ชั่วโมงก่อน•เทวดา•ฟ้า•ลุกไหม้ จุดไฟการเขียนอีสานในห้องสมุด | Isan Ablaze: Trailblazing Literature for School Libraries

จุดไฟสร้างสรรค์และจุดไฟทำลายขีดจำกัดการอ่านเขียนอีสาน ให้ครบทุกอำเภอในภาคอีสานไปด้วยกัน

โครงการระดมทุน | Fundraising Campaign

"ชั่วโมงก่อน•เทวดา•ฟ้า•ลุกไหม้ จุดไฟการเขียนอีสานในห้องสมุด"

"Isan Ablaze: Trailblazing Literature for School Libraries"

จัดหนังสือเข้าชุดเป็นสองรุ่นให้เลือก

ก. รุ่นเยาว์ ราคา 550 บาท สำหรับส่งไปโรงเรียนมัธยม ประกอบด้วย 1) “เทวดา" เรื่องสั้นภาษาไทยและอังกฤษโดย ลาว คำหอม 2) "ฟ้าบ่กั้น" รวมเรื่องสั้นโดย ลาว คำหอม 3) "ท่งกุลาลุกไหม้" เรื่องสั้นโดยฆวาน รูลโฟ แปลจากสเปนเป็นอีสานโดย พีระ ส่องคืนอธรรม

ข. รุ่นใหญ่ ราคา 800 บาท สำหรับส่งไปยังมหาวิทยาลัย ประกอบด้วยสามเล่มข้างต้นและเพิ่ม “ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม” โดย ภู กระดาษ

 

ส่งแล้ว 31 ชุด ไปยัง 21 จาก 291 อำเภอในภาคอีสาน!

รายชื่อห้องสมุดที่ได้รับหนังสือ

ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ทางสำนักพิมพ์อ่านได้จัดส่งหนังสือชุดนี้ไปยังห้องสมุดที่ต่างๆ ตามความจำนงเป็นการเฉพาะของผู้ซื้อ ตามรายชื่อที่ได้รับการขานรับจากครูอาจารย์ บรรณารักษ์ หรือผู้ดูแลห้องสมุดในที่ต่างๆ และตามการเลือกสรรจากห้องสมุดที่ทางเราเคยส่งไปแล้ว รายชื่อรอบแรกที่เรากำลังจัดส่งนี้มีได้แก่

  • โรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
  • โรงเรียนเลิงนกทา
  • โรงเรียนคูซอดประชาสรรค์
  • โรงเรียนดอนจานวิทยาคม
  • โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม
  • โรงเรียนนครพนมวิทยาคม
  • โรงเรียนรัตนบุรี
  • โรงเรียนเขื่องในพิทยาคาร
  • ห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครอุดรธานี
  • โรงเรียนภูเขียว
  • โรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร
  • เรือนจำจังหวัดชัยภูมิ
  • โรงเรียนคำเขื่อนแก้ววิทยาคม
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
  • สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ระดับมัธยมศึกษา
  • โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน
  • โรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถี) ราษฎร์รังสฤษดิ์
  • โรงเรียนเทศบาลบ้านท่าพระ
  • โรงเรียนบ้านดงบัง
  • โรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์
  • โรงเรียนกุสุมาลย์วิทยาคม
  • โรงเรียนบ้านหนองแสง
  • โรงเรียนสตรีศึกษา (อ.เมืองร้อยเอ็ด)
  • โรงเรียนบ้านจาน
  • โรงเรียนช้างมิ่งพิทยานุกูล
  • โรงเรียนหนองเหล็กศึกษา
  • โรงเรียนบ้านไผ่ศึกษา
  • ห้องสมุดสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • และ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา

ประชาสัมพันธ์ #1

โครงการระดมทุน | Fundraising Campaign
ชั่วโมงก่อน•เทวดา•ฟ้า•ลุกไหม้
จุดไฟการเขียนอีสานในห้องสมุด
Isan Ablaze:
Trailblazing Literature for School Libraries
--
นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา | แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี

การมีหนังสือแปลกๆสักสามสี่เล่มหลบมุมอยู่ในห้องสมุด อาจไม่มีผลอะไรที่วัดได้มาก แต่ใครจะรู้ อนาคตนักเขียน นักอ่าน นักวิจารณ์ นักแปล จากภาคอีสานสักคน เธออาจกำลังขะมักเขม้นอ่านหนังสือในห้องสมุดที่ไหนสักแห่ง

ให้เธอได้เห็นการเขียนที่ต่อยอดขึ้นจากตัวตนและสิ่งแวดล้อมของเธอ ให้เธอได้เอะใจเสียตั้งแต่อยู่ในวัยเรียนว่าการใช้ความเป็นท้องถิ่นในการอ่านเขียนนั้นนำพาเราเข้าถึงโลกกว้างได้ ไม่ใช่กำแพงที่ต้องฝ่าข้าม

เรามีโครงการส่งหนังสือที่จะจุดไฟการเขียนอีสานไปยังห้องสมุดสถาบันการศึกษา ทั้งในความหมายของการสร้างสรรค์และทำลาย หนังสือมีได้แก่

1. "ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม" เรื่องสั้น 13 เรื่อง ของ ภู กระดาษ
2. “เทวดา | The Deva” เรื่องสั้น 1 เรื่องของ ลาว คำหอม ภาษาไทยคู่ฉบับแปลภาษาอังกฤษ พร้อมชีวประวัติอย่างย่อของผู้เขียน
3. “ฟ้าบ่กั้น” รวมเรื่องสั้น 17 เรื่องของลาว คำหอม พร้อมประชุมบทวิจารณ์และวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์อีกทีเพื่อดักตีการอ่านแบบที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอีสาน
4. “ท่งกุลาลุกไหม้” รวมเรื่องสั้น 17 เรื่องของฆวาน รูลโฟ แปลจากภาษาสเปนเป็นภาษาอีสาน พร้อมอักขรวิธีอีสาน

หนังสือสี่เล่มนี้ครอบคลุมการเขียนอีสานหลายแบบตลอดกระบวนการอ่านเขียน ตั้งแต่การเขียนขึ้นมาเอง, การอ่านแล้วเขียนถึง, การอ่านที่คนอ่านเขียนถึงแล้วเขียนตอบโต้, การอ่านแล้วเขียนขึ้นใหม่ในอีกภาษา, จนกระทั่งการเขียนเพื่อกำหนดวิธีการเขียนภาษาที่ไม่ถูกเขียนในโรงเรียน การเขียนอีสานที่สั่นคลอนสถานะของสิ่งที่เรียกกันว่าวรรณะ--กรรม

จัดเข้าชุดเป็น 2 รุ่นให้เลือก
ก. รุ่นเยาว์ ราคา 550 บาท ประกอบด้วย "เทวดา", "ฟ้าบ่กั้น", "ท่งกุลาลุกไหม้" สำหรับส่งไปยังโรงเรียนมัธยม
ข. รุ่นใหญ่ ราคา 800 บาท ประกอบด้วยสามเล่มข้างต้นและเพิ่ม “ชั่วโมงก่อนพิธีสวนสนาม" สำหรับส่งไปยังมหาวิทยาลัย

จุดไฟสร้างสรรค์และจุดไฟทำลายขีดจำกัดการอ่านเขียนอีสาน ให้ครบทุกอำเภอในภาคอีสานไปด้วยกัน

หากท่านมีสถาบันการศึกษาในใจที่อยากส่งไป (หรือแม้ไม่ใช่ในภาคอีสาน) สามารถแจ้งความประสงค์มาได้ แต่ถ้าไม่มี เราจะจัดส่งไปยังมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่เคยตอบรับการส่งหนังสือซึ่งสำนักพิมพ์อ่านเคยส่งไปในการระดมทุนและการซื้อบริจาคจากผู้อ่านก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นจึงจะขยายไปยังอำเภอที่เรายังไม่เคยส่งหนังสือไป

ในยุคสมัยที่คำว่า “เผาบ้านเผาเมือง”
ยังพัดโหมขึ้นแดงได้ใหม่ในทุกหย่อมหญ้า
เรามาทวงคืนไฟดวงนั้นกันเถอะ
ดวงไฟที่เผาทำลายสิ่งเก่าและจุดประกายสิ่งใหม่
ดวงไฟที่ส่องเปลือยคืนอยุติธรรม
และเผาตอซังอำนวยพืชผลตระการ

ติดต่อแจ้งความจำนงได้ที่บูธสำนักพิมพ์อ่าน S39 โซน C2 หรือทางกล่องข้อความของเพจนี้

#ชั่วโมงก่อนเทวดาฟ้าลุกไหม้ทั้งแผ่นดิน

31 มีนาคม 2562 เผยแพร่ทางเฟ้ซบุ๊ก

ประชาสัมพันธ์ #2

นำเสนอโดย
ภาวดี ประเสริฐสังข์
ผู้กลั่นกรองสำนวนแปล "ท่งกุลาลุกไหม้"

ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีวิชา "ภาษาลาวในชีวิตประจำวัน" เป็นวิชาเลือกยอดนิยมที่จะมีคนสมัครเข้าเต็มเป็นวิชาแรกในทุกๆภาคเรียน ยอดนิยมเพราะได้เกรดง่ายและเพราะ "มันเป็นภาษาของพวกเรา" ในคำบอกเล่าของ "มะปอย" ภาวดี ประเสริฐสังข์ ผู้สำเร็จการศึกษาด้านภาษาไทย จากมมส.

แต่ก่อนหน้าที่ "มะปอย" จะเข้ามมส. ก็อับจนพื้นที่ในโรงเรียนที่การอ่านเขียนภาษาอีสานจะเป็นไปได้อย่างเสรี ตั้งแต่สมัยประถมศึกษา ครูหลายคนก็จะขู่ว่า "ถ้าพูดภาษาอีสานจะปรับ"

มีเพียง "ศรีธนญชัย ฉบับอีสาน" ที่ได้อ่านเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาตอนม.สี่ เท่านั้นที่ฉีกแนวออกมา

เราเชื่อว่าถ้าห้องสมุดโรงเรียนมัธยมในอีสาน มีหนังสือเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้เยาวชนในอีสานได้เห็นการเขียนที่ต่อยอดขึ้นจากตัวตนและสิ่งแวดล้อมของพวกเขา
ให้พวกเขาได้เอะใจเสียตั้งแต่อยู่ในวัยเรียนว่า
การใช้ความเป็นท้องถิ่นในการอ่านเขียนนั้นนำพาเราเข้าถึงโลกกว้างได้ ไม่ใช่กำแพงที่ต้องฝ่าข้าม

และถ้าระดับอุดมศึกษาจะนำไปสอนบ้าง มันก็อาจทำให้วิชาทำนอง "ภาษาลาวในชีวิตประจำวัน" มีความยากขึ้นมาได้--บ้าง

ยิ่งเริ่มได้เร็ว--ยิ่งดี

2 เมษายน 2562 เผยแพร่ทางเฟ้ซบุ๊ก

ประชาสัมพันธ์ #3

"ซุมจังไฮไฟไหม้"
นำเสนอโดย
หมอลำแบ๊ง ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม
บรรณาธิการคำลาว/อีสาน "ท่งกุลาลุกไหม้"
---

ที่ร้านไก่ย่าง "เจ้หวาน" ที่สิงสถิตประจำของหมอลำแบ๊
แบ๊งถามเราว่า กระแสตอบรับวรรณกรรมแปล "ท่งกุลาลุกไหม้" ของเราเป็นยังไงบ้าง
เมื่อเราบอกไปว่าเสียงตอบรับยังมีไม่มากนัก
แต่เท่าที่มี ที่ได้ยินบ่อยที่สุดก็คือ "อ่านยาก"
โดยเฉพาะจากผู้อ่านที่ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาแม่
แบ๊งตอบกลับมาว่า

"มันอ่านยากเพราะบ่มีผู้อื่นเฮ็ด มีแต่ซุมจังไฮไฟไหม้จั่งเฮานี่หละ เจาะกุ่มนี้เลย กุ่มที่มันอ่านบ่ฮู้เลี่ยงหนิ มันจะทำให้ตัวมันเองน่ะได้ตื่นขึ้น จากทุกมายาภาพ แม้กะทั่งตัวภาษา ตัวหนังสือ ที่มันถูกคอบงำตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่"

"ซุม"-แปลว่า "พวก" มีความไม่สุภาพสูงกว่าคำว่า "หมู่"
"จังไฮ"-แปลว่า "จังไร"
ส่วน "ไฟไหม้"-หมายถึงมันจัญไรหลายคักจนไฟไหม้ บ่แม่นจังไฮซื่อๆ ไฟไหม้พ้อม

ร่วมกันสนับสนุนซุมจังไฮไฟไหม้
ช่วยให้ "ภาษาอีสาน" ที่อ่านยากไม่ยากขนาดนั้นอีกต่อไป
ให้ภาษาถิ่นที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ปรากฏเป็นเรื่องธรรมดาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
อย่างไม่ถูกกีดกันวรรณะ-กรรมอีกต่อไป

9 เมษายน 2562 เผยแพร่ทางเฟ้ซบุ๊ก