มองไปทางไหนก็เห็นแต่เทวดา

เป็นความพ้องโดยบังเอิญโดยแท้ที่บทความนี้เกิดขึ้นหลังจากอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ได้เขียนบทความ
“รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์” ให้วารสาร อ่าน ฉบับที่แล้วหลังกรณี “โหนรูปปั้นปรีดี” อันฮือฮา

ย้อนไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ผู้เขียนได้ไปบรรยายในหัวข้อ “Hagiography ของศิลป์ พีระศรี: ความทรงจำและเรื่องหลงลืมในประวัติศาสตร์ศิลปะ” ในโครงการสนทนาวันศุกร์ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้อวิจารณ์
ข้อหนึ่งที่ได้รับ และทำให้รู้สึกประหลาดใจ (แต่อันที่จริงก็ควรจะรู้ดีเกินกว่าจะประหลาดใจ) คือ “เราจะพูดเรื่องนี้กันไปทำไม ในเมื่อการทำบุคคลให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย ไม่เพียงแต่ศิลป์ พีระศรี เท่านั้นที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังมีปูชนียบุคคลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆอยู่อีกมากมาย”

ก็ในเมื่อมองไปทางไหนก็เห็นแต่เทวดา แล้วเหตุใดเราจึงจะไม่พูดถึงมันกันเล่า?

การที่ความเป็นปูชนียบุคคลกึ่งนักบุญของศิลป์ พีระศรี (ชื่อเดิม Corrado Feroci, พ.ศ.2435-2505) เป็นลักษณะร่วมกับปรากฏการณ์ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย มิได้ทำให้เรื่องนี้ไม่มีความสำคัญพอที่จะได้รับการพูดถึง ตรงกันข้าม การเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่มีอยู่ดาษดื่นยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรอภิปราย ลัทธิบูชาตัวบุคคลที่เกิดขึ้นกับศิลป์มิใช่กรณีเฉพาะในโลกศิลปะที่ปราศจากความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก แต่เป็นเสมือนจักรวาลจำลองที่บ่งชี้ลักษณะบางประการของสังคมไทย นั่นคือการเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ผูกอยู่กับอาวุโสไม่ว่าทางชาติวุฒิ คุณวุฒิ หรือวัยวุฒิ ทั้งยังสัมพันธ์กับมิติทางศาสนาอีกด้วย สิ่งของหรือบุคคลที่ถูกยกไว้สูงนั้นจึงกลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นแตะต้องไม่ได้ หาไม่แล้วจะเป็นคล้ายบาปอย่างหนึ่ง ซึ่งเท่ากับปิดโอกาสในการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ไปโดยปริยาย ปรากฏการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่แม้ในโลกศิลปะที่คนทั่วไปมักคิดว่ามีลักษณะขบถสูงและให้ค่าสูงกับปัจเจกบุคคล ซึ่งก็อาจเป็นจริงในสังคมอื่น แต่ไม่ใช่ในสังคมไทยที่วัฒนธรรมการศึกษา (รวมถึงการศึกษาศิลปะ) ยังไม่ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่อย่างแท้จริง มีเพียงเปลือกนอกที่ภายในยังถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม ศิษย์ต้องเชื่อฟังและยกย่องครูเท่านั้น ห้าม “คิดล้างครู” ผู้อาวุโสมีไว้ให้เคารพและทำตาม ในระบบความคิดความเชื่อเช่นนี้ การเรียนรู้แบบตั้งคำถามกับความรู้และผู้สอนจึงเป็นไปไม่ได้

นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ กับความทรงจำคัดสรร

เรื่องราวของนักบุญแห่งศิลปะท่านหนึ่ง จากนครฟลอเรนซ์ ผู้ศรัทธาในความยิ่งยงแห่งยุคเรอนาซองส์ ได้จาริกมาสู่บูรพาทิศ และดินแดนที่ท่านอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตให้ คือ สยามประเทศ (นิพนธ์ ขำวิไล บ.ก., อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์, 2551)

ถึงแม้ข้อเขียนข้างต้นจะไม่ใช่งานเขียนชิ้นแรกเกี่ยวกับศิลป์ พีระศรี แต่ก็ดูจะประมวลเอาลักษณะทั่วไปที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนเกี่ยวกับศิลป์ไว้ในตัว บ่งบอกถึงภาพลักษณ์และมุมมองที่คนในโลกศิลปะโดยเฉพาะแวดวงศิลปากรนั้นมีต่อประติมากรชาวอิตาเลียนผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะไทยสมัยใหม่ “นักบุญแห่งศิลปะผู้อุทิศตน” คือภาพของศิลป์ พีระศรี ในความทรงจำที่มีอยู่ร่วมกันของแวดวงศิลปะไทย

และสำหรับสังคมไทยแล้ว แม้จะมีเพียงกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนทำให้มุมมองและความเห็นต่างๆ ถูกควบคุมให้เป็นไปในทิศทางเดียวภายใต้กฎหมายที่มีบทลงโทษเคร่งครัด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถพูดถึงอะไรๆ หรือใครๆอื่นที่อยู่นอกเหนือไปจากนั้นได้โดยอิสระ เพราะค่านิยมของสังคมไทยยังทำหน้าที่กำกับว่าเราควรจะปฏิบัติและกล่าวถึงบุคคลในลำดับชั้นต่างๆอย่างไร

กรณีของศิลป์ก็เช่นกัน ในฐานะ “ปูชนียบุคคล” งานเขียนแนวอาเศียรวาทสดุดีเป็นงานเขียนแนวเดียวที่ปรากฏและได้รับอนุญาตให้มีได้ ทั้งนี้แม้จะไม่มีข้อห้ามเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รู้กันโดยปริยาย (ผู้เขียนช่างโชคดีจริงๆ ที่เลือกพูดหัวข้อนี้แล้วโดนแค่ทัณฑ์ทางสังคมประเภทประณามด่าทอเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นติดคุก) การไม่ปรากฏมุมมองเชิงวิจารณ์ในงานเขียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับศิลป์ พีระศรี จึงไม่ได้เป็นเพราะคนไทยโง่ คิดตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อะไรไม่เป็น per se ภาวะไร้การวิจารณ์หรือวิจารณ์ไม่เป็น ไม่สามารถจินตนาการถึงการวิจารณ์ได้นี้ เป็นผลมาจากค่านิยมบางประการอย่างความกตัญญูกตเวที การให้ความเคารพผู้อาวุโส และความรู้จักที่ต่ำที่สูง ซึ่งเป็นค่านิยมที่มีฐานมาจากการเป็นสังคมอนุรักษนิยมที่ให้ความสำคัญกับลำดับชั้นมานานของสังคมไทยนั่นเอง กรอบคิดเช่นนี้เองที่ไม่อนุญาตให้การเขียนเกี่ยวกับศิลป์สามารถเป็นอื่นใดไปได้นอกจากการให้ภาพลักษณ์เชิงปฏิมา

หากจะมีลักษณะอีกประการที่ต่างไปซึ่งปรากฏอยู่ในงานเขียนเกี่ยวกับศิลป์ ก็คือการเล่าถึงพฤติกรรมที่น่าขันบางอย่างของเขาเช่นการออกเสียงภาษาไทยไม่ชัด ข้อเขียนประเภทนี้มิใช่เป็นการล้อเลียนอย่างไร้ความเคารพ หากเป็นกลวิธีสร้างความเคารพในอีกลักษณะหนึ่ง การล้อเลียนชนิดหยิกแกมหยอกเป็นกระบวนการที่ทำให้ภาพนักบุญ
ผู้สูงส่งกลายเป็นบิดาที่สัมผัสได้ เป็นการแสดงความนับถือปนความรักใคร่เอ็นดู ชี้ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ใกล้ชิด
เป็นกันเองแบบพ่อกับลูก/ครูกับศิษย์ และทำให้บุคคลผู้นั้นป๊อปปูลาร์ ศิลป์จึงมีทั้งลักษณะ untouchable ดั่งนักบุญ
ผู้ศักดิ์สิทธิ์และ touchable ในฐานะบิดาผู้เป็นที่รักของเหล่าลูก(ศิษย์) ไปพร้อมกัน เป็น ambivalent figure ตาม
แบบฉบับบุคคลที่กลายเป็นปูชนียะสำหรับเคารพบูชา (cult figure) จำนวนมาก

สถานะสัมผัสได้แต่แตะต้องไม่ได้ของศิลป์ยังถูกขยายความขึ้นไปอีกโดยลักษณะเชิงพิธีกรรมที่ได้รับการจัดขึ้นในวาระพิเศษอย่างงานวันศิลป์ พีระศรี (15 กันยายนของทุกปี) ซึ่งก็คือวันเกิดของศิลป์นั่นเอง สมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ ในวันนี้จะมีการเลี้ยงฉลองเล็กๆน้อยๆระหว่างครูกับลูกศิษย์ งานเลี้ยงวันเกิดกลายเป็นพิธีกรรมประจำปีของมหาวิทยาลัยศิลปากรในยุคปัจจุบันที่กิจกรรมหลักประกอบด้วยการวางดอกไม้ การจุดเทียนและการร้องเพลง
ซานตาลูเซียที่ลานหน้าอนุสาวรีย์ศิลป์ พีระศรี บริเวณหน้าคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ 15 กันยายนคือวาระที่เหล่าบรรดาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ตลอดจนผู้ที่ไม่ได้เป็นทั้งศิษย์เก่าหรือศิษย์ปัจจุบันแต่มีจิตปฏิพัทธ์กับมหาวิทยาลัยศิลปากรมาชุมนุมกันอย่างเนืองแน่น (และบางครั้งก็เนืองนองไปด้วยน้ำตาเมื่อถึงยามจุดเทียนร้องเพลง แต่ส่วนใหญ่แล้วออกจะเป็นช่วงเวลาแห่งความเมากันเสียมากกว่า)

นอกจากพิธีกรรมแห่งความทรงจำประจำปีแล้ว องค์ความรู้หรือความทรงจำ/ประวัติศาสตร์ของศิลป์ยังคงได้รับการบูรณะและนำเสนอผ่านการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในรูปของนิทรรศการ สถานที่ที่เคยเป็นห้องทำงานจริงๆของศิลป์ได้รับการสถาปนาให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกรมศิลปากรที่เชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ยิ่งทำให้ aura ของเขาเปล่งรัศมีมากขึ้นในฐานะปูชนียบุคคลและนักบุญศักดิ์สิทธิ์ผู้ควรแก่การเคารพ ภาพลักษณ์ของอาจารย์สอนศิลปะผู้ทุ่มเทฉายขึ้นผ่านการจำลองห้องทำงานที่มีข้าวของเครื่องใช้เดิม อยู่ในสถานที่ที่เคยเป็นอยู่เดิม สอดคล้องกับบทพรรณนาที่แพร่หลายอยู่ในงานเขียนต่างๆ มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆที่ซึ่งเดินออกไปเพียงไม่กี่ก้าวก็จะพบกับรูปปฏิมาที่แท้ อันได้แก่รูปปั้นศิลป์
พีระศรี ที่ลานหน้าคณะจิตรกรรมฯ พื้นที่ใจกลางของการจัดงานวันศิลป์ พีระศรี อาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่พึงลบหลู่

ทว่าอีกด้านหนึ่งของภาพปฏิมาที่สมบูรณ์แบบ ก็คือภาพบุคคลธรรมดาที่ขาดวิ่น เพราะในกระบวนการสร้างภาพปฏิมาให้จารึกลงในจิตใจผู้คน หรือเรียกอีกอย่างว่าการกำกับควบคุมความทรงจำที่พึงมีนั้น จำต้องอาศัยการ “ลบ” แง่มุมบางอย่างเพื่อสร้างและควบคุมภาพลักษณ์ที่ต้องการให้ได้รับการจดจำเอาไว้เท่านั้น กระบวนการสร้างความทรงจำจึงประกอบไปด้วยการ “จำ” และการ “ลืม” การสร้างความทรงจำที่พึงปรารถนาจำเป็นจะต้องมีสิ่งที่ถูกลืมเสมอ การลืมกลายเป็นองค์ประกอบหลักของความทรงจำ คือสิ่งที่ไม่ปรากฏในความทรงจำ แต่ทำให้ความทรงจำดำรงอยู่ (น่าสนใจที่คำภาษาไทย “ลบ” ที่หมายถึง “แง่ลบ” ยังสอดคล้องกับการที่มันจะต้องถูก “ลบทิ้ง” ด้วย “แง่ลบ” คือ “แง่ไม่งาม” ที่ต้องถูก “ลบทิ้ง” ไม่ต้องจำ แต่ต้องลืม) ภาพบุคคลที่เว้าแหว่งกับภาพปฏิมาของตัวบุคคลที่(เคย)มีชีวิตอยู่จริง แท้จริงแล้วจึงเป็นเรื่องเดียวกันของคนเดียวกัน จะต้องขูดฆ่าขีดลบความเป็นมนุษย์ทิ้งไปเสียก่อนจึงจะสถาปนาสถานะความเป็นเทพได้ (เฉกเช่นนักบุญจำนวนมากที่จะต้องตายไปเสียก่อนถึงจะได้กลายเป็นนักบุญ) ต้องผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ ฆ่าเชื้อโรค คัดกรองและขัดเกลา จากนั้นจึงปลุกเสกจนศักดิ์สิทธิ์

สถานะของศิลป์ พีระศรี ก็ไม่ต่างจากปูชนียบุคคล(หรือเทวดา)อื่นๆในสังคมไทย คือเป็นที่พึงเคารพและไม่ควรตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ ความพยายามใดๆที่จะละเมิดข้อห้ามที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนี้ถูกตีตราว่าเป็นการทำร้ายความรู้สึกของผู้ที่เคารพ คำกล่าว “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คือเกราะป้องกันที่เอาเข้าจริงแล้วก็น่าสงสัยว่าใครคือผู้ที่ได้รับการป้องกันที่ว่ากันแน่ ปูชนียบุคคลและรูปปั้นของพวกเขา หรือเหล่าสาวกผู้มีใจอ่อนไหวและมี
ปุ่มกลางหลังอันเปราะบาง