ตอนที่สหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลายเมื่อปี 1991 มีคนจำนวนไม่มากนักคิดว่าคิวบาจะอยู่รอดเป็นประเทศสังคมนิยมต่อไปได้ เพราะประเทศนี้ผูกพันกับโซเวียตมาก เงินกู้ที่เคยได้มาง่ายๆ น้ำมันราคาแสนถูก มลายหายไปจนสิ้น ราคาน้ำตาลคิวบาที่ขายได้แพงลิบลิ่วเกินความจริงของตลาดเพราะการอุดหนุนจากสหภาพโซเวียต ก็หายวับไปกับตา ไม่มีใครในโลกนี้จะยอมซื้อในราคานั้นอีกต่อไปแล้ว เศรษฐกิจคิวบาอันแสนจะเปราะบางซึ่งหล่อเลี้ยงมาด้วยการอุดหนุนอันมากมายมหาศาล และยืนอยู่ได้เพราะสินค้าปฐมไม่กี่ตัวอันได้แก่ น้ำตาลและยาสูบ ถึงแก่พังครืนลงอย่างไม่เป็นท่า
คิวบาก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในค่ายสังคมนิยม คือเดินมาถึงทางแพร่งที่ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน ระหว่างการละทิ้งแนวทางสังคมนิยม หรือการปรับปรุงแนวทางใหม่เพื่อความอยู่รอด อันโตนีโอ ราเวโล นาริโน นักเศรษฐศาสตร์คิวบา พูดไว้อย่างน่าฟังว่า “เมื่อโซเวียตล่มสลาย พวกเราก็ต้องเปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนการแต่งงานนั่นแหละ ถ้าคนหนึ่งตาย คุณจะหวังว่าอีกคนจะใช้ชีวิตอยู่กับคนตายก็คงจะเป็นไปไม่ได้” ถ้าเขาพูดจบแค่นั้นเราก็คงตีความได้ว่า คิวบาคงเปลี่ยนไปแล้ว แต่เขาพูดต่อว่า “พวกเรากำลังพยายามใช้ชีวิตกับคนตาย”