ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน

ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน
ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน

รวมเรื่องสั้นไทย 13 เรื่องโดย 12 นักเขียน
สุจิตต์ วงษ์เทศ, วิทยากร เชียงกูล, ลาว คำหอม, วาณิช จรุงกิจอนันต์, วัฒน์ วรรลยางกูล, ศรีดาวเรือง,
ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, กรณ์ ไกรลาศ, มานพ ถนอมศรี, นิเวศน์ กันไทยราษฎร์, สำรวม สิงห์, ประทีป ชุมพล

คัดสรรและเขียนบทวิเคราะห์โดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน
พร้อมภาคผนวกคำนิยมโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
คำวิจารณ์โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
คำตามโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2553
ปกอ่อน ราคา 350 บาท
ปกแข็ง ราคา 450 บาท

คำนำสำนักพิมพ์

หนังสือเล่มนี้เป็นการจัดพิมพ์ในพากย์ภาษาไทยของ In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era หนังสือรวมเรื่องสั้นไทยจำนวน 13 เรื่องที่นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน และรุจิรา เมนดิโอเนส พร้อมบทนำขนาดยาวเกือบ 100 หน้าโดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 2528 โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล ก่อนที่ต่อมาโครงการ Southeast Asia Program Publications ของมหาวิทยาลัยคอร์แนลจะนำไปพิมพ์เพื่อใช้เป็นตำราสำหรับผู้สนใจและผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การนำมาทำเป็นพากย์ภาษาไทยในชื่อ ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน ครั้งนี้ ได้รวบรวม
ต้นฉบับเรื่องสั้นทั้ง 13 เรื่องมาพิมพ์ขึ้นใหม่ โดยชำระเปรียบเทียบกับฉบับพิมพ์ต่างๆ เท่าที่สามารถหาได้ สำนักพิมพ์อ่าน ขอขอบคุณนักเขียนทุกท่านที่อนุญาตให้นำเรื่องสั้นมาตีพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ มีเพียงคุณ “สำรวม สิงห์” ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว และสำนักพิมพ์ยังไม่สามารถหาข้อมูลติดต่อทายาทของท่านได้

สำหรับบทนำนั้น ผู้แปลเป็นภาษาไทย คือ ไอดา อรุณวงศ์ และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ โดยได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งจาก อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ และคุณมุกหอม วงษ์เทศ

นอกจากเหนือจากนี้ ยังมีภาคผนวกชีวประวัตินักเขียนเรื่องสั้นและบทสัมภาษณ์แอนเดอร์สัน และที่เป็นการทำขึ้นใหม่ทั้งหมดอีกขั้น คือการเพิ่มเติมภาคผนวกคำนิยมและคำวิจารณ์จากสามมุมมองคือ จากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการหนังสือเล่มนี้มาด้วยกันกับ “เบน” หรือ อ.เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ตามมาด้วยคำวิจารณ์จาก
อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในฐานะนักวิชาการและนักวิจารณ์วรรณกรรม และคำตามจาก อ. ประจักษ์ ก้องกีรติ ในฐานะคนรุ่นหลังที่ได้นำหนังสือเล่มนี้ไปใช้ในทางวิชาการรัฐศาสตร์ ปิดเล่มด้วย คำส่งท้ายโดยเบเนดิกท์
แอนเดอร์สัน ที่เขียนขึ้นใหม่สำหรับการพิมพ์ฉบับภาษาไทยนี้ หลังจากเวลาผ่านไปร่วมสามสิบปีนับจากที่เขียน
บทนำของหนังสือเล่มนี้ไว้

ในฐานะบรรณาธิการ ออกจะขำขัน (หากมิใช่สับสน) อยู่ในที ในทุกขั้นตอนของการผลิต ว่าจะ “treat” งานชิ้นนี้อย่างไร เริ่มจากฐานะอันแปลกประหลาดสืบเนื่องจากกำพืดข้ามชาติข้ามภาษาสองสามตลบ จากเดิมที่โดยภาษาและเนื้อหาแล้ว เป็นการแปลจากไทยเป็นอังกฤษ มุ่งหมายจะสื่อสารกับคนต่างชาติที่มีความสนใจหรือกำลังศึกษาเรื่องเมืองไทย ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปเกือบสามสิบปีให้หลัง ก็นำกลับมาแปลสื่อสารให้คนไทยได้รับรู้อีกคำรบ (!)

นอกจากนี้ ความคิดผลักดันแต่เดิมนั้น ยังเป็นของคุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเพียงแต่มาขอให้ช่วยแปลบทนำภาษาอังกฤษนี้เป็นไทย ครั้นเมื่อแปลเสร็จแล้วเนิ่นนานหลายปีผ่านไป จนคนแปล (หนึ่งในสองคน) กลายมาเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์อ่าน (สำนักพิมพ์คนละหัว ที่ร่วมหัวจมท้ายและร่วมกระเป๋ากับ
ฟ้าเดียวกัน) ก็พลอยต้องผันตัวมาบรรณาธิการงานแปลของตัวเอง และถึงขั้นสานต่อภารกิจ กลายเป็นผู้จัดพิมพ์
เสียเอง

และด้วยเหตุที่อายุของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ มากพอประมาณใกล้เคียงกันกับอายุของผู้ผลักดันและผู้สานต่อ
จึงเห็นว่าควรจะได้มีการชำระและประเมินสถานะของมันเยี่ยงงานประวัติศาสตร์ ชิ้นหนึ่งด้วย จนเป็นที่มาของการ
เพิ่มเติมภาคผนวกคำนิยม คำวิจารณ์และคำตาม แถมด้วยบทส่งท้ายจากคนเขียนบทนำ เพื่อใคร่ครวญถึงสถานะและความหมายของงานชิ้นนี้เมื่อเวลาสามสิบปีผ่านไป สัดส่วนของข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นคล้ายๆ หนังสือรวมคำนำ พอๆ กับที่เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น (!)

เส้นแบ่งอันพร่าเลือนของความพยายามที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ผลิตซ้ำ แต่ทำใหม่” นี้ ยังสะท้อนออกมาใน
ความคิดรวบยอดในงานศิลปกรรมของหนังสือเล่มนี้ ที่มีคุณประชา สุวีรานนท์เป็นผู้ดูแลภาพรวม ภาพประกอบเรื่องสั้นทั้งหมดนั้น เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในเทคนิคภาพพิมพ์โลหะ (etching) แบบ dry point ฝีมือ อ. วิทยา
หาญวารีวงศ์ศิลป์ ที่ตั้งใจให้เป็นภาพ abstract ที่ตัดตัวเองแยกจากการแบกเนื้อหาและอารมณ์ในบริบทเดิม มานำเสนอใหม่โดยเปิดกว้างให้กับการหาที่ทางของความหมายในบริบทปัจจุบัน

ไม่ต่างจากปัญหาของการสานต่อ “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ในความหมายที่มักพูดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ที่ว่าด้วยวีรกรรมและโศกนาฏกรรมของคนรุ่นนั้น รุ่นที่เรียกขานกันว่า “รุ่นตุลา” เป็นปัญหาของวาทกรรมว่าด้วยภารกิจ ชนิดที่คนรุ่นหลังยังลังเลว่าจะแบกต่อไปหรือไม่ อย่างไร และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่เคยมีคนเปรียบเปรยกันว่าเป็นแค่ปัญหา “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพราะโจทย์ที่หนังสือ “ผลิตซ้ำ แต่ทำใหม่” เล่มนี้หว้งว่าบรรลุให้ได้ คือการอ่านให้ออก ว่าส่วนไหนคือเหล้า ส่วนไหนคือขวดที่เปลี่ยนไป

แต่ทั้งนี้ ก็โดยที่หากเรายังเชื่อมั่น ว่าเหล้าที่ว่ากันว่ายังเหลืออยู่นั้น เป็นของจริง

ไอดา อรุณวงศ์