การแทน ที่แทนไม่ได้ ?

…ขณะที่ไดโอจินีสแห่งซิโนเพกำลังรื่นรมย์กับแสงแดดยามเช้า อเล็กซานเดอร์มหาราชผู้มาเยือนได้ถามไปว่าจะช่วยอะไรนักปรัชญาผู้นั้นได้บ้าง ไดโอจินีสตอบไปว่า “ช่วยหลบออกไปหน่อย อย่ายืนบังแดดข้า”

การสื่อแทน/แสดงแทน (representation) เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติเก่าแก่ในทางสุนทรียศาสตร์ของโลกตะวันตก ตามธรรมเนียมเดิม ศิลปะถูกมองว่าเป็นภาพแทนที่ลอกเลียนสภาพความเป็นจริง การลอกเลียนนี้เคยทั้งถูกประณามว่าชักนำให้ผู้เสพออกห่างจากความจริงที่เป็นสัจธรรม และเคยทั้งได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งยกระดับจิตใจ แสดงให้เห็นความเป็นไปนอกเหนือจากสภาพที่เป็นอยู่

จะเห็นตัวอย่างการถกเถียงในประเด็นเรื่องภาพสื่อแทน นัยยะ และกิจปฏิบัติของการสื่อแทนได้อย่างชัดเจนใน
“ ‘วาดภาพผู้หญิงเปลือยล่อนจ้อนโดยไม่แปดเปื้อนยางอาย’ ” ของ อ.สายัณห์ แดงกลม ที่แม้แต่นักคิดคนสำคัญของยุครู้แจ้ง ก็เสนอตัวแบบ “จิตรกรรมแนวศีลธรรม” ขึ้นมา ในกรอบคิดนี้ ศิลปะจึงเป็นสิ่งสื่อแทนที่สามารถสอนคุณความดีได้ ซึ่งก็พ้องกับขนบที่เชื่อว่าศิลปะและงานสร้างสรรค์ต่างๆมีหน้าที่เทศนาสั่งสอนคุณธรรมความดี ขนบแบบหลังนี้ยังได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษในสังคมที่ (พยายามแสดงออกว่าตน) เคร่งศีลธรรม (ล่าสุดถึงขั้นห้ามขายสุรายาเมาในวันธรรมสวนะ และกำลังจะห้ามขายเหล้าเบียร์ตามร้านอาหารบนฟุตบาท) ในสังคมที่ว่านี้ บรรดาผลงานสร้างสรรค์ (และไม่สร้างสรรค์) ทั้งหลายจึงต้องมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสั่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดี นำเสนอแต่ภาพตัวแทนของคนดีที่ควรสรรเสริญ (แคมเปญใหม่ๆ ในช่วงนี้ก็เช่น ทำดีตามรอย “พ่อ”, ทำดีเพื่อ “พ่อ” ฯลฯ)

แต่ความเชื่อที่ว่าสิ่งสื่อแทนสามารถถ่ายทอดความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์นี้ก็ไม่เคยปราศจากการท้าทาย หากมีการหักล้างว่าสิ่งสื่อแทนไม่ได้ถ่ายทอดความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่ตาเห็นอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น หากเป็นเพียงกับดักหลอกตาที่ผนวกความยอกย้อนต่างๆไว้ในตัวเอง จากตัวอย่างเรื่อง “ภาพเปลือย” จะเห็นว่าการพยายามให้ภาพเปลือยสาธิตถึงคุณธรรมความสุจริตใจนั้น ถึงที่สุดก็เป็นไปไม่ได้เพราะมันขัดแย้งในตัวเอง หากแสดงให้เห็นถึงความเสแสร้งและล้นเกินเสียมากกว่า ในทำนองเดียวกัน ก็อาจถามต่อไปได้ว่าภาพตัวแทนของความดีและคนดีที่ล้นหลาม (วัฒนธรรมคนดี) สามารถทำหน้าที่เป็นตัวอย่างสาธิตคุณความดีได้จริงหรือ ภาพตัวแทนเหล่านี้เป็นตัวแทนของสิ่งที่ดีงามไร้มลทินจริงหรือ? ภาพตัวแทนทำหน้าที่เป็นตัวแทนได้หรือไม่?

นอกจากปริมณฑลทางศิลปะแล้ว การสื่อแทน/เป็นตัวแทน ยังมีบทบาทสำคัญในโลกการเมืองสมัยใหม่ ในโลกที่สถานะทางการเมืองของอัตบุคคลไม่ได้เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอีกต่อไป การเป็นตัวแทนคือการเชื่อมโยงสถานะทางการเมืองของอัตบุคคลเข้ากับอำนาจการเมืองแบบสมัยใหม่ – อำนาจอธิปไตย ในโลกของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อำนาจนี้ต้องถูกแสดงออกและถูกใช้ผ่าน “ตัวแทน” ที่ได้รับมอบอาณัติจากการเลือกตั้ง ตัวแทนจึงถูกถือว่าเป็นภาพตัวแทนของฉันทามติและเจตจำนงของ “ประชาชน”

แต่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนยุคหลัง 1989 หลังจากอารยธรรมโลกสมัยใหม่ ทั้งในซีก “ตะวันตก” และ “ตะวันออก”ได้ผ่านฝันร้ายของการสังหารหมู่และสงครามมาหลายระลอกในนามของการอ้างความเป็นตัวแทนในรูปลักษณ์ต่างๆ (ที่เมื่อพ้นจากการเข่นฆ่าในนามของพระเจ้า สงครามก็เกิดขึ้นในนามของความดีงามบ้าง ความยุติธรรมบ้าง ความเท่าเทียมบ้าง กระทั่งในนามของมนุษยธรรมก็เคยมาแล้ว) ในสภาพเช่นนี้ การเชื่อว่าสิทธิเสียง อาณัติ และตัวตนทางการเมืองสามารถถ่ายโอนผ่าน “ตัวแทน” กันได้ ย่อมสูญสิ้นความชอบธรรมไปในสายตาคนจำนวนไม่น้อย

อย่าว่าแต่ความสิ้นศรัทธาในการเป็นตัวแทนเลย แม้แต่ศรัทธาในการ “เปล่งเสียง” ของตัวเองแทนตัวเองก็อาจจะถึงขั้นมลายไปด้วย “ความเชื่อ” “อุดมคติ” “อุดมการณ์” “ศรัทธา” ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนกลายเป็นคำที่หากไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป ก็มองโลกอย่างฉาบฉวยและตื้นเขินเกินไป หรือไม่ก็เป็นคำที่แปดเปื้อนเกินไป และอาจกระทั่งน่าขันน่าหัวร่อจนเกินไป

ปฏิกิริยาเหล่านี้ ในบางมุมมองถูกขนานนามว่า คือ disillusionment — ตาสว่าง! (แต่เป็นคนละกรณีกับอาการ
ตาสว่างในบ้านเมืองนี้ ณ เวลานี้ ที่น่าจะตรงกับที่เรียกว่า eyes wide open เสียมากกว่า!) อาการ disillusionment ของยุคหลัง(ผลพวงจาก)1989 คือสิ่งที่มีผู้นิยามไว้ว่าเป็น “enlightened false consciousness” — จิตสำนึกที่
ผิดพลาด-ที่รู้แจ้งแล้ว

ในสื่ออเมริกัน มีนักสังเกตการณ์ที่ออกตัวว่าตนเองเป็นคนรุ่นเจ็นเอ็กซ์ เปิดประเด็นว่าอารมณ์เสียดเย้ย-irony ซึ่งเคยเป็นอารมณ์แห่งยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ในทศวรรษ 90’s ที่มีนัยของการวิพากษ์บ่อนเซาะอำนาจ (เช่นวิถีปฏิบัติของวงกรันจ์ วงพังค์) ปัจจุบันได้ถลำลึกถึงขั้นกลายเป็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ยุคนี้พวกเจ็นวาย ที่ทำราวกับทุกอย่างไร้ความหมายและความจริงแท้ หลงใหลกับการสร้างความเป็นปัจเจกของตนด้วยการหยิบยืมแฟชั่นและกลิ่นไอจากอดีตมาประดับประดาตนเองและการล้อเลียนตนเอง ฯลฯ

นี่เป็นอาการที่พบได้ในหมู่คนรุ่นใหม่ชนชั้นกลางผิวขาวที่มีฐานะการเงินมั่นคงในประเทศโลกที่หนึ่ง คนที่มีความเป็นอยู่สุขสบายมากเกินไป รับรู้ประวัติศาสตร์มากเกินไป และมีทางเลือกมากเกินไป ที่ส่วนหนึ่งนำมาสู่ความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่สามารถสร้างคุณูปการอะไรในทางวัฒนธรรมขึ้นมาได้ใหม่เพราะทุกอย่างถูกทำไปหมดแล้ว อีกทั้งการมีความเชื่อที่จริงจังท้ายที่สุดก็ย่อมจะถูกตีตกไปโดยความเชื่ออีกชุดที่สวนทางกัน เป็นเหตุให้ความพยายามต่างๆ ที่จะสร้างสรรค์หรือเชื่อมั่น อย่างดีที่สุดก็กลายเป็นเรื่องชวนหัว อย่างเลวที่สุดก็กลายเป็นเรื่องน่าดูแคลน ผลที่สุดจึงเกิดกลไกป้องกันตนเองในรูปของวิถีชีวิตที่เสียดเย้ย การมีชีวิตอยู่กับความเสียดเย้ยจึงเป็นการเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะต้องเลือกสมาทานในคุณค่าอะไรบางอย่าง ทั้งในแง่สุนทรียศาสตร์และแง่อื่นๆ อีกทั้งวิถีชีวิตแบบนี้ยังซ่อนความเสี่ยงทางสังคมและการเมืองต่างๆเอาไว้ หรือนัยยะคือ การไม่สมาทานในความเชื่อที่ผูกมัดใดๆนับได้ว่าเป็นการสยบยอมต่ออำนาจทางการเมืองและอำนาจธุรกิจอยู่ในที?

ทัศนะนี้ถูกตอบโต้มากมาย หนึ่งในนั้นมาจากผู้ที่ออกตัวว่าเป็นคนรุ่นเจ็นวาย ที่แย้งว่า เอาเข้าจริง อารมณ์เสียดเย้ยนั้นหมดสิ้นไปตั้งแต่ยุค 90’s แล้ว เพราะในยุคนั้น แม้แต่ความเสียดเย้ย (เช่นหากจะมองว่าวงกรันจ์ วงพังค์ ทั้งหลายเคยบ่อนเซาะวัฒนธรรมกระแสหลักด้วยท่าทีแบบเสียดเย้ยนั้น) ก็ถูกดูดกลืนหมดไปแล้วโดยบรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่ (ตัวอย่างในอุตสาหกรรมดนตรีก็เช่นยักษ์ใหญ่อย่าง MTV) คนรุ่นใหม่จึงไม่วางใจแม้แต่ในความเชื่อที่เสนอตัวว่าตนเองต่อต้านวัฒนธรรมหลัก เพราะรู้ว่าทุกอย่าง แม้แต่ตัววัฒนธรรมต่อต้านเอง ก็จะถูกกลืนกลายจนเป็นเพียงแค่แฟชั่นชนิดหนึ่งและไร้ซึ่งความหมาย(ทางการเมือง)ใดๆ

แม้จะเห็นด้วยกับนักวิจารณ์คนแรกว่าคนรุ่นใหม่ดูจะเฉยชาต่อการสมาทานยึดถือในความเชื่อใหญ่ๆ แต่เขากลับเห็นว่าความเฉยชานี้ไม่เกี่ยวอะไรกับความเสียดเย้ยซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตนเองชนิดหนึ่งเลย หากเป็น “อาการบ่งชี้โรค” ของสังคมยุคทุนนิยมตอนปลายมากกว่า เพราะในยุคนี้ บรรษัทขนาดใหญ่กินรวบได้ทุกอย่าง ทำให้ถึงที่สุดแม้แต่การสมาทานความเชื่อทางการเมืองก็อาจกลายเป็นแค่อัตลักษณ์ชนิดหนึ่งของผู้บริโภค ที่แสดงออกกันได้ผ่านหนังสือที่อ่าน เสื้อผ้าที่ใส่ เพลงที่ฟัง และหนังที่ดู ในแง่หนึ่ง คุณค่าและความเชื่อต่างๆ จึงเป็นแค่เครื่องประดับใน
ตู้เสื้อผ้าแห่งอัตลักษณ์ของคนคนหนึ่งเท่านั้น (หรือโลกที่มีนักสังคมวิทยามองว่าความเป็นพลเมืองได้สูญสลายไปหมดแล้ว เหลือแต่ความเป็นผู้บริโภคเท่านั้น) การเปลี่ยนแปลงนี้ยังถูกทำให้หนักข้อขึ้นผ่านวิถีสื่อสารใหม่ๆ อย่าง
โซเชียลมีเดีย ที่กระตุ้นให้คนแสดงออกซึ่งคุณค่าต่างๆ ต่อสาธารณะในรูปของการโปรโมทตนเองเหมือนการโฆษณาชนิดหนึ่งและจะเป็นที่ยอมรับและยกย่องได้เพียงผ่านปุ่ม “ไลค์” ในวิถีทางเช่นนี้ การกระทำและการแสดงออกต่างๆ ไม่ว่าจะในทางสุนทรียศาสตร์หรือการเมืองหรืออื่นๆ ไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงความเชื่อในคุณค่านั้นๆอีกต่อไป แต่กลายเป็นวิธีสร้างแบรนด์และแยกแยะตัวเราให้แตกต่างจากปัจเจกบุคคลอื่นๆ

ในสายตาของเขา คำถามที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราควรจะมีท่าทีแบบเสียดเย้ยหรือจริงใจ หรือควรจะหยันโลกหรือรู้จักสมาทานในอุดมการณ์ความเชื่อ แต่อาจอยู่ที่ว่า เราควรจะอยู่กันอย่างไรในโลกที่ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจที่
แข็งกร้าว การครอบงำของบรรษัทขนาดยักษ์ และเมื่อหลักยึดเหนี่ยวทางความคิดต่างๆกลายเป็นไม้หลักปักเลนมากจนเกินไป

ในบางมุมมอง คำถามแบบนี้ อาจจะยัง “ใหญ่” เกินไปอยู่ดี แต่หากพยายามมองว่าประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของมนุษย์เรายังมีความหมายอะไรอยู่บ้าง อย่างน้อยๆตามตำนานก็ว่ากันว่า ในเบื้องต้น the Dog ก็ยังเอ่ยปากกับ
องค์ราชันย์มหาราชว่า “ช่วยหลบออกไปหน่อย อย่ายืนบังแดดข้า