยบ่ลุกเรือง
กะเตื้องคลุ้งแต่ควันไฟ
ดำผอมพุหนองไผ
ผนึกเข่ากะโครงคราง
ดูกะดูกเด่นเผ่นผอมพาง
พ่ายภัยเพียบปาง
จะป่นจะปี้นี่หนาว


ผองชนก็ผ่านเฉย
ชำเลืองเลยทุกคราคราว
ลิ่วย่าง ณ ทางยาว
ละสองอยู่แต่หลังหยาม
ยังหญ้าชราเหลือง
และเบื้องร่มละหุ่งตาม
เงาเศร้าและแสงทราม
เสนาะหรีดและเรไร
ร้องร่ำรำพันเนืองใน
รูเปล่าเปลืองใจ
จึงสองพินาศเนือยเปลือย

บทกวีชิ้นนี้ตีพิมพ์ ใน อักษรสาส์น ฉบับที่ 10 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2493 (หน้า 92-93) โดยมีหมายเหตุระบุไว้ว่าเป็นการแปลมาจากบทกวีของอินโดนีเซีย หรือที่ผู้แปลเลือกจะเรียกว่า “กาพยชะวา” ประพันธ์โดย “ดุลลาห์” (Dullah) ชื่อบทว่า “Gema Tanah Air” (“The Down-Trodden”) ฉบับภาษาไทยแปลว่า “ผู้ถูกเหยียบย่ำ”

เคยได้อ่านบทกวีนี้ครั้งแรกเมื่อหนึ่งรอบนักษัตรที่แล้ว และยังจำติดใจไม่หาย ในฐานะบทกวีแปลที่น่าตื่นตะลึงที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา และเชื่อว่าในชีวิตนี้จะไม่ได้เห็นใครทำได้ดีกว่านี้อีกแล้ว แม้ว่าจนบัดนี้จะยังไม่พบหลักฐานใดที่จะบอกได้ว่าผู้แปลที่ใช้นามปากกาว่า “ธอ.” นี้คือใคร แต่ก็เช่นเดียวกับที่มิตรผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนแนะนำให้รู้จักบทกวีนี้เคยสันนิษฐานไว้ ว่าความรู้สึกมันบอกได้ว่าบทกวีที่ขึ้นด้วยกาพย์ยานีและลงด้วยกาพย์ฉบังชิ้นนี้ คงไม่พ้นเป็นผลงานของ “นายผี” กวีคนสำคัญของประเทศนี้ที่กระทั่งสมญา “กวีรัตนโกสินทร์” ก็ยังนับว่า “เสียของ” เกินไป และฝีมือขั้นสูงขนาดนี้ ต่อให้สำนักศึกษาที่ถือตัวว่าสูงส่งในทางวิชาอักษรศาสตร์ก็ยากจะผลิตออกมาได้

ความโดดเด่นหนักแน่นของบทกวีแปลชิ้นนี้ ยิ่งถูกขับเน้นเมื่อมาปรากฏอยู่ใน อักษรสาส์น ที่พลิกดูเพียงผ่านยังพบว่า เนื้อหาในบางหน้านั้น วารสารที่โดนข้อหาว่าซ้ายนักหนาอย่าง ฟ้าเดียวกัน ยังชิดซ้าย เมื่อดูรายชื่อคนทำ ก็ล้วนเป็นบุคคลสำคัญระดับตำนานของแวดวงการประพันธ์ทั้งสิ้น พวกเขาไม่ได้ทำหนังสือขึ้นมาเป็นของเล่นๆ พวกเขาเห็นความจำเป็นของการต้องพูดอะไรบางอย่าง ในบางเรื่องที่สำคัญอย่างจริงจัง จริงจังเสียยิ่งกว่างานวิจัยและวิทยานิพนธ์ขยะมหาศาลในทุกวันนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อเสริมพื้นบารมีในทางวิชาการ แต่เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดอ่านและเข้าใจของผู้คน สิ่งที่พวกเขามีคือความรู้ วิจารณญาณ และความมุ่งมั่น ไม่ใช่ทุนงบประมาณสนับสนุนจากรัฐในนามองค์กรมหาชน

เฉกเช่นบทประพันธ์บางชิ้น ที่เราบอกได้ว่าใครจะมีสปิริตและปัญญาพอจะเป็นผู้เขียน เราก็บอกได้ว่าใครจะไม่มีคุณสมบัติที่จะทำอะไรได้แบบนั้น

กระดาษเก่าคร่ำร่วงกราว ปลายนิ้วติดฝุ่นเถ้า เป่าไม่พ้น สุดท้ายคงไปนอนก้นอยู่ปลายทางเดินหายใจ บทกวีอีกหลายชิ้นในเล่มแล้วเล่มเล่าเหล่านั้น แจ่มชัด ฉาดฉานในทางความคิดและการประพันธ์จนน่าตื่นตกใจ พวกเขาตายไปพร้อมไม้บรรทัดอันเดิมที่พวกเขาใช้วัดความจริง ความงาม และความเป็นธรรม เช่นเดียวกับงานเขียนของคนรุ่นก่อนหน้านั้นที่ประกาศนาม “คณะสุภาพบุรุษ” ในยุคที่ กุหลาบยังเป็นกุหลาบยังเป็นกุหลาบยังเป็นกุหลาบ

มันเป็นโลกของคนเก่าๆ รุ่นอดีตนั้น อดีตที่มันไม่ร่วมสมัย อดีตที่คนเหล่านั้นไม่อยู่ให้ยอกแสยงใจเหมือนอดีตยุคใกล้กว่านั้น

วันหนึ่ง ถามอาจารย์เบ็น แอนเดอร์สันถึงบางบรรทัดในบทนำหนังสือ In the Mirror ว่าตั้งใจจะหมายความอย่างไร แทนที่จะแปลความประโยคนั้น อาจารย์เบ็นบอกให้นึกภาพว่า เหมือนเราได้เดินข้ามสะพานมายังอีกฝั่ง แล้วสะพานนั้นก็ผุพังไปสิ้นไม่เหลืออะไร เรามีแต่ต้องยืนมองจากฟากนี้แล้วจินตนาการเอาเองว่า ชีวิตและบรรยากาศที่เคยเกิดขึ้น ณ ฝั่งฟากโน้นเป็นอย่างไร เพราะ “มันจบแล้ว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่พังไปแล้ว” นั่นเป็นการพูดถึงสิ่งที่สูญหายไปภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 แต่หากจะเชื่อมโยงย้อนกลับไปหายุคทศวรรษก่อน 2500 อาจารย์เบ็นเขียนไว้ว่า คงถึงขั้น “ต้องอาศัยอะไรคล้ายๆ วิชาโบราณคดีในทางวัฒนธรรม”

นี่มิใช่การหวนอดีตรำลึกวันวานเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี หากคือการหวนหาอดีตยุคที่บ้านเมืองไม่ดี แต่ยังมีคนที่แยกแยะได้ว่าอะไรดี-ไม่ดี (และเป็นคนละเรื่องกับอาการบ้าศีลธรรมประเภทที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปอย่างทุกวันนี้)

ยิ่งแปลกหน้า เก่าคร่ำคร่า และห่างไกล กลับยิ่งแจ่มชัด ชิดใกล้ และไม่ทันถูกทำให้เสื่อมสามานย์บัดสี

ในยุคที่ถูกครอบด้วยข่ายระยางของไฟจากฟ้า มีแต่ต้องหวนหาเถ้ามาเป่าเปลว