ความงามข้ามกาลเวลาฯ ของจอห์น เลน:การเมืองของการมองความงาม

เท่าที่จำความได้ นอกจากหนังสือเรียนที่ถูกบังคับซื้อในตอนเด็กแล้ว ผมแทบไม่เคยตัดสินใจซื้อหนังสือเพียงเพราะชื่อบนปกมาก่อน แต่กับหนังสือ ความงามข้ามกาลเวลา: สุนทรียธรรมในศิลปะและชีวิตประจำวัน (Timeless Beauty: In the Arts and Everyday Life) กลับทำให้ผมซื้อโดยแทบไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาภายในเลย สาเหตุมิใช่ด้วยความชื่นชอบหรือประทับใจอะไรเป็นพิเศษ แต่กลับเป็นด้วยเหตุผลตรงกันข้าม

ชื่อหนังสือเสมือนกำลังประกาศว่า ในโลกนี้มีความงามบางอย่างที่เป็นอมตะแท้จริงลอยข้ามพ้นเหนือกาลเวลา ในขณะที่ผมเชื่อว่า ความงามเป็นสิ่งสมมติ มิใช่เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม อะไรงามหรือไม่งามเป็นเพียงการประเมินคุณค่ามากกว่าข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงไม่มีความงามที่จริงแท้สมบูรณ์ มีแต่ความงามแบบสัมพัทธ์เท่านั้น ซึ่งมิใช่เพียงตัวผมเท่านั้นที่เชื่อเช่นนี้ แต่ความคิดส่วนใหญ่ในปัจจุบันต่อประเด็นเรื่องความงามก็มีลักษณะยอมรับเกือบทั่วไปแล้วว่าเป็นเรื่องอัตวิสัย จนป่วยการที่จะเสียเวลามานั่งถกเถียงกันว่าอะไรงามและอะไรไม่งาม แม้แต่ในแวดวงศิลปะเองก็แทบไม่ได้สนใจพิจารณาเรื่องความงามกันมากมายเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้วเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ในทันทีที่เห็นชื่อหนังสือ (โดยเฉพาะเห็นชื่อผู้แต่งซึ่งถือว่าเป็นนักการศึกษาทางด้านศิลปะที่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางพอสมควร) ผมจึงรู้สึกประหลาดใจว่า ผู้แต่งหนังสือตั้งใจที่จะเสนอความคิดในแบบที่ชื่อหนังสือได้บอกไว้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงโวหารของการตั้งชื่อหนังสือให้ดูน่าสนใจเท่านั้น และถ้าหากผู้แต่งเชื่อเช่นนั้นจริงก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกว่า ผู้แต่งจะมีวิธีนำเสนออย่างไรหรือมีหลักฐานอะไรที่จะโน้มนำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อได้ว่า มีความงามที่เป็นอมตะก้าวข้ามกาลเวลาอยู่จริงภายใต้กระแสคิดหลักที่โน้มไปในทิศทางซึ่งเชื่อว่าความงามนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัย

ด้วยความอยากรู้ ซึ่งเป็นอารมณ์อยากรู้บนความรู้สึกที่ค่อนข้างอคติและปฏิเสธเนื้อหาภายในแทบจะในทันทีที่เห็นชื่อหนังสือ กลับส่งผลให้ผมตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว