อ่านตะเลงพ่าย : สงสัยพระนเรศวรใส่ “รองเท้า” ทำยุทธหัตถีหรือเปล่า?

หากพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยที่มีช่วงเวลายาวนานนับพันปี ก็ต้องยอมรับว่าคงจะมีเพียงไม่กี่ตอนที่คนไทย “นึกออก” ในจำนวนนั้นน่าจะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ทุกคนต้องร้อง “อ๋อ” แม้จะจำรายละเอียดไม่ได้เลยก็ตาม นั่นคือฉากการทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี
*
แต่น่าเสียดายที่ฉาก “สุดฮ็อต” นี้ กลับไม่มีหลักฐานประเภท eye-witness account เลย ไม่ว่าจะเป็นเอกสารของไทยหรือของต่างประเทศ เอกสารส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ล้วนแล้ว แต่เป็น “คำบอกเล่า” ที่เอาแน่
เอานอนไม่ได้ ถึงขั้นเลอะเทอะจนถูกลดชั้นกลายเป็น “ตำนาน” สมเด็จพระนเรศวรไปในที่สุด
*
ดังนั้นเราจึง(ยัง)ไม่รู้ว่า ความจริงแล้วพระมหาอุปราชถูกสมเด็จพระนเรศวรฟันขาดคอช้างตามเอกสารฝ่ายไทยและเอกสารฝรั่งในกรุงศรีอยุธยา หรือถูกยิงตายตามพงศาวดารพม่าหรือจดหมายเหตุของบาทหลวง Nicholas Pimonta แม้แต่ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ที่ยอมรับกันว่าแม่นยำที่สุด ก็บันทึกเพียงฉบับเดียวว่าสมเด็จพระนเรศวร “ต้องปืน ณ พระหัษฐขวาหน่อยหนึ่ง” ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ เท่าที่มีอยู่ตอนนี้
ไม่รวมรายละเอียดอีกร้อยแปดที่หาข้อยุติไม่ได้
*
เรื่องจริงอย่างเดียวที่รู้ตอนนี้คือ การยุทธหัตถีเกิดขึ้นจริงแน่ๆ ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร
*
ระหว่างรอให้ข้อเท็จจริงค่อยๆ เผยตัวออกมา ยังมีข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่มีงานวิจัยพูดถึง ไม่มีใครสนใจเพราะหาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไม่ได้เลย
*
นั่นคือสมเด็จพระนเรศวรทรง “ฉลองพระบาท” ทำยุทธหัตถีหรือไม่ ?
*
น่าเสียดายที่เอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยได้เอ่ยถึง “ฉลองพระบาท” หรือ “รองเท้า” คู่ใดๆ ไม่ว่าจะของสมเด็จพระนเรศวรหรือของคนสำคัญคนใดเลย
*
และน่าเสียดายยิ่งกว่า ที่พระราชพงศาวดารกล่าวถึงเครื่องทรงของพระมหาอุปราชในฉากทำยุทธหัตถีไว้อย่างละเอียดว่า

ครั้นเพลาสิบเอ็ดทุ่มพระมหาอุปราชก็สอดสนองพระองค์, ทรงเกราะสุวรรณประดับพลอย สพักสังวาลมรกตสามสาย, ทรงสุวรรณรัตนมหามกุฎ อย่างขัตติยราชรามัญยอดเงื้อมไปหน้า, ดุจเศียรวาสุกรี แล้วทรงเครื่องสำหรับสรรพาวุธพร้อมเสร็จ

แต่ในฉากเดียวกันพระราชพงศาวดารบรรยายเครื่องทรงสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถเพียงว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเครื่องประดับสำหรับราชกษัตริย์ สู่สมรภูมิสงคราม”
*
ปัญหานี้ส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะพวก “ขี้สงสัย” เมื่อได้ชมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร โดยเฉพาะตอนทำยุทธหัตถี ส่วนใหญ่จะทรง “รองเท้าแตะ” มีสายรัดส้น (หน้าตาคล้ายกับรองเท้าแตะที่ฝรั่งตรอกข้าวสารชอบใส่กัน) เช่นที่ อนุสาวรีย์ดอนเจดีย์ สร้างในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคแห่งการบังคับใส่รองเท้าแห่งชาติ อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบปั้นให้สมเด็จพระนเรศวรทรง “รองเท้าแตะ” ออกตะลุมบอนกับพระมหาอุปราช ส่วนชุดทรงเป็นเหมือนที่เห็นได้ทั่วไปในละครโทรทัศน์ ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากตำราทุกเล่มเท่าที่ประเทศนี้จะพึงมี
*
ในขณะที่อนุสาวรีย์อื่นๆ และพระบรมรูปปั้นส่วนใหญ่ก็ทรง “รองเท้าแตะ” ชนิดเดียวกัน
*
ส่วนภาพวาดในฉากนี้ ส่วนใหญ่จะถูกหูช้างบังพระบาท ทำให้มองไม่เห็นว่าทรงใส่รองเท้าหรือไม่ เฉพาะภาพที่เห็นก็จะมีทั้งใส่รองเท้าบ้างและไม่ได้ใส่รองเท้าบ้าง
*
การตีความเพื่อที่จะ “สร้างภาพ” สมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการใส่หรือไม่ใส่รองเท้าที่แตกต่างกันนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเป็นสาระทางประวัติศาสตร์ ไม่ทำให้เกิดการ “พลิก” ประวัติศาสตร์ใดๆ ขึ้นอีกเช่นกัน
*
อาศัยเหตุปัจจัยอันหาสาระไม่ได้เหล่านี้ จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะ “อ่าน” ประวัติศาสตร์ฉากนี้กันใหม่อีกครั้ง ผ่านวรรณคดี ลิลิตตะเลงพ่าย ที่ให้รายละเอียดเรื่องนี้มากที่สุด (จึงเชื่อถือได้น้อยที่สุดในเวลาเดียวกัน)
****