The White Tiger : เสียงคำราม (หรือเสียงคราง?) จากเสือเผือก

นวนิยายเรื่อง The White Tiger ของ อราวินด์ อดิก เป็นเจ้าของรางวัล Man Booker Prize 2008 ที่สร้างปรากฏการณ์อันคล้ายคลึงกับเจ้าของรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2009 อย่าง Slumdog Millionaire นั่นก็คือ เสียงแซ่ซ้องจากโลกตะวันตกและเสียงสาปแช่งจากกลุ่มคนดูในอินเดีย นวนิยายเรื่องนี้จึง
ไม่เพียงน่าสนใจในแง่สไตล์และสำนวนการเขียนแบบเสียดสีทีเล่นทีจริง และความสามารถของนักเขียนในการ
ถ่ายทอดภาพแทนของประเทศอินเดียออกมาได้อย่างคมชัด หากแต่ยังดึงดูดให้ผู้อ่านตามไปสืบค้นอุดมการณ์หรือสมมติฐานบางอย่างของยุคสมัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังตัวหนังสือ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งทางความคิดอย่างกว้างขวาง ระหว่างกลุ่มประเทศตะวันตก (ผู้มอบรางวัลและเท่ากับเป็นผู้ “การันตี” ความดีงามของหนังสือ) และประชาชนในประเทศอินเดีย (ซึ่งตนเองและประเทศถูกหยิบมาเป็นตัวละครและฉากของเรื่อง)
*
The White Tiger บอกเล่าเส้นทางชีวิตของพลราม ฮาลวัย (Balram Halwai) เจ้าของกิจการ (entrepreneur) ที่
ไต่เต้ามาจากการเป็นคนงานในร้านน้ำชาและคนขับรถของลูกชายผู้มีอิทธิพลประจำเมือง ชื่อของนวนิยายคือฉายาที่พลรามได้รับในวัยเด็ก เมื่อเขาฉายแววฉลาดและดูมีอนาคตกว่าเด็กคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะ white tiger หรือ
เสือเผือก จัดเป็นสัตว์หายากที่เกิดได้เพียง 1 ตัวในหนึ่งชั่วอายุ นวนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบจดหมายที่พลรามเขียนถึงนายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่าของจีนในโอกาสที่จะเดินทางมาดูงานที่อินเดีย เขาเล่าเรื่องชีวิตตัวเองควบคู่ไปกับการนำเสนอภาพสังคมอินเดียร่วมสมัย ที่เขาอ้างว่า “จริง” กว่าภาพในสื่อต่างๆ ที่รัฐบาลนำเสนอ
พลรามแบ่งประเทศอินเดียออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งมืด (Darkness) กับ ฝั่งสว่าง (Light) ตัวเขาเองเกิดและเติบโตใน
ฝั่งมืด คือหมู่บ้านเล็กๆ ติดแม่น้ำคงคา ชื่อลักษมัณครห์ ผู้คนในแถบนี้ดำรงชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียร ได้รับการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ ซ้ำต้องอยู่ใต้อิทธิพลมาเฟียประจำถิ่น ดังนั้นเมื่อพลรามมีโอกาส เขาจึงไม่ลังเลที่จะทิ้งชีวิตและครอบครัวของตนในฝั่งมืด แล้วทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้ข้ามไปสู่ฝั่งสว่าง ความฉลาดแกมโกงของพลรามช่วยให้เขาได้ย้ายไปอยู่ที่เดลีในฐานะคนขับรถประจำตัวของนายอโศก ลูกชายของผู้มีอิทธิพลที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกา ระหว่างทำหน้าที่นี้ เขาได้เห็นวิถีชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่ เห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจผู้มีอิทธิพล และเห็นช่องว่างมหึมาระหว่างคนรวยกับคนจน ในที่สุดเขาตัดสินใจฆ่าอโศกและนำเงินที่อโศกเตรียมไว้ใช้ติดสินบนนักการเมือง ไปตั้งตัวที่บังกาลอร์ เมืองแห่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ผ่านทางวิธีการที่เขาได้เรียนรู้มาจนลึกซึ้ง นั่นคือการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ
*
ถ้อยคำจาก “คนนอก” ปากคำจาก “คนใน” และรางวัลที่ได้จาก “คนอื่น”
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า The White Tiger เจอกระแสตอบรับที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างผู้อ่านในโลกตะวันตกกับผู้อ่านในประเทศอินเดีย ขณะที่กลุ่มแรกยกย่องว่าผู้แต่งสามารถถ่ายทอดสภาพสังคมอินเดียออกมาได้อย่างแตกต่างและสมจริง ผู้อ่านกลุ่มหลังกลับโจมตีผู้เขียนถึงความ “ไม่สมจริง” และ “ไม่รู้จริง” ในการพูดถึงประเทศ
บ้านเกิดของตัวเอง
*
Michael Portillo ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล Man Booker Prize ยกย่องว่า “นี่เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่นำเสนอเรื่องราวสดใหม่ พูดถึงมุมมองที่ แตกต่าง ของอินเดีย มุมมองที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่น่าจะคุ้นเคยนัก สิ่งที่ทำให้มันโดดเด่นคือความไม่เหมือนใคร เหมือนกับว่านี่คือการก้าวเข้าสู่ดินแดนแห่งใหม่” ส่วน Scott Medintz แห่ง The New York Sun ก็บอกว่า The WhiteTiger เป็น “ประสบการณ์อันน่าตื่นตาภายใต้ฉากหน้าของ “ความมหัศจรรย์” ของเศรษฐกิจอินเดีย” และแม้แต่นักวิจารณ์ชาวอินเดียที่ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ตะวันตกอย่าง Akash Kapur แห่ง The New York Times Book Review ก็ยังเห็นว่า “โลกอันหม่นมัวนี้แตกต่างอย่างยิ่งจากภาพอันเจิดจรัสของดาราบอลลีวู้ดและผู้ก่อตั้งธุรกิจทางเทคโนโลยี ที่เพิ่งจะเข้ามาแทนภาพจำของอินเดีย (ซึ่งเชยพอๆ กัน) เกี่ยวกับโยคะและเรื่องราวทางจิตวิญญาณที่มีก่อนหน้า มันไม่ใช่โลกที่ชาวอินเดียฐานะดีที่อยู่ในเมืองจะอยากเห็น” และ “ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์ [ผู้เขียน] ปอกเปลือกระยิบระยับของประเทศที่ชอบป้อยอตนเองและเผยให้เห็นถึงประเทศที่ระบอบการจัดการของสังคมตึงเครียดจนใกล้ถึงจุดแตกหัก” ความเห็นต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เหตุผลหลักที่ The White Tiger ได้รับการยกย่อง ก็เพราะมันนำเสนอภาพของอินเดียในแบบที่ไม่คุ้นตา “คนอื่น” ซึ่งรู้จักและคุ้นเคยกับอินเดียผ่านทางภาพแทน (representation) ต่างๆ มาตลอด ยิ่งไปกว่านั้น ภาพดังกล่าวยังแสดงแง่มุมในด้านลบที่ดูเหมือนจะ “จริง” กว่า “เปลือกนอก” ที่สวยงามของอินเดีย ซึ่งในระยะนี้โดดเด่นเป็นพิเศษทั้งทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมร่วมสมัย
*
ในทางตรงข้าม Amitava Kumar จากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชั้นนำของอินเดีย The Hindu กล่าวว่า “เสียง
ของฮาลวัยเหมือนกับเสียงแปร่งๆ ที่ผสมปนเประหว่างวัยรุ่นอเมริกันกับนักเขียนเรียงความวัยกลางคนชาวอินเดีย ผมพบว่าตัวร้ายของ อดิก ถูกสร้างให้เหมือนตัวการ์ตูน เหมือนกับตัวละครในเมโลดราม่าชั้นเลวของบอลลีวู้ด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเห็นว่าไม่เพียงซ้ำซาก แต่ยังน่ารังเกียจ ก็คือการนำเสนอภาพของผู้คนธรรมดาของเขา” นอกจากนี้ นักท่องอินเตอร์เน็ตรายหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าตนเองอาศัยอยู่ในส่วนที่น่าจะเรียกได้ว่า “ฝั่งมืด” ของตัวเอก ยังได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นมุมมองของคนนอก คุณไปเที่ยวที่อินเดีย ไปคุยกับคนขับตุ๊กตุ๊กไม่กี่คนที่นั่น เสร็จแล้วก็จะมาคิดว่าตัวเองรู้จักประเทศ รู้จักผู้คนที่นั่นงั้นเหรอ ฉันไม่คิดอย่างนั้นหรอก” เห็นได้ชัดว่า นี่คือเสียงจาก “คนใน” ที่ปฏิเสธความพยายามในการนำเสนออินเดียของผู้เขียนที่พวกเขาจัดว่าเป็น “คนนอก” เพราะแม้ว่าอราวินด์ อดิกจะเป็นชายเชื้อสายอินเดีย แต่เขาโตที่ออสเตรเลีย ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกมาตั้งแต่เด็ก และจบวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หนำซ้ำยังทำงานเป็นผู้สื่อข่าวประจำเอเชียใต้ให้กับ TIME (ไม่นับถึงการเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสารต่างประเทศอีกมากมายหลายฉบับ) ดังนั้น แม้ปัจจุบัน อดิกจะอาศัยอยู่ในมุมไบ ประเทศอินเดีย แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้เขาอ้างตัวว่าเป็น “คนใน” ได้
*
อันที่จริงปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในการต่อสู้ทางวาทกรรมระหว่างประเทศตะวันตก (ที่มักเป็นเจ้าอาณานิคมหรืออดีตเจ้าอาณานิคมไม่ว่าในเชิงการเมืองหรือเศรษฐกิจ) กับประเทศอื่นๆ ที่เป็นหรือเคยเป็นอาณานิคมมาก่อน วาทกรรมที่จะต้องถูกหยิบยกมาปะทะกันอยู่เสมอก็คือวาทกรรมแบบเจ้าอาณานิคม (colonial discourse) กับวาทกรรมชาตินิยม (nationalist discourse) ประเทศเจ้าอาณานิคมพร้อมที่จะสร้างและมองเห็นภาพของประเทศโลกที่สามเป็นประเทศด้อยพัฒนาและมีรูปแบบการปกครองที่ล้าหลัง กดขี่ข่มเหงกันเองอย่างป่าเถื่อน (จนผู้เจริญแล้วต้องเข้าไปครอบครองในนามของการช่วยเหลือ) หรือหากดีหน่อยก็จะเป็นในลักษณะที่ลึกลับมีเสน่ห์ (ซึ่งก็ทำให้น่าเข้าไป “ค้นหา” ให้ “ทะลุปรุโปร่ง”) โดยสมมติฐานสำคัญเบื้องหลังแนวคิดดังกล่าวก็คือ เจ้าอาณานิคมมีสิทธิเต็มที่ – รวมถึงมีองค์ความรู้ที่เพียงพอ – ในการ “ตีความ” พื้นที่ที่พวกเขาย่างกรายเข้าไปสำรวจ ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายที่ถูก “บุกรุก” (ทั้งในเชิงกายภาพและอุดมการณ์) ก็จะใช้วาทกรรมชุดตรงข้าม ว่าด้วยการที่เจ้าอาณานิคมไม่สามารถเข้าใจมิติต่างๆ อันซับซ้อนของประเทศตน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคม ความเชื่อ วัฒนธรรม หรือมากไปกว่านั้น อาจมีการเชิดชูวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีทั้งความเก่าแก่และความดีงามแบบร่วมสมัย (ดังที่เรามักจะได้ยินได้เห็นกันเป็นประจำจากผู้คนในประเทศโลกที่สามประเทศหนึ่ง ซึ่งมีทั้งอารยธรรมเก่าแก่และตัวอักษรเป็นของตัวเองมาแต่โบราณ)
*
ในกรณีของ The White Tiger ต้องยอมรับว่าตัวละครชาวอินเดียที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนั้น ออกจะไร้มิติและมีลักษณะเป็นเหมือนตัวแทนของคนในกลุ่มสังคมและชนชั้นต่างๆ มากกว่าจะเป็นคนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นย่าสุดแสนงกที่คอยทวงบุญคุณจากพลรามตลอดเวลา (ชนชั้นล่างหัวเก่าและโลภมาก) “ไอ้กระสา”10 มาเฟียท้องถิ่นที่กดขี่ลูกน้อง ทำธุรกิจแบบเลี่ยงภาษี แถมยังติดสินบนนักการเมือง (ชนชั้นกลางอดีตเจ้าของที่ดินที่ผันตัวเองมาเป็นนายทุน) หรือนายอโศก เจ้านายหนุ่มหัวอ่อนจิตใจดีที่เพิ่งกลับจากอเมริกา (ผู้มีการศึกษาและอุดมการณ์ แต่อ่อนแอจนต้องไหลไปตามสิ่งแวดล้อม) อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินเจาะจงลงไปว่า ภาพที่อดิกนำเสนอนั้น ซื่อตรงต่อความเป็นอินเดียจริงดังที่ผู้เขียนอ้าง หรือบิดเบือนคลาดเคลื่อนอย่างที่ผู้อ่านชาวอินเดียกล่าวหานั้น ดูจะเป็นเรื่องยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้อ่านซึ่งเป็นคนนอก รู้จักประเทศอินเดียผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ นวนิยาย หนังสือท่องเที่ยว หรือแม้แต่หนังสือทางสังคมศาสตร์หรือมานุษยวิทยา เพราะภาพของอินเดียทั้งหลายดังกล่าว ต่างก็เป็นเพียงภาพแทนที่ผู้เขียนเขียนขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันเท่านั้น (ไม่นับว่าตัวประเทศอินเดียเองซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและอุดมไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็ไม่ได้เอื้อให้ใครสามารถอธิบายเกี่ยวกับตัวมันได้อย่างครอบคลุมอยู่แล้ว) ผู้เขียนบทความจึงไม่ขอประเมินคุณค่าของบทประพันธ์ในแง่นี้ แต่จะลองวิเคราะห์กลวิธีการประพันธ์ที่อาจสะท้อนแนวคิดและจุดยืนบางประการของผู้แต่ง
****