1. เบื้องหลังภาพถ่ายที่อาบู กรออิบ : Standard Operating Procedure”
ในปี 2004 “รายงานทากูบา” (Taguba report) เอกสารสืบสวนของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับการทารุณกรรมนักโทษชาวอิรักในเรือนจำอาบู กรออิบ ชานกรุงแบกแดด ได้ถูกเปิดเผยต่อชาวอเมริกัน รายงานฉบับนี้ชี้ว่านักโทษอิรักถูกกระทำทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจมาตั้งแต่ปี 2003 ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ทำให้หวาดกลัวและอับอาย การข่มขู่และการคุกคามทางเพศ หลังจากที่ข่าวเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้เผยแพร่ออกไป ก็มีการนำภาพถ่ายจากเหตุการณ์ออกมาเผยแพร่ทั้งในสื่ออเมริกันและตามอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ภาพถ่ายเหล่านี้และเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก
เหตุการณ์ที่อาบู กรออิบถูกนำมาสร้างเป็นหนังสารคดีเรื่อง Ghosts of Abu Ghraib โดย Rory Kennedy เมื่อปีที่แล้ว และปีนี้ก็มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อีกในชื่อ Standard Operating Procedure เขียนโดยฟิลลิป กูเรวิตช์ (Philip Gourevitch) และเอรอล มอร์ริส (Errol Morris) อีกทั้งมอร์ริสยังนำมาสร้างเป็นหนังสารคดีในชื่อเดียวกันด้วย
Standard Operating Procedure ( หรือ “ขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติ”) ทั้งในภาคของหนังสือและหนัง ได้ถูกเอียน บูรูมา (Ian Buruma) หยิบยกมากล่าวถึงในบทวิจารณ์ “Ghosts” ซึ่งตีพิมพ์ใน The New York Review of Books ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2008 ที่ผ่านมา
2. มาเกอริต ดูราส์ : ชีวิต ความทรงจำ กับงานรังสรรค์ผ่านเรื่องเล่า
หากกล่าวถึงนักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศส (และผู้กำกับภาพยนตร์) ที่โดดเด่นหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ผู้สร้างงานเขียนไว้จำนวนมากและผลิตภาพยนตร์ไว้จำนวนหนึ่ง และแม้กระทั่งผลงานบางส่วนก็ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาไทย เช่น เขื่อนกั้นแปซิฟิก (The Sea Wall/Un Barrage contre le Pacifique -1950) แรกรัก (L’Amant – 1984) นักเขียนผู้นั้นคือ มาเกอริต ดงนาดิเยอ (Marguerite Donnadieu,1914-1996) หรือที่รู้จักกันภายใต้นามปากกา มาเกอริต ดูราส์ (Maguerite Duras) ดูราส์เป็นชาวยุโรปที่มีชีวิตผ่านบริบทของลัทธิอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่สอง และโลกหลังสงครามโลก เนื่องจากพ่อและแม่ของดูราส์เป็นครูที่เดินทางไปประกอบอาชีพและตั้งถิ่นฐานในดินแดนอาณานิคมอินโดจีนตามคำเชิญชวนของรัฐบาลฝรั่งเศส ดูราส์จึงเกิดและเติบโตในเมืองใกล้กับไซ่ง่อน หากเมื่อถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัยจึงย้ายมาใช้ชีวิตในฝรั่งเศส ดูราส์เคยเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสเหมือนปัญญาชนฝรั่งเศสฝ่ายซ้ายอีกจำนวนมากในทศวรรษ 1930 และมีบทบาททางการเมืองที่เป็นที่รู้กันดีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะผู้ปฏิบัติงานของขบวนการต่อต้านการยึดครองฝรั่งเศสของกองทัพนาซี
บทความ “In Love with Duras” ของเอ็ดมันด์ ไวท์ จาก The New York Review of Books ฉบับ 26 มิถุนายน 2008 เล่าถึงเกร็ดน่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตของดูราส์
3. “ชาวเยอรมันเต็มใจสนับสนุนนาซีเพียงไร ?”
ประชาชนชาวเยอรมันสนับสนุนระบอบฮิตเลอร์มากน้อยเพียงไร ? หากพวกเขาไม่สนับสนุน แล้วเหตุใดจึงไม่ต่อต้าน ? เหตุใดพวกเขาจึงยังสู้รบจนกระทั่งถึงจุดลงเอยอันน่าขมขื่น ? ‘ชาวเยอรมัน’ กับ ‘นาซี’ สัมพันธ์กันอย่างไร ? ใช่พวกเดียวกันหรือไม่ ? การข่มเหงและกวาดล้างชาวยิว ทำให้ชาวเยอรมันเปลี่ยนทัศนคติต่อระบอบนาซีอย่างไร ? หากชาวเยอรมันรู้ถึงเรื่องนี้ พวกเขายอมรับมันได้แค่ไหน ? พวกเขายังคงต่อสู้จนสงครามสิ้นสุดทั้งๆ ที่รู้ถึงอาชญากรรมที่นาซีก่อขึ้น หรือว่าเหตุที่พวกเขาสู้นั้น เป็นเพราะรู้ถึงอาชญากรรมดังกล่าว ?
ในบทความ “How Willing Were They?” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ใน The New York Review of Books ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2008 ริชาร์ด เจ. อีแวนส์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากเคมบริดจ์ ได้หยิบยกข้อถกเถียงข้างต้นซึ่งเกิดขึ้นในหมู่นักประวัติศาสตร์ตั้งแต่หลังการสิ้นสุดลงของจักรวรรดิไรค์ในเดือนพฤษภาคม 1945 จวบจนถึงปัจจุบัน มาเป็นแนวทางในการวิจารณ์หนังสือสองเล่มที่ว่าด้วยเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์ร่วมสมัย นั่นคือ การเรืองอำนาจของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน หรือพรรคนาซีในเยอรมนี ภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นับแต่ปี 1930 และการต่อต้านและกวาดล้างชาวยิวที่เกิดขึ้นตามมา