รายละเอียด
คำนำสำนักพิมพ์
หนังสือเล่มนี้เป็นการจัดพิมพ์ในพากย์ภาษาไทยของ In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era หนังสือรวมเรื่องสั้นไทยจำนวน 13 เรื่องที่นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน และรุจิรา เมนดิโอเนส พร้อมบทนำขนาดยาวเกือบ 100 หน้าโดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 2528 โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล ก่อนที่ต่อมาโครงการ Southeast Asia Program Publications ของมหาวิทยาลัยคอร์แนลจะนำไปพิมพ์เพื่อใช้เป็นตำราสำหรับผู้สนใจและผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทย
การนำมาทำเป็นพากย์ภาษาไทยในชื่อ ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน ครั้งนี้ ได้รวบรวม
ต้นฉบับเรื่องสั้นทั้ง 13 เรื่องมาพิมพ์ขึ้นใหม่ โดยชำระเปรียบเทียบกับฉบับพิมพ์ต่างๆ เท่าที่สามารถหาได้ สำนักพิมพ์อ่าน ขอขอบคุณนักเขียนทุกท่านที่อนุญาตให้นำเรื่องสั้นมาตีพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ มีเพียงคุณ “สำรวม สิงห์” ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว และสำนักพิมพ์ยังไม่สามารถหาข้อมูลติดต่อทายาทของท่านได้
สำหรับบทนำนั้น ผู้แปลเป็นภาษาไทย คือ ไอดา อรุณวงศ์ และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ โดยได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งจาก อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ และคุณมุกหอม วงษ์เทศ
นอกจากเหนือจากนี้ ยังมีภาคผนวกชีวประวัตินักเขียนเรื่องสั้นและบทสัมภาษณ์แอนเดอร์สัน และที่เป็นการทำขึ้นใหม่ทั้งหมดอีกขั้น คือการเพิ่มเติมภาคผนวกคำนิยมและคำวิจารณ์จากสามมุมมองคือ จากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการหนังสือเล่มนี้มาด้วยกันกับ “เบน” หรือ อ.เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ตามมาด้วยคำวิจารณ์จากอ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในฐานะนักวิชาการและนักวิจารณ์วรรณกรรม และคำตามจาก อ. ประจักษ์ ก้องกีรติ ในฐานะคนรุ่นหลังที่ได้นำหนังสือเล่มนี้ไปใช้ในทางวิชาการรัฐศาสตร์ ปิดเล่มด้วย คำส่งท้ายโดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ที่เขียนขึ้นใหม่สำหรับการพิมพ์ฉบับภาษาไทยนี้ หลังจากเวลาผ่านไปร่วมสามสิบปีนับจากที่เขียน
บทนำของหนังสือเล่มนี้ไว้
ในฐานะบรรณาธิการ ออกจะขำขัน (หากมิใช่สับสน) อยู่ในที ในทุกขั้นตอนของการผลิต ว่าจะ “treat” งานชิ้นนี้อย่างไร เริ่มจากฐานะอันแปลกประหลาดสืบเนื่องจากกำพืดข้ามชาติข้ามภาษาสองสามตลบ จากเดิมที่โดยภาษาและเนื้อหาแล้ว เป็นการแปลจากไทยเป็นอังกฤษ มุ่งหมายจะสื่อสารกับคนต่างชาติที่มีความสนใจหรือกำลังศึกษาเรื่องเมืองไทย ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปเกือบสามสิบปีให้หลัง ก็นำกลับมาแปลสื่อสารให้คนไทยได้รับรู้อีกคำรบ (!)
นอกจากนี้ ความคิดผลักดันแต่เดิมนั้น ยังเป็นของคุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเพียงแต่มาขอให้ช่วยแปลบทนำภาษาอังกฤษนี้เป็นไทย ครั้นเมื่อแปลเสร็จแล้วเนิ่นนานหลายปีผ่านไป จนคนแปล (หนึ่งในสองคน) กลายมาเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์อ่าน (สำนักพิมพ์คนละหัว ที่ร่วมหัวจมท้ายและร่วมกระเป๋ากับฟ้าเดียวกัน **หมายเหตุ ต่อมาได้แยกขาดจากกันเป็นอิสระโดยสิ้นเชิงแล้วในปี 2555***) ก็พลอยต้องผันตัวมาบรรณาธิการงานแปลของตัวเอง และถึงขั้นสานต่อภารกิจ กลายเป็นผู้จัดพิมพ์เสียเอง
และด้วยเหตุที่อายุของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ มากพอประมาณใกล้เคียงกันกับอายุของผู้ผลักดันและผู้สานต่อจึงเห็นว่าควรจะได้มีการชำระและประเมินสถานะของมันเยี่ยงงานประวัติศาสตร์ ชิ้นหนึ่งด้วย จนเป็นที่มาของการเพิ่มเติมภาคผนวกคำนิยม คำวิจารณ์และคำตาม แถมด้วยบทส่งท้ายจากคนเขียนบทนำ เพื่อใคร่ครวญถึงสถานะและความหมายของงานชิ้นนี้เมื่อเวลาสามสิบปีผ่านไป สัดส่วนของข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นคล้ายๆ หนังสือรวมคำนำ พอๆ กับที่เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น (!)
เส้นแบ่งอันพร่าเลือนของความพยายามที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ผลิตซ้ำ แต่ทำใหม่” นี้ ยังสะท้อนออกมาในความคิดรวบยอดในงานศิลปกรรมของหนังสือเล่มนี้ ที่มีคุณประชา สุวีรานนท์เป็นผู้ดูแลภาพรวม ภาพประกอบเรื่องสั้นทั้งหมดนั้น เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในเทคนิคภาพพิมพ์โลหะ (etching) แบบ dry point ฝีมือ อ. วิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์ ที่ตั้งใจให้เป็นภาพ abstract ที่ตัดตัวเองแยกจากการแบกเนื้อหาและอารมณ์ในบริบทเดิม มานำเสนอใหม่โดยเปิดกว้างให้กับการหาที่ทางของความหมายในบริบทปัจจุบัน
ไม่ต่างจากปัญหาของการสานต่อ “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ในความหมายที่มักพูดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ที่ว่าด้วยวีรกรรมและโศกนาฏกรรมของคนรุ่นนั้น รุ่นที่เรียกขานกันว่า “รุ่นตุลา” เป็นปัญหาของวาทกรรมว่าด้วยภารกิจ ชนิดที่คนรุ่นหลังยังลังเลว่าจะแบกต่อไปหรือไม่ อย่างไร และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่เคยมีคนเปรียบเปรยกันว่าเป็นแค่ปัญหา “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เพราะโจทย์ที่หนังสือ “ผลิตซ้ำ แต่ทำใหม่” เล่มนี้หว้งว่าบรรลุให้ได้ คือการอ่านให้ออก ว่าส่วนไหนคือเหล้า ส่วนไหนคือขวดที่เปลี่ยนไป
แต่ทั้งนี้ ก็โดยที่หากเรายังเชื่อมั่น ว่าเหล้าที่ว่ากันว่ายังเหลืออยู่นั้น เป็นของจริง
ไอดา อรุณวงศ์