เสียงเพรียกจากท้องน้ำ: เรื่องเล่ากับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์

เสียงเพรียกจากท้องน้ำ เรื่องเล่าในรูปแบบนวนิยายของประทีป ชุมพล เป็นผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนใน พ.ศ. 2546 นวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะเฉพาะในการนำเสนออัตลักษณ์ของชาวอูรังลาโว้ยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนใต้ของประเทศไทย (ที่คนนิยมเรียกว่าชาวเล) ผ่านการผสมผสานนวนิยายกับชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ซึ่งไม่ปรากฏบ่อยนักในผลงานของนักเขียนไทย จึงน่าสนใจที่จะพิจารณาลักษณะเฉพาะและนัยซับซ้อนที่เอื้อให้ตีความได้หลายชั้นของงานเขียนเรื่องนี้

เสียงเพรียกจากท้องน้ำ เป็นเรื่องเล่าของซายัค ชาวอูรังลาโว้ย ซายัคเล่าเรื่องของตนเองตั้งแต่เล็กจนโต ประเด็นของเรื่องเน้นที่วิถีชีวิตของชาวอูรังลาโว้ย วัฒนธรรมประเพณี และปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะ “คนเมือง” ซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและคนที่มาจากส่วนกลาง ชีวิตของซายัคในฐานะอูรังลาโว้ยถูกกดขี่ทั้งโดยรัฐและคนเมือง ท้ายที่สุดซายัคและชาวอูรังลาโว้ยตัดสินใจเดินทางออกสู่ทะเลเพราะถูกยึดครองที่ดินที่เคยอาศัยอยู่ ไม่มีใครกลับมาจากการเดินทางครั้งนั้น ผู้เขียนให้ค่ามรณกรรมของพวกเขาว่าสูงส่งมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าการมีชีวิตอยู่โดยต้องเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ตามสภาพการณ์ที่บีบบังคับ

จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกดขี่และปฏิกิริยาที่มีต่อการกดขี่นั้นของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็น “การเมือง” ประเภทหนึ่ง การเมืองประเภทนี้สร้างพลังจากอัตลักษณ์ของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง เรียกว่า “การเมืองเรื่องอัตลักษณ์” (Identity Politics) ซึ่งมีปฏิบัติการ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) ยืนยันอัตลักษณ์ที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างพลังอำนาจในการต่อรอง 2) รื้อสร้างอัตลักษณ์ต่างๆว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือสิ่งประกอบสร้างทางสังคม เพื่อปฏิเสธอัตลักษณ์ที่ถูกยัดเยียดให้ และ 3) ให้ความสำคัญแก่ความแตกต่างหลากหลายและความเลื่อนไหลของอัตลักษณ์

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในนวนิยายเรื่องนี้ถูกเสนอผ่านเรื่องเล่า มีการสร้างวาทกรรม (discourse) ภาพแทน (representation) และอัตลักษณ์เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งอาจกล่าวแยกเป็น 3 ประเด็นคือ ประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ การผสมผสานนวนิยายกับชาติพันธุ์วรรณาและอัตลักษณ์อูรังลาโว้ยที่สัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของผู้เขียน