ปีศาจ กับอาการผีเข้าผีออกของปัญญาชนไทย

….

ปีศาจ ไม่เพียงแต่จะเป็นที่กล่าวขานในหมู่คนหนุ่มสาวรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่ยังเป็นนวนิยายที่ได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการและนักวิจารณ์หลายรุ่น และหลายชาติหลายภาษาเช่นกัน ประเด็นที่นักวิจารณ์จำนวนมากจะพูดถึงเป็นอันดับแรกคือความหวาดหวั่นพรั่นพรึงของชนชั้นสูงต่อการเกิดขึ้นของชนชั้นใหม่และความคิดใหม่ในสังคมไทย ไล่เรียงมาตั้งแต่นักวิจารณ์แนวมาร์กซิสต์ลายครามอย่าง บรรจง บรรเจอดศิลป์ ที่เขียนวิจารณ์นวนิยายเล่มนี้ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2501 เรื่อยมาจนถึงนักวิจารณ์รุ่นก่อนและหลัง 14 ตุลาคมอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นวิทยากร เชียงกูล, เสถียร จันทิมาธร, ชัยศิริ สมุทวณิช, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และตรีศิลป์ บุญขจร จะมีเสียงท้วงติงในประเด็นนี้อยู่บ้าง ก็ในเชิงความสมจริงของการสร้างตัวละคร ดังที่ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้ท้วงติงไว้ว่า “โฮ้ย ไม่ไหว ไม่รู้อะไรดี ไม่เคยรู้ว่าผู้ดีจริงๆ เขาเป็นยังไง ลูกพระยาเป็นยังไง”

คำว่า “ปีศาจ” ที่ใช้ในนวนิยายเล่มนี้ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ของคาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรเดอริก เองเกิลส์ ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อนำคำพูดของสายในงานเลี้ยงบ้านรัชนีมาเทียบกับอารัภบทของ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ นั่นคือในท่อนที่สายพูดว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า” เทียบกับประโยคเปิดใน แถลงการณ์พรรคฯ “ปีศาจตนหนึ่ง ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังหลอกหลอนยุโรป” ความพ้องในที่นี้มิน่าจะเป็นความบังเอิญ กองบ.ก. ถนนหนังสือ ได้ซักถามประเด็นนี้ เสนีย์ เสาวพงศ์ ตอบว่า “ปีศาจของมาร์กซ์หมายถึงชนชั้นกรรมาชีพ แต่ของผมไม่ใช่ ปีศาจท่าจะมีได้หลายตัว ไม่ใช่ตัวเดียว” ในบทสัมภาษณ์เดียวกันนี้ เขายังบอกด้วยว่า คำว่าปีศาจของเขาน่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำว่า “spectre” ซึ่งเป็นคำคำเดียวกันกับที่บทแปลภาคภาษาอังกฤษของ แถลงการณ์พรรคฯ ใช้

เสนีย์ เสาวพงศ์ กล่าวไว้ไม่ผิดว่าปีศาจในนวนิยายเล่มนี้ไม่ใช่ชนชั้นกรรมาชีพแน่นอน โดยเฉพาะสาย สีมา ผู้ซึ่งประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าคือปีศาจ ก็ดูจะห่างไกลจากการเป็นชนชั้นกรรมาชีพ หรือชาวคอมมิวนิสต์ แม้ว่าทัศนะหลายประการของเขาอาจจะเฉียดไปเฉียดมากับแนวคิดมาร์กซิสต์อยู่บ้าง ถ้าเช่นนั้น สาย สีมา ผู้นี้คือใคร ที่เรารู้แน่ๆ คือ สาย สีมา ประกาศไว้หลายครั้งหลายคราว่า “เราเป็นคน รุ่นใหม่ที่มองโลกและทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความพิศวง” ปัญหาอยู่ที่ว่าคนรุ่นใหม่ที่ว่านี้คือใครกันแน่