บ้านเลขที่ 1984

มีนักประพันธ์บางท่านที่ถูกนำชื่อมาสร้างเป็นคำคุณศัพท์บอกลักษณาการในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับลักษณาการในโลกแห่งจินตนาการของนักประพันธ์ท่านนั้น หนึ่งในคำคุณศัพท์เหล่านั้นคือ ออร์เวลเลียน (Orwellian) จากชื่อของ “จอร์จ ออร์เวล” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อบอกลักษณาการที่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จควบคุมความคิดและการแสดงออกของประชาชนได้โดยการควบคุม “ความจริง” ให้บิดผันไปในแง่มุมต่างๆ เพื่อตอบสนองการรักษาอำนาจของรัฐ

หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ปกปิด การตามหาจอร์จ ออร์เวลในร้านน้ำชาพม่า = Secret Histories: Finding George Orwell in a Burmese Teashop คือความพยายามของเอมมา ลาร์คิน (นามแฝง) ที่จะฉายภาพชีวิตทางการเมืองของคนพม่าที่มีลักษณาการแบบ ออร์เวลเลียน ผ่านเลนส์วรรณกรรมของออร์เวลที่ “อ่าน” โดยคนพม่าเอง

หากพิจารณาจากการเรียงบทและการเปลี่ยนฉากภูมิประเทศของจังหวัดต่าง ๆ เป็นลำดับ โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้บอกเราว่ามันเป็นชีวประวัติของออร์เวลในช่วงที่เขาทำงานเป็นตำรวจของ “บริติชเบอร์มา” การลำดับเรื่องจะตามรอยออร์เวล หรือเอริก แบลร์ ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนตำรวจในมัณฑะเลย์ จนถึงพื้นที่สุดท้ายที่เขาประจำการก่อนจะทิ้งงานตำรวจมายึดอาชีพนักเขียน

ประวัติศาสตร์ปกปิด จึงพาเราตามเส้นทางชีวิต 4 ปีในพม่าของออร์เวล จากมัณฑะเลย์ ลงใต้สู่เขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ย้ายมาย่างกุ้ง แล้วไปอยู่มะละแหม่ง ก่อนจะโดนย้ายขึ้นเหนือไปอยู่ที่กะธา หลังจากนั้นเขาเดินทางกลับไปอังกฤษ และได้ยื่นใบลาออกจากราชการ หลังจากนั้นเขาไม่เคยเดินทางกลับมาพม่าอีกเลย