“เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” ศึกแห่งชนชั้นที่เดิมพันด้วยชีวิต

“หากบ้านเมืองนี้มิอาจอยู่ภายใต้ประชาธิปไตย เลือดทุกหยดที่ไหล ก็ขอให้เป็นเลือดไพร่ที่มันไม่มีเส้นเช่นคนเสื้อแดงวันนี้”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวาทะข้างต้นได้นำเอาสิ่งที่คนจำนวนมากคิดและรู้สึกอยู่ในใจเงียบๆ ออกมาพูดดังๆ ให้ได้ฟังกันชัดๆ นี่เป็นครั้งแรกๆ ในรอบประวัติศาสตร์มากกว่าสามสิบปีนับแต่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการหยิบยกประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมไทยมาเป็นแกนกลางในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และด้วยเหตุนี้ คำปราศรัยดังกล่าวจึงได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากผู้คนจำนวนมากที่ต่างรู้สึกว่าผู้พูดได้เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของพวกเขา เปล่งประกาศความรู้สึกส่วนลึกที่กัดกินใจพวกเขาตลอดห้าปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่ามันได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างร้อนรนและลนลานจากบรรดาอภิสิทธิ์ชนและอภิชนในสังคมไทย ที่พากันออกมาแก้ต่างและแก้ตัวต่างๆ นานา ถึงขั้นนั่งเปิดพจนานุกรมอธิบายความหมายคำว่า “ไพร่” พร้อมๆ กับท่องคาถาสะกดจิต “สังคมไทยไม่มีชนชั้น” “ความขัดแย้งทางชนชั้นมิใช่ปัญหาสังคมไทย”
**
ไพร่ในความหมายดั้งเดิมอาจไม่มีอยู่แล้วจริง แต่พฤติกรรมและกระบวนการต่างๆ ของรัฐตลอดจนบรรดาอภิสิทธิ์ชนและอภิชนนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมามิใช่หรือ ที่ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยรู้สึกว่าพวกเขาคือไพร่ไม่มีเส้น การลุกขึ้นประกาศตัวว่าเป็นไพร่จึงเป็นการปลุกจิตสำนึกร่วมของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถูกปล้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปต่อหน้าต่อตา พร้อมๆกับเป็นการประท้วงและประจานให้สังคมโลกได้รับรู้ถึงความอยุติธรรมและการกีดกันเหยียดหยามทางชนชั้นในสังคมไทยที่ทวีความรุนแรงและไร้ยางอายมากขึ้นทุกที
**
ปัญหาชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้นเป็นปัญหาใจกลางของสังคมไทยโดยตลอดมา มิใช่เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในรอบไม่กี่ปีมานี้ ชั่วแต่ว่ามันจะได้รับการพูดถึงและครุ่นคิดหาทางแก้ไขอย่างจริงจังหรือไม่เท่านั้นเอง ในบางช่วงบางขณะสังคมไทยอาจจะแกล้งทำเป็นลืมๆ มันไป หรือไม่ก็ปิดตาเสียข้างหนึ่งไม่ยอมมองเห็นหรือรับรู้การเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้นที่ดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่งผลให้ปัญหาชนชั้นนับวันจะทวีความรุนแรงหนักหน่วงแผ่ขยายเป็นวงกว้างและแทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของชีวิตและทุกอิริยาบถของคน หากพิจารณาเฉพาะงานวรรณกรรม ก็จะพบเช่นกันว่าในละยุคแต่ละสมัย วรรณกรรมได้นำเสนอปัญหาชนชั้นไว้ในหลายแง่หลายมุม หนัก แก่ เบา อ่อนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมและความสนใจส่วนตัวของผู้ประพันธ์ บ้างก็นำเสนอในเชิงอ้อมๆ ผ่านเรื่องความรักอันไม่สมหวังเพราะฐานันดรศักดิ์และชนชั้นที่แตกต่างกัน ในทำนอง “ดอกฟ้ากับหมาวัด” ที่นักอ่านวรรณกรรมโรมานซ์คุ้นเคยกันดี บ้างนำเสนออย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ผ่านเรื่องราวการกดขี่ข่มเหงและการเอารัดเอาเปรียบสารพัดรูปแบบดังที่เราพบกันบ่อยในงานประเภทวรรณกรรมเพื่อชีวิต
**
เรื่องสั้น “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนเรื่องสั้นและบรรณาธิการนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ที่โด่งดังในอดีต เป็นเรื่องสั้นที่นำเสนอปัญหาทางชนชั้นในสังคมไทยด้วยวิธีการและมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อย และดูจะเข้าสมัยกับความขัดแย้งทางชนชั้นที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี อาจินต์เขียนเรื่องสั้นชิ้นนี้ตั้งแต่ปี 2490 เดิมตั้งชื่อว่า “ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์” ต่อมา “อิงอร” (นามปากกาของศักดิ์เกษม หุตาคม) ได้แนะนำให้เปลี่ยนชื่อเป็น “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร พิมพ์ไทย วันจันทร์ ในปี 24943 เรื่องสั้นชิ้นนี้กลับมาเป็นที่กล่าวขานในหมู่ผู้ศึกษาวรรณกรรมไทย เมื่อสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยยกย่องให้อาจินต์เป็นหนึ่งในนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่นของไทยในวาระครบรอบร้อยปีเรื่องสั้นไทยเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยเรื่องสั้นที่คัดมาเป็นตัวอย่างผลงานของอาจินต์ก็คือเรื่องสั้นเรื่องนี้
******