มลภาวะของภาษาและภาระของกวี

To write poetry after Auschwitz is barbaric.
Theodor W. Adorno

กวีนิพนธ์หลังเหตุการณ์สังหารหมู่เมษา-พฤษภา
ปัญหาของกวีนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่เมษา-พฤษภา มีส่วนคล้ายคลึงกับกวีนิพนธ์หลังเหตุการณ์
โฮโลคอสต์ นั่นคือปัญหาว่าภาษายังจะเป็นสื่อที่ใช้พูดถึงความโหดเหี้ยมอำมหิตเหล่านี้ได้หรือไม่ และเราควรจะพูดถึงผู้ที่ตายและสูญเสียในแง่ใดได้บ้างโดยที่ยังคงรักษาศักดิ์ศรีความเป็นคนของพวกเขา และไม่กลายเป็นการไปซ้ำเติมหรือทำให้ความตายของพวกเขากลายเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมือง การค้า หรือกระทั่งเป็นการชำระล้างความรู้สึกผิดบาปของผู้รอดชีวิต อย่างไรก็ตาม กรณีเหตุการณ์สังหารหมู่เมษา-พฤษภามีความต่างเฉพาะหน้าประการหนึ่งจากกรณีโฮโลคอสต์ นั่นคือ ผู้ตายและผู้สูญเสียในเหตุการณ์มิได้เป็น “ผู้ชนะ” ที่สามารถจะลุกขึ้นมาเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่เหมือนในกรณีโฮโลคอสต์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยเหนือฝ่ายฮิตเลอร์และนาซีและสามารถนำตัวผู้บงการและฆาตกรมาลงโทษได้ ด้วยเหตุนี้ การจะพูดถึงเหตุการณ์สังหารหมู่เมษา-พฤษภาที่ผ่านมาอย่างหมดเปลือก จึงมีความยากลำบากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสภาพการณ์ปัจจุบัน นั่นคือนอกจากจะมีสิ่งที่ยากจะพูดได้โดยไม่ทำให้ความตายของผู้ชุมนุมกลายเป็นสิ่งสามานย์และสาธารณ์แล้ว ยังมีสิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้พูดแต่จำต้องพูด เพราะหาไม่แล้วจะกลายเป็นการทรยศต่อผู้ตายและต่อมโนธรรมของตนเอง
*
ภายหลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภามหาโหด มีนักเขียนและกวีจำนวนไม่น้อยหยิบยกเหตุการณ์ดังกล่าวมาพูดถึงใน
แง่มุมต่างๆ กันไป หากไม่นับบทกวีกระหายเลือดจำนวนหนึ่งที่เขียนขึ้นเพื่อสมน้ำหน้าและแสดงความปรีดาปราโมทย์อย่างออกนอกหน้าที่รัฐสามารถกำจัดผู้ชุมนุมจนสิ้นซาก เรายังพบว่ามีบทกลอนจำนวนหนึ่งได้ออกมาคร่ำครวญหวนไห้เสียดายตึกมูลค่าพันล้าน โดยไม่เอื้อนเอ่ยถึงคนตายสักคำเดียว หรืองานเขียนที่ร่ำร้องเรียกหาความรัก ความสามัคคี โหยหาวันชื่นคืนสุขในอดีต โดยไม่ใส่ใจว่าการเรียกหาอดีตอันหวานชื่นดังกล่าวต้องแลกมาด้วยความตายและความสูญเสียของคนนับร้อยนับพัน หรือมีกระทั่งบทกลอนที่อยู่ในรูปของการสนทนาโต้ตอบกันไปมาระหว่างฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง ประหนึ่งว่าพวกเขาอยู่บนเวทีโต้วาทีประชันฝีปากประลองปฏิิภาณ โดยไม่สำเหนียกสักนิดว่าเวทีดังกล่าวนั้นสร้างขึ้นบนกองศพกองกระดูกของคนนับร้อย ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บางทีสังคมไทยคงต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยมอำมหิตยิ่งกว่ากรณีนองเลือดเมษา-พฤษภาที่เพิ่งผ่านมาก่อนที่สังคมไทยจะสำนึกรู้ว่าชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งเหนืออื่นใด และไม่มีสังคมใดหรือวัฒนธรรมใดที่ไม่แยแสต่อคุณค่าของชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ จะสามารถดำรงอยู่ได้ชั่วกัลปาวสาน
*
แน่นอนว่าสังคมไทยมิได้ “ป่าเถื่อน” จนไม่มีใครลุกขึ้นมาเขียนรำลึกถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภา มีบทกวีจำนวน
ไม่น้อยทั้งจากกวีหน้าเก่าและใหม่ที่พยายามบรรยายความเจ็บปวดต่อความตายของผู้คนที่เป็นเหยื่อสังเวยความอำมหิตครั้งนี้ มีกระทั่งการจัดประกวดบทกวีในหัวข้อ “จากราชดำเนินถึงราษฎร์ประสงค์” โดย “กลุ่มกวีตีนแดง” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องคารวะความกล้าหาญทางมโนสำนึกของคนกลุ่มนี้ ที่พร้อมจะพูดถึงสิ่งที่ยากจะพูดได้และถูกห้ามไม่ให้พูด ท่ามกลางบรรยากาศรุมประณาม ไล่ล่าและจับกุมคุมขังผู้เข้าร่วมและสนับสนุนคนเสื้อแดง
*
ยังมีบทกวีที่ควรจะกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือบทกวีสองชิ้นที่นำมาอ่านในงาน “เราไม่ทอดทิ้งกัน” ซึ่งจัดที่หอประชุม
ศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 เดือนกันยายน 2553 อันได้แก่บทกวี “อาชญารมณ์ต่อเนื่อง” ของเดือนวาด พิมวนา และบทกวี “. . และเรารู้ว่า ตัวเราเปลี่ยนไป” ของกฤช เหลือลมัย บทกวีทั้งสองชิ้นนี้เป็นที่
กล่าวขวัญและสร้างความฮือฮาไม่น้อยในแวดวงคนเสื้อแดง ตลอดจนในหมู่ปัญญาชนและนักเขียนทั้งที่ประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงและไม่ใช่เสื้อแดง บทกวีของเดือนวาดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ (29:1514, 21-27 ส.ค. 2553) ส่วนบทกวีของกฤชเผยแพร่เป็นครั้งแรกในการอ่านบทกวีครั้งนี้ บทกวีสองชิ้นนี้ต่างจากบทกวีและบทกลอนอื่นๆ ที่พูดถึงการสังหารหมู่เดือนเมษา-พฤษภา ในแง่ที่พยายามจะไปให้ไกลกว่าการบันทึกเหตุการณ์ หรือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ แต่มุ่งจะชี้ชวนให้ขบคิดถึงมูลเหตุและผลสืบเนื่องของเหตุการณ์นี้เป็นสำคัญ บทกวี “อาชญารมณ์ต่อเนื่อง” พยายามเพ่งพินิจไปยังที่มาของปัญหาและผลที่อาจจะตามมาหากต้นเหตุของปัญหายังคงดำรงอยู่ ส่วนบทกวี “. . และเรารู้ว่า ตัวเราเปลี่ยนไป” จะจำเพาะเจาะจงไปยังผลที่เกิดขึ้นและอาจจะ
เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
****