เกินแกง

นิทรรศการ who’s afraid of red, yellow, and green ของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิชที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ไม่เพียงเปิดประเด็นทางการเมืองเรื่องสีเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดคำถามหลายประการต่อสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” อีกด้วย หลายปีก่อนมีคำถามถึงผลงานของเขาว่า “ผัดไทยเป็นศิลปะได้อย่างไร” คำถามเดิมปรากฏขึ้นมาอีกครั้งเมื่อศิลปินทำแกงเผ็ด แกงเหลือง และแกงเขียวหวานให้คนมากินในแกลเลอรี่
*
การเกิดขึ้นของคำถามเดิม หมายความว่ายังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ ? ตอบ (ยัง) ไม่ได้ ? หรือเพราะคำตอบ
คำอธิบาย เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ?
*
คำถามเกี่ยวกับผลงานของฤกษ์ฤทธิ์ เป็นหนึ่งในคำถามมากมายอันเนื่องมาจากศิลปะร่วมสมัย และคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ (แม้ไม่ใช่ต่องานของฤกษ์ฤทธิ์โดยตรง) คือคำถามของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) “ใครคือผู้สร้างของผู้สร้าง ?” (But who created the creators ?)” ที่เขาตั้งไว้ในบทความชื่อเดียวกัน บูร์ดิเยอไม่ได้ตั้งคำถามถึงงานศิลปะเท่านั้น รวมทั้งไม่ใช่เพียงคำถามต่อศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ (ซึ่งศิลปินประเภทที่มักได้รับการตั้งคำถามทำนองนี้ มักเป็นพวกที่สร้างงานศิลปะที่ชวนให้กังขาว่า “เป็นศิลปะหรือเปล่า ?” หรือ “เป็นศิลปะได้อย่างไร ?”) แต่เป็นคำถามถึงองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมดที่ทำให้ศิลปินเป็นศิลปิน และดังนั้น ศิลปะจึงเป็นศิลปะ เป็นคำถามถึงที่มาของการก่อตัวของโครงสร้างของอำนาจมหัศจรรย์ของศิลปิน (“ผู้สร้าง” [creator] ในคำของบูดิเยอร์) ที่ทำให้ศิลปะเป็นศิลปะ (สิ่งพิเศษไม่ธรรมดา) ศิลปินราวกับมีหัตถ์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้ “ชีวิต” แก่สิ่งที่ตนได้แตะต้อง
(บูร์ดิเยอเองได้เคยเขียนเอาไว้ในที่อื่นด้วยว่า “พระเจ้าตายแล้ว แต่มีผู้สร้างที่ไม่ได้ถูกใครสร้างมาแทนที่”) ในทำนองเดียวกัน “มือ” ของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็น “มือ” ในความหมายตรงตามตัวอักษร กล่าวคือ มือที่กระทำการสร้างงานศิลปะ หรือมโนทัศน์เรื่อง “ฝีมือ” ก็ให้ชีวิตใหม่แก่สิ่งสามัญธรรมดาให้กลายสภาพเป็นงานศิลปะ อะไรก็ตามที่ศิลปินแตะต้องและทำเครื่องหมาย ทิ้งร่องรอยไว้ จะเปลี่ยนสถานะเป็นงานศิลปะ
*
ลักษณะดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนในศิลปะร่วมสมัยที่อะไรก็เป็นศิลปะได้ ความคลุมเครือของงานร่วมสมัยตั้งอยู่บนเส้นแบ่งที่รางเลือน คาบเกี่ยวระหว่างสิ่งที่เป็นกับไม่เป็นศิลปะ สิ่งของพื้นๆ สามัญธรรมดาได้กลายมาเป็นงานศิลปะโดยที่บ่อยครั้งปราศจากการปรับเปลี่ยนใดๆ จากน้ำมือศิลปิน มีมุขตลกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า แม่บ้านที่ทำความสะอาดพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งไม่แน่ใจว่าฟองน้ำที่วางอยู่บนพื้นเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง หรือเป็นฟองน้ำทำความสะอาดธรรมดาที่แม่บ้านอีกคนลืมไว้ งานศิลปะร่วมสมัยบางชิ้นคือวัตถุที่ไม่ผ่านกระบวนการเชิงฝีมือใดๆ (ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสิ่งที่ระบุถึงความสามารถและความเป็นเจ้าของผลงานของศิลปิน) หรือกระทั่งไม่ได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปจากเดิมแม้แต่น้อย แกงเขียวหวานที่เป็นงานศิลปะ หน้าตาเหมือนกันกับแกงเขียวหวานที่แม่ค้าขายในตลาด กินได้จริงทั้งคู่ แกงของแม่ค้าอาจจะอร่อยกว่า แต่ก็ไม่ใช่ประเด็น และไม่ได้หมายความว่าแม่ค้าที่ขายแกงเขียวหวานจะมีฝีมือทางศิลปะมากกว่าศิลปิน เพราะศิลปะการทำอาหารนั้น – แม้จะเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเช่นกัน – ไม่ได้อยู่ในระบบประเมินคุณค่าแบบเดียวกันกับงานศิลปะร่วมสมัย
*
เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะระบุได้อย่างไรว่าอันไหนเป็นศิลปะ อันไหนไม่ใช่ ? สิ่งที่ทำให้อะไรบางอย่างกลายเป็นศิลปะ
ขึ้นอยู่กับอะไร ? และจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการประเมิน ?
****