ไทย “เท่” ?

ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน ได้จัดแสดงงานนิทรรศการ ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์ โดยโฆษณาว่าเป็นนิทรรศการศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะ “องค์อัครศิลปิน” มีการรวบรวมผลงานจากศิลปินกว่า 300 คนมาจัดแสดงร่วมกัน

แม้ว่าประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีต แต่ประวัติศาสตร์ก็มิใช่อดีตโดยตัวมันเองนิทรรศการ ไทยเท่ เลือกที่จะเล่าประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยช่วงเวลากว่า 60 ปีในรัชกาลที่ 9 ผ่านการแสดงงานศิลปะที่ถูกแบ่งออกเป็น 9 หัวข้อ (ซึ่งเป็นการเน้นย้ำนัยของเลข 9 อย่างชัดเจน) อันได้แก่ “แสวงหาความเป็นไทย” “แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา” “นามธรรมและปัจเจกชน” “พื้นที่ทางสังคมและการอุปถัมภ์ศิลปะ” “การต่อสู้ทางการเมืองและสังคม” “จินตนาการกับความเหนือจริง” “เพศสภาพและความเป็นชายขอบ” “ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม” และ “จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” โดยมี “เส้นเวลา” หรือ timeline แสดงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน ติดไว้บนกำแพงรอบทางเดินชั้น 3-5 และมีผลงานศิลปะจัดแสดงอยู่ในห้องนิทรรศการชั้น 7-9 (ยกเว้นงานชุด “ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นงานชุดเดียวที่ถูกจัดแสดงในห้องนิทรรศการชั้น 4)

แม้ว่าทีมภัณฑารักษ์ผู้จัดงาน (ซึ่งมีจำนวนถึง 5 คน) จะเลือกจัดแสดงงานศิลปะเหล่านี้ไปตามหัวข้อโดยไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา แต่อำนาจในการสร้างความหมายของภัณฑารักษ์ก็ได้ทำให้การจัดลำดับก่อนหลังของหัวข้อต่างๆมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นถึงภาพของประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลาอยู่นั่นเอง (ทั้งนี้ก็โดยเป็นไปตามลำดับของพื้นที่และโดยสามัญสำนึกของผู้ชมส่วนใหญ่ ที่ย่อมจะชมงานโดยไล่ตั้งแต่ชั้น 7-9) ลำดับโดยปริยายของการชมงานจึงเริ่มตั้งแต่ “แสวงหาความเป็นไทย” ที่ชั้น 7 ตามด้วยการแสดงงานศิลปะตามหัวข้อต่างๆ เรียงลำดับไปเรื่อยๆจนถึง “จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” และ “เพศสภาพกับความเป็นชายขอบ” ในชั้นที่ 9 ซึ่งมีลักษณะเป็นประเด็นร่วมสมัย