ครูฝรั่งวังหลวงกับชมรมคนเกลียดแอนนา

“ตอแหล”
คำนิยามภาพแอนนา เลียวโนเวนส์ “ครูฝรั่งวังหลวง” ของอบ ไชยวสุ ระหว่างสนทนาแกล้ม
“แม่โขง” กับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในราวปี 2493 คำนิยามนี้ถูกพูดถึงในคำนำของหนังสือ
เรื่อง นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งอบ ไชยวสุ แปลมาจาก The Romance of the Harem
หนังสือหนึ่งในสองเล่มของแอนนาที่ว่าด้วยราชสำนักสยาม แม้คำนี้จะไม่ถูกนำไปใช้บ่อยนัก แต่ก็
อาศัยความหมายจากคำนี้ไปใช้นิยามแอนนา เช่นเดียวกับคำว่า “กุ” ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ

หนังสือสองเล่มของแอนนา คือ The English Governess at the Siamese Court และ
The Romance of the Harem ตีพิมพ์ในปี 2413 และ 2415 ตามลำดับ เมื่อหนังสือออกวางแผง นัก
วิจารณ์ทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกาก็สับแหลกโดยเฉพาะเล่มหลัง “ผิดอย่างไม่สามารถให้อภัยได้”
ผลที่ออกมาคือหนังสือทั้งสองเล่มไม่ได้รับความนิยม แล้วเรื่องก็เงียบหายไป

อีก 70 ปีต่อมา มาร์กาเร็ต แลนดอน จึงจับเอาหนังสือทั้งสองเล่มมายำรวมกันและเขียนเพิ่มเติม
เข้าไปใหม่บางส่วน โดยเฉพาะส่วนที่สร้างปัญหาอย่างมากคือประวัติชีวิตแอนนาก่อนเดินทางมา
สยาม คือหนังสือ Anna and the King of Siam ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2487 ปรากฏว่ายอดขาย
ถล่มทลาย ด้วยคำชี้ชวนบนปกด้านในที่ใครอ่านก็ต้องเชื่อสนิทใจ “Chiefly known facts, partly a
dramatization based on facts, it reads like fiction but it is, amazingly, true.”

ผลจากหนังสือของแลนดอน ทำให้อีกสองปีต่อมาฮอลลีวู้ดได้ดัดแปลงบทประพันธ์นี้ขึ้นเป็น
ภาพยนตร์ในชื่อเดียวกับหนังสือ นำแสดงโดย เร็กซ์ แฮร์ริสัน และไอรีน ดันน์ ออกฉายในปี 2489
และภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาฉายในเมืองไทยที่ศาลาเฉลิมกรุงกลางปี 2490 ท่ามกลางกระแส
วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูถึงความไม่เหมาะสม ภาพยนตร์ Anna and the King of Siam ทำเงิน
ได้ไม่ดีนักในเมืองไทย และมีความพยายามจะนำกลับมาฉายอีกครั้งในปี 2494 แต่ “ไม่ได้รับ
อนุญาต” ให้ฉายได้

และนี่เองได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการ “ตอบโต้” แอนนา เลียวโนเวนส์ อย่างจริงจังใน
เมืองไทย