วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ และความเข้มแข็งทางปัญญา

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่ประสบความล้มเหลว เมื่อพิมพ์ครั้งแรกในต้นปี ๒๕๒๙ นั้นจำหน่ายหมดลงอย่างรวดเร็ว จนต้องพิมพ์เพิ่มอีกในเวลาอันสั้น แต่ความสำเร็จของหนังสือไม่ได้อยู่ที่ตลาดเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะหนังสือทางวิชาการเช่นหนังสือเล่มนี้ ยังควรต้องมีผลกระทบต่องานศึกษาเรื่องเดียวกันที่ติดตามมาบ้าง ไม่ในทางลบก็ทางบวก

หากทว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีผลกระทบอะไรแก่ใครเลย มีผู้เขียนบทความหรือหนังสือที่เกี่ยวพันไปถึงเรื่องในสมัยพระเจ้าตากสินอีกมากหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ออกมาแล้ว แต่ไม่มีงานของผู้ใดอ้างถึงหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเพื่อปฏิเสธหรือเพื่อยืนยันข้อมูล หรือการตีความของหนังสือเล่มนี้เลย

อะไรที่เคยพูดกันมาในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาอย่างไร ทุกคนก็ยังพูดเหมือนเก่าทุกอย่าง ประหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เคยปรากฏขึ้นในโลกนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วันเข้าพรรษา ๒๕๓๕
คำนำ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง

อ่านความในใจของปราชญ์คนสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน แล้วต้องสะท้านใจและหดหู่ใจในเวลาเดียวกัน

เป็นไปได้อย่างไรว่า หนังสือที่ถือว่าเป็นงานชิ้นเอก (magnum opus) ด้านประวัติศาสตร์ไทย ไม่ได้รับการพูดถึงทั้งทางบวกหรือทางลบเลยในวงวิชาการประวัติศาสตร์ เป็นไปได้อย่างไรว่าหนังสือที่เสนอคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ซึ่งใกล้ตัวเราขนาดนี้ และมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ได้รับการถกเถียง เพื่อยืนยัน คัดค้าน สานต่อ หรือล้มล้าง เป็นไปแล้วหรืออย่างไรว่าความไม่ยินดียินร้าย ความไม่แยแส และความเฉยเมยทางปัญญา คือบรรทัดฐานใหม่ของวงวิชาการไทย เป็นไปแล้วหรืออย่างไรว่าวัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ได้ตายไปจากวงวิชาการไทย

เมื่ออ่านความในใจของนิธิข้างต้นแล้ว วิญญูชนทุกท่านย่อมเข้าใจตรงกันว่านิธิมิได้กำลังคร่ำครวญหรือน้อยอกน้อยใจว่า ทำไมไม่มีคนอ้างงานของท่าน หรือทำไมไม่มีคนพูดถึงหรือชมเชยงานของท่าน แต่ท่านกำลังร้องหาวัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์

ผมเชื่อว่าท่านคงจะปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งหากจะมีนักวิชาการแม้เพียงหนึ่งคนลุกขึ้นมา ตอบโต้และวิจารณ์ว่าหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของท่านตีความประวัติศาสตร์ผิดหมด พร้อมนำเสนอข้อมูล หลักฐานเพื่อหักล้างทุกข้อเสนอของท่าน เพราะหากมีคนที่เดือดร้อนถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาวิจารณ์ นั่นย่อมหมายความงานของท่านมีความสำคัญ และได้สร้างผลสะเทือนในระดับใดระดับหนึ่ง นั่นย่อมหมายความวัฒนธรรมการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ยังเข้มแข็งดีอยู่ในวงวิชาการไทย

ศัตรูอันร้ายกาจที่สุดของวงวิชาการและกิจกรรมทางปัญญานั้น มิใช่ศัตรูหรือคู่ปรับของท่าน แต่คือ ความเฉยเมยทางปัญญา อุเบกขาทางปัญญา (intellectual indifference)

หากหันมาดูวงการวรรณกรรมในห้วงเวลาเดียวกับที่นิธิเขียน การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนฯ นั่นคือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แม้จะไม่คึกคักแต่มิได้เงียบเหงาเท่ากับวงวิชาการประวัติศาสตร์ การแลกเปลี่ยนและถกเถียงประเด็นทางวรรณกรรมมีปรากฏอยู่เป็นระยะๆ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาเสนอ อย่างน้อยที่สุดในแต่ละปี บรรดานักวิจารณ์ต่างพร้อมใจกันลุกขึ้นมาวิจารณ์และวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่หนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ออกเผยแพร่ ในวงวรรณกรรมก็มีงานชิ้นสำคัญออกมาชิ้นหนึ่ง นั่นคือบทความ “ศัตรูที่ลื่นไหล แง่มุมหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย” ของเจตนา นาควัชระ ซึ่งเผยแพร่ในปี 2530 หลายท่านย่อมจำกันได้ดีว่า วงการวรรณกรรมต้อนรับบทความชิ้นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง คึกคัก และ จริงจังอย่างยิ่ง มีการถกเถียง โต้แย้ง สนับสนุน หักล้าง และขยายความข้อเสนอของบทความชิ้นนี้ด้วยมุมมองและทัศนะอันหลากหลาย บทความชิ้นนี้ได้สร้างผลสะเทือนค่อนข้างมากต่อวงการวรรณกรรมร่วมสมัย จนแม้เวลาจะล่วงมาถึงปี 2536 ไล่เลี่ยกับที่นิธิเขียนคำนำตัดพ้อคนในวงการประวัติศาสตร์ ถ้าจำไม่ผิด ในงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม บทความชิ้นนี้ยังได้รับการพูดถึงและเป็นประเด็นให้คนในวงการวรรณกรรมได้ถกเถียงกันไม่จบสิ้น

ในปัจจุบันอันเป็นยุคสมัยแห่งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และนักวิชาการและปัญญาชนจำนวนมากเผยแพร่ข้อเขียนที่เปิดเผยจุดยืนและอุดมการณ์ของตนอย่างโจ่งแจ้ง แต่น่าประหลาดใจว่าการถกเถียงและโต้แย้งทางวิชาการกลับมีน้อยมาก ราวกับว่านักวิชาการพากันพอใจที่จะอยู่ในมุมแคบๆของตน หรือทำสวนเล็กๆ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับไว้ชื่นชมแต่โดยลำพัง หรือไม่พวกเขาก็เริ่มหันไปรับเชื้อความคิดของฝ่ายการเมืองที่ถือว่า “ไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวร” ในวงวิชาการ แม้จะเห็นอยู่ทนโท่ว่ามีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกันสุดขั้ว ก็พร้อมจะหันมาจูบปากกันได้โดยไม่ระคายลิ้น

ปรากฏการณ์วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์นี้เริ่มแผ่วๆ ไป ดูเหมือนว่าวงการวรรณกรรมไทยกำลังเดินไปถึงจุดที่วงวิชาการประวัติศาสตร์กำลังเผชิญอยู่มานานนับ 20 ปี ปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์” “วิจารณ์แห่งวิจารณ์” ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้กับวงวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นวงวิชาการวรรณกรรม หรือวงวิชาการศาสตร์อื่นๆ สำหรับผมแล้ว เมื่อพูดถึง วรรณกรรมวิจารณ์ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะจำกัดตัวอยู่เพียงการวิจารณ์ตัวงานวรรณกรรม แต่ต้องรวมไปถึงการวิจารณ์งานวิจารณ์วรรณกรรมด้วยเช่นกัน
อาจจะฟังดูขัดหู แต่ผมอยากเสนอว่า หากไม่มีวัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ วัฒนธรรมวิจารณ์ก็ไม่อาจบังเกิดขึ้นได้ บางท่านอาจจะติงว่า ก็ในเมื่องานวรรณกรรมวิจารณ์ในบ้านเรายังไม่เข้มแข็งเท่าใดนัก ที่เขียนๆ กันก็มีเพียงหยิบมือเดียว จะให้มาทำงานวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์อีก จะมิเป็นการข้ามขั้นตอนใจเร็วด่วนได้เกินไปหรือ ผมยอมรับว่าผมเคยคิดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ชะตากรรมอันน่าสลดใจของ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับเรา

วรรณกรรมวิจารณ์และวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์เป็นกิจกรรมที่ต้องกระทำควบคู่กันไป มิอาจแยกจากกันได้ วรรณกรรมวิจารณ์จะเป็นพลังทางปัญญา มิใช่เพราะบทวิจารณ์ชิ้นนั้นๆให้คำตอบสุดท้ายหรือคำตอบเดียวที่ไม่อาจโต้เถียงได้ นั่นมิใช่วัฒนธรรมการวิจารณ์ แต่คือเผด็จการทางความคิด บทวิจารณ์ก็เหมือนวรรณกรรมสามารถก่อให้เกิดพลังทางปัญญา เพราะมันเปิดโอกาสให้เราคิดต่าง คิดแย้ง เรียนรู้ที่จะย่อมรับความหลากหลายและความเป็นอื่น วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์เตือนให้เราตระหนักว่า วรรณกรรมไม่มีคำตอบเดียว และบทวิจารณ์หนึ่งๆ ไม่ควรจะเป็นคำตอบสุดท้าย ด้วยเหตุดังกล่าว วัฒนธรรมวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอันจะขาดมิได้ในการพัฒนาวัฒนธรรมการวิจารณ์ให้เข้มแข็ง

การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์นอกจากจะหมายถึง การวิจารณ์เพื่อโต้แย้ง หรือสนับสนุน สานต่อหรือคัดง้างความเห็นในงานวิจารณ์ชิ้นอื่นๆ ที่มีต่องานวรรณกรรมชิ้นหนึ่งๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังน่าจะกินความรวมไปถึง การมุ่งวิเคราะห์งานวิจารณ์เพื่อเข้าใจกรอบคิด ระเบียบวิธี ตลอดจนระบบคุณค่าที่กำกับงานวิจารณ์เหล่านั้น โดยมุ่งทำความเข้าใจว่าทำไมในสังคมหนึ่งๆ หรือยุคสมัยหนึ่ง การวิจารณ์จึงต้องให้ความสำคัญกับผู้แต่งมากเป็นพิเศษ และทำไมในอีกยุคสมัยหนึ่งกลับมุ่งพิจารณาเฉพาผลกระทบที่วรรณกรรมมีต่อสังคม และบางยุคกลับมุ่งดูแต่องค์ประกอบทางวรรณศิลป์เป็นสำคัญ

การวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ในความหมายนี้ ถือเอางานวิจารณ์เป็นเสมือนตัวบทที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจปัจจัยทางสังคมและอุดมการณ์ที่เป็นเงื่อนไขรองรับงานวิจารณ์เหล่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากเราเชื่อว่า เราสามารถ “ดูวรรณกรรมจากสังคม และดูสังคมจากวรรณกรรม” ดังเช่นบรรจง บรรเจอดศิลป์ เคยเสนอไว้ เราสามารถ “ดูงานวิจารณ์จากสังคม และดูสังคมจากงานวิจารณ์” ได้เช่นกัน และนี้คืออีกมิติหนึ่งของการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์

เรียบเรียงจากบางส่วนของคำอภิปรายในงานสัมมนา “25 ปี การวิจารณ์ ‘คำพิพากษา’” จัดโดยโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัย เพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์” 5 สิงหาคม 2549