ฝุ่นตลบหลังมีคนถูกฆ่าตายตรงราชประสงค์

ภายหลังการประท้วงของคนเสื้อแดงถูกสลายอย่างโหดร้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 มีเรื่องเล่ามากมายจากหลายฝ่ายว่าเกิดอะไรขึ้น มีคำอธิบายมากมายว่าทำไมจึงเกิดเช่นนั้น มีข่าวข้อมูลสารพัดประกอบเรื่องและคำอธิบายเหล่านั้น และมีคำถามมากเหลือเกินที่ไม่มีคำอธิบายหรือคำตอบที่น่าพอใจ
*
แทบทุกวินาทีของเหตุการณ์มีประสบการณ์ตรงของผู้คนซึ่งมีส่วนร่วม มองเห็น และเกี่ยวข้องในต่างสถานะกัน จึงมองจากคนละมุม ณ วินาทีนั้นๆ ทุกคนมีความนึกคิดของตนเอง มีทัศนะทางการเมือง อคติ ความปรารถนา อุดมการณ์ และศีลธรรมของตน พวกเขาบันทึกความทรงจำตามมโนคติของตน ทุกคนรับรู้เหตุการณ์ตามจริตวิสัยของตน
*
แต่ความทรงจำของปัจเจกบุคคลจะแปรเปลี่ยนเลือนหายไปตามกาลเวลา ประวัติศาสตร์จะถูกบันทึกตามความรับรู้ทรงจำที่หลงเหลืออยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เรื่องเล่า คำอธิบาย ข้อมูล ความทรงจำ และคำถามอีกมากมายจะถูกทิ้งให้เลือนหายไปในที่สุด หรือจะถูกผลักไสให้ไปฝังตัวอยู่เงียบๆ เป็นความทรงจำนอกรีตตามชายขอบของความรู้ประวัติศาสตร์ ถ้าโชคดี สักวันหนึ่งก็อาจถูกรื้อฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ ถ้าโชคร้าย ก็จะกลายเป็นแค่ความทรงจำส่วนตัวของคนไม่กี่คนที่มีประสบการณ์ตรง แต่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ หรือบอกไปก็ไม่มีใครสนใจสักกี่คน เพราะมันไม่ลงตัวกับความรู้หลักที่ครอบงำอยู่
*
ความทรงจำซึ่งหาที่ทางในประวัติศาสตร์ไม่เจอ ย่อมไม่มีทางเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์
*
ประวัติศาสตร์โหดร้ายเช่นนี้แหละ นอกจากจะหมายถึงโศกนาฏกรรมที่มีคนถูกฆ่าตายตรงราชประสงค์แล้ว ยังหมายถึงความรู้ที่หลงเหลืออยู่จากการเลือกสรรและต่อสู้กันของความทรงจำต่างๆ มากมาย ผู้คนไม่น้อยใช้ชีวิตที่เหลือกับความทรงจำนอกรีตของตน ถ้าโชคดีคงมีโอกาสพูดออกบอกได้สักวันหนึ่ง ถ้าโชคร้าย โศกนาฏกรรมที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเขาไปชั่วชีวิต ก็จะกลับกลายเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะสังคมไม่ยอมรับให้ดำรงอยู่อย่างเปิดเผย
*
ผู้เขียนผ่านเหตุการณ์อันโหดร้ายมาก่อน มีโอกาสดีที่มีอาชีพและชีวิตที่สามารถคิดกับประวัติศาสตร์โหดร้ายและความทรงจำทั้งของสังคมและปัจเจกบุคคลอย่างเป็นงานเป็นการ แต่พ้นจากการหมกมุ่นหรือถูกหลอกหลอนจากอดีตได้ อาจเรียกได้ว่าใกล้ชิดเชิงประสบการณ์มากพอ แต่มีระยะห่างมากพอเช่นกันที่จะมองย้อนกลับไปทำความเข้าใจและเรียนรู้ด้วยปัญญา
*
ความปรารถนาของข้อเขียนชิ้นนี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะไม่ยอมให้สังคมไทยปล่อยประวัติศาสตร์โหดร้ายหลุดลอยนวลอย่างที่เคยเป็นมาอีก หรืออย่างน้อยก็ทำให้ระยะเวลาหลอกตัวเองสั้นที่สุด ข้อเขียนชิ้นนี้จะถกเถียงในประเด็นใหญ่ประการเดียว นั่นคือ โศกนาฏกรรมตรงราชประสงค์กำลังจะถูกปรับแปลงลดทอนลงเป็นประวัติศาสตร์อย่างไร
*
หากเป็นไปได้ เราท่านจะได้รู้เท่าทันความฉ้อฉลของประวัติศาสตร์โหดร้าย และอย่าปล่อยให้มันมีอำนาจมากนักหรือนานเกินไปนัก อย่างที่สังคมไทยปล่อยให้เกิดขึ้นมาแล้วกับหลายกรณี รวมทั้งกรณีสวรรคต 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 และกรณีใหญ่เล็กอื่นๆ อีกมาก
*
ภายใต้ประเด็นใหญ่นี้ จะพิจารณากระบวนการ (วิธีการ) 5 แบบที่สังคมไทยใช้จัดการโศกนาฏกรรมให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สังคมพอรับได้หรือยินดีที่จะรับรู้ ขณะที่ความทรงจำและคำถามสำคัญๆ จะถูกมองข้าม ลบทิ้ง หรือผลักไสออกไปเป็นพวกนอกรีตนอกรอย แต่ก่อนจะอภิปรายถึงกระบวนการเหล่านั้น จะขอแสดงความเห็นต่อภาวะที่มีเรื่องเล่าและความทรงจำมากมายเกินกว่าสังคมจะรับได้ และในตอนท้าย จะขออภิปรายคำถามสำคัญแค่ไม่กี่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการประท้วงของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา
****