ปันกันอ่าน

วัยเยาว์ที่ชายแดน

ผู้เขียน : ประพนธ์ เรืองณรงค์
สำนักพิมพ์ : เรือนปัญญา
ปีที่พิมพ์ : 2550
จำนวนหน้า : 112
ราคา : 120 บาท

เรื่องราวจากประสบการณ์ในวัยเด็กของผู้เขียนโดยใช้ฉากท้องเรื่องเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 50-60 ปีก่อน เริ่มเล่าเรื่องด้วยการฉายภาพที่สอดรับกับเหตุการณ์ปัจจุบันเมื่อครอบครัวของอดุลย์ต้องเผชิญชะตากรรมตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เปาะของเขาต้องพิการ ในวันที่เพื่อนของเปาะมาเยี่ยม ผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยให้อดุลย์เป็นผู้บันทึกความหลังของผู้อาวุโสทั้งสาม คือ เปาะเหม ลุงเอี่ยม และอาซุ่นเกียด ซึ่งเป็นไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีนตามลำดับ โดยแต่ละคนเป็นผู้เล่าเรื่องในอดีตของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างในวิถีชีวิต ศรัทธาความเชื่อ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมใต้ชายคาชุมชนเดียวกัน แต่ละเรื่องราวผู้เขียนได้สอดแทรกประวัติสถานที่และบุคคลสำคัญในท้องถิ่นชายแดนใต้ ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษาถิ่น และภาษามลายู ฯลฯ ไว้อย่างกลมกลืน

วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนว่าพื้นที่แห่งนี้ในอดีตดำรงอยู่อย่างสงบด้วยสายสัมพันธ์ของผู้คนต่างวิถี และชวนให้ตั้งคำถามต่อว่าสายสัมพันธ์ดังกล่าวขาดหายไปได้อย่างไร อย่างไรก็ตามตัวละครที่สร้างขึ้นให้เป็นตัวแทนของไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีน ในเรื่องล้วนเป็นคนชั้นกลาง จบการศึกษาขั้นอุดมศึกษา จึงมิอาจกล่าวได้ว่าเป็นภาพแทนของผู้คนในสังคมชายแดนใต้ที่มีหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และชนชั้น ผู้เขียนเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม แต่อาจละเลยการพูดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดูจะเป็นเงื่อนปมของปัญหาที่สำคัญ รวมทั้งให้ภาพเสมือนว่าชุมชนหมู่บ้านเคยอยู่อย่างสงบกระทั่งวันหนึ่งภัยจากภายนอกเข้าคุกคามสร้างความแตกแยกหวาดกลัว แต่ถึงกระนั้นวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจต่อการทำความเข้าใจสังคมชายแดนใต้ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยรับรู้หรือมองข้ามไป