ประเด็นความแตกต่างระหว่าง “ภาพที่ปรากฏ” (appearance) กับ “ความเป็นจริง” (reality) เป็นธีมหลักของวรรณกรรมมาตั้งแต่ยุคละครของเชคสเปียร์ ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มนุษย์พยายามคว้าจับความเป็นจริงที่ผ่านไปแล้วเอาไว้ ความทรงจำถูกบันทึกเป็นรูปวาด เป็นตัวหนังสือ ตำนาน พงศาวดาร รูปปั้น กระนั้น การบันทึกความทรงจำย่อมมีช่องว่างห่างจากความเป็นจริงเสมอ ในยุคสมัยใหม่ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการบันทึกภาพทำให้มนุษย์เชื่อว่าเราสามารถคว้าจับความเป็นจริงของโลกภายนอกได้อยู่มือมากขึ้น การถ่ายภาพ ตลอดจนการถ่ายภาพยนตร์ เปรียบเสมือนการแช่แข็งความเป็นจริง การดักเก็บชั่วขณะของเวลาที่ผ่านพ้นไปไว้บนแผ่นฟิล์ม
โลกยุคสมัยใหม่อาจปลดปล่อยมนุษย์จากกับดักหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นกับดักของขนบธรรมเนียมประเพณี การกำกับพฤติกรรมโดยชุมชน การดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องตามธรรมชาติ ทว่าชีวิตปัจเจกบุคคลที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ทำให้มนุษย์เต็มไปด้วยความแปลกแยก สับสน บิดเบี้ยว เร่งรีบ วรรณกรรมในยุคสมัยใหม่มักสะท้อนสภาวะของมนุษย์ที่หลุดพ้นจากกับดักหนึ่งเพียงเพื่อไปตกอยู่ในกับดักอันใหม่
ฆูลิโอ คอร์ตาซาร์ (Julio Cortázar) เป็นนักเขียนร่วมสมัยกับผู้กำกับภาพยนตร์ มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี (Michelangelo Antonioni) ผลงานของทั้งสองต่างสะท้อนภาพและความสำนึกของมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ Blowup ภาพยนตร์ที่โด่งดังในวงกว้างที่สุดของอันโตนิโอนี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นของคอร์ตาซาร์เรื่อง “Las Babas del Diablo” (The Droolings of the Devil)