ปันกันอ่าน

เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์

ผู้เขียน : ปิแยร์ บูร์ดิเยอ
ผู้แปล : ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข
บรรณาธิการแปล : นพพร ประชากุล
สำนักพิมพ์ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ
ปีที่พิมพ์ : 2550
จำนวนหน้า : 144
ราคา : 140 บาท

หนังสือแปลงานของนักคิดคนสำคัญแห่งยุคในบ้านเรานับว่ายังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับงานที่ผลิตออกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ ของบูร์ดิเยอเล่มนี้ถือเป็นหนึ่งในงานแปลคุณภาพจากฝีมือนักแปลรุ่นใหม่ ผ่านการขัดเกลาของบรรณาธิการแปลตัวจริงอย่าง นพพร ประชากุล

ปิแยร์ บูร์ดิเยอ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้มีผลงานโดดเด่นมากมาย มโนทัศน์สำคัญๆ ทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาในผลงานของเขา ได้แก่ คอนเซ็ปต์เรื่อง habitus หรือ “นิจภาพ”, “ทฤษฎีแห่งการปฏิบัติ”, การวิเคราะห์ “ทุนทางวัฒนธรรม”, “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” ฯลฯ ซึ่งนักวิชาการไทยไม่น้อยนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม

หนังสือเล่มนี้แปลจากบทที่ 6 ใน Raisons pratiques. Sur la théorie de l’action. หนังสือรวมบทบทความต่างกรรมต่างวาระที่บูร์ดิเยอหยิบยกหัวข้อที่เป็นปัญหาถกเถียงในวงการวิชาการมาพิจารณาโดยใช้หลักทฤษฎีของเขาเอง สำหรับในบทนี้ถอดมาจากคำบรรยายแก่วิทยาลัยแห่งฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ 1994 วิเคราะห์ให้เห็นกลไกการทำงานของกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น การแลกเปลี่ยนของกำนัล การอุปถัมภ์ กิจการของสถาบันศาสนา การสร้างสรรค์ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สังคมมองว่าดำเนินไปโดยมีคุณค่าเชิงนามธรรมกำกับ บูร์ดิเยอชี้ให้เห็นว่าทรัพย์สินที่ไหลเวียนอยู่ในกิจกรรมเหล่านี้เรียกว่า “ทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์” นั่นก็เพราะ “เป็นทรัพย์สินที่กลบเกลื่อนมิติทางเศรษฐกิจ (ผลประโยชน์) ของมันเอาไว้อย่างแนบเนียน คงเหลือเพียงมิติเชิงสัญลักษณ์ไว้ให้ชื่นชมซาบซึ้งปลื้มปีติ” หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นนัยยะกำกวมของความหมายของทรัพย์สินดังกล่าวและมิติที่ซ่อนอยู่