อารยธรรม “หมู่บ้าน” : ที่นี่อนาคตจมลงในอดีตและดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

เมื่อปีกลาย ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวสุสานคนเป็นที่มีชื่อเรียกว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตรงส่วนของหอศิลป ถนนเจ้าฟ้า จึงบังเอิญได้เดินชมนิทรรศการแสดงผลงานประติมากรรมอันเนื่องมาจากการแข่งขันประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย (ถ้าจำไม่ผิด) ในนิทรรศการมีผลงานเป็นร้อยชิ้น ตอนแรกๆ ก็เดินดูด้วยความตื่นตาตื่นใจในฝีมือช่างไทย แต่พอเดินดูไปเรื่อยๆ ก็พบว่าในผลงานจำนวนมากนั้น มีประเด็นแก่นสารที่ศิลปินต้องการสื่อแค่สามอย่าง นั่นคือ พุทธศาสนาคือสัจธรรม ชนบทแสนงาม และพ่อหลวงคือศูนย์รวมแห่งความดีทั้งปวง

เดินดูจนจบงานก็อดรำพึงไม่ได้ว่า ไม่น่าเชื่อว่าเมืองไทยเราไม่มีประเด็นอื่นให้สื่อสารในการสร้างสรรค์ศิลปะอีกแล้ว และถ้ามีคนต่างด้าวสักคนที่ไม่รู้จักเมืองไทยเลยมาเดินชม เขาคงอุทานออกมาว่า ประเทศนี้มันสวรรค์บนดินชัดๆ !

เพราะดูแล้วชวนให้คิดว่าเราคนไทยช่างยึดมั่นในพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ไทยทรงห่วงใยพสกนิกรประหนึ่งยุคพ่อขุนรามคำแหงที่แขวนกระดิ่งไว้หน้าประตูวัง เด็กไทยยังผูกแกละไว้จุกเล่นม้าก้านกล้วย ผู้ชายยังคาดผ้าขาวม้า
ผู้หญิงยังนุ่งผ้าถุง และทุกคนใส่งอบ เรายังอยู่ในสังคมชาวนายุคพ่อปกครองลูก (ถ้ามียุคเช่นว่านั้นจริงๆ ในประวัติศาสตร์) กรุงเทพฯ ยังเป็นบางกอกที่ไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส อยุธยายังเป็นอดีตราชธานีที่ไม่มีนิคมอุตสาหกรรมไว้จมน้ำเล่น ไม่มีตลาดหุ้น ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีระบอบประชาธิปไตย ไม่มีสลัม (หรือจะเรียกว่าชุมชนแออัดก็ตามใจ) ไม่มีระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีเสื้อแดงเสื้อเหลือง ไม่มี 3G ไม่มีคนตาย ไม่มีสไนเปอร์ ไม่มีสยามพารากอน ฯลฯ

ไม่แปลกเลยที่ฝรั่งชอบถามนักเรียนเอเอฟเอสว่าคนไทยยังขี่ช้างไปเรียนจริงหรือ แม้เราชาวไทยจะขึ้นรถไฟบนฟ้าหรือมุดลงใต้ดิน แต่โดยจิตวิญญาณแห่งความเป็นไทยแท้ คนไทยยังขี่ช้างกันอยู่ (แม้ว่ามีคนไทยน้อยคนในอดีตเคยขี่ช้างจริงๆ ก็ตาม)

ความเป็นไทยคืออะไรก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ความเป็นไทยต้องซ้ำซากจำเจเหมือนนิทรรศการศิลปะปูนปั้นที่ผู้เขียนไปเดินดู คนไทยพึงมีสาระแค่ไม่กี่เรื่องและพูดมันซ้ำๆ ไปมา ในนวนิยายเรื่อง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต มิลาน คุนเดอรา บอกว่า สวรรค์คือความซ้ำซากจำเจ เราคนไทยควรสำนึกว่ากำลังอยู่ในสวรรค์บนดินแท้ๆ เราดูละครเรื่องเดิมซ้ำๆ ฟังเพลงชาติซ้ำๆ ทุกวัน วันละสองครั้ง ฟังข้อความเดิมๆ กรอกหูซ้ำๆ มองเห็นป้ายเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกแห่งหน เราไม่เคยเบื่อ เราเหมือนทูตสวรรค์ในพระคัมภีร์ไบเบิล เรารักพระบิดา พระบุตร พระจิตอย่างไม่มีเงื่อนไข เราจะร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าตลอดไป ใครไม่รักก็จงลงนรกไปซะ ไปอยู่กับลูซิเฟอร์ที่เป็นกบฏต่อพระผู้เป็นเจ้า เราคนไทยจงรู้จักลด ละ วางความคิดเห็นส่วนตัว จงอย่าหยิ่งในศักดิ์ศรี สองมือจงก้มประณมกร และอย่าลืมไหว้อย่างไทยด้วย

อุดมคติของชนบทอันงดงาม คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน จิตวิญญาณแบบไทยๆ ไม่เคยก้าวไปไกลกว่าหมู่บ้าน เราอยู่ในวัฒนธรรมและอารยธรรมแบบ “หมู่บ้าน” คนไทยถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า ในหมู่บ้านมีแต่ความสามัคคี ความกลมกลืน ไม่เคยมีความขัดแย้ง คนไทยรักกัน อยู่อย่างพอเพียง อะไรที่นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่ความเป็นไทยและมาจากต่างดาว ชาวบ้านคนไหนที่แหวกจาก taboo นี้ ต้องถูกกำจัดทิ้ง ต้องฆ่า ฆ่า และฆ่า เพื่อรักษาหมู่บ้านชนบทแสนงามที่ไม่มีอยู่จริงเอาไว้

ไม่ใช่แค่คนไทยที่หมกมุ่นอยู่ในวัฒนธรรมและอารยธรรมแบบหมู่บ้าน เราไม่ได้ “พิเศษเฉพาะ” เท่าที่เราคิด ที่อื่นก็มีกับดักแห่ง “หมู่บ้าน” เหมือนกัน บทความชิ้นหนึ่งของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินโดนีเซีย ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ ชื่อ “My Apologies, In the Name of Experience” เป็นบทความที่ผู้เขียนชอบมากและอ่านซ้ำหลายครั้งมาก อ่านทีไรก็นึกว่าปรามูเดียเขียนถึงหมู่บ้านประเทศไทย !
****