เชื่อกันมานานแล้วนะครับว่า การสร้างสรรค์ “ความเป็นไทย” ใส่ลงไปในงานสถาปัตยกรรมนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ ส่วนความพยายามใส่ความเป็นไทยในแบบฉบับของชาวบ้านทั่วไปนั้น ร้อยทั้งร้อยต่างก็ถูกนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสร้างความเป็นไทยที่ตื้นเขินฉาบฉวย
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สนใจประเด็นว่าด้วยการสร้างความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรมมาพอสมควร และแปลกใจมาตลอดว่า ทำไมคนส่วนใหญ่จึงมองการสร้าง “ความเป็นไทย” ว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและลึกซึ้ง จนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำการศึกษาค้นคว้าและออกแบบ ทั้งๆ ที่เมื่อมองดูงานออกแบบของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายแล้ว ก็มิได้มีลักษณะแตกต่างในเชิงวิธีคิดและวิธีการออกแบบจากสถาปัตยกรรมชิ้นอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใดเลย
จากการสังเกตงานสถาปัตยกรรมของเหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่ได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นไทย ผู้เขียนพบคำตอบว่า ความเป็นไทยที่ท่านๆ ทั้งหลายสร้างขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายสบายมาก ไม่ได้ลึกซึ้งซับซ้อนอะไรเลย แต่ที่คนส่วนใหญ่หลงมองว่าลึกซึ้งนั้น เป็นเพราะมีภาพลวงตาบางอย่างมาบดบังอยู่ และเป็นภาพลวงตาที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายในวงการสถาปัตยกรรมนั่นแหละร่วมกันสร้างขึ้น
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยถูกกำหนดให้มองและเน้นความสำคัญในเรื่องความเป็นไทยในแง่มุมเชิงนามธรรมมากกว่ารูปธรรม จนการอธิบายความเป็นไทยเต็มไปด้วยคำพูดอลังการสวยหรูแต่ฟังไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไรแน่ ส่วนการพูดอะไรที่เป็นรูปธรรมมากเกินไปกลับถูกมองว่า หยาบและตื้นเขิน จน “ความเป็นไทย” กลายสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องมือผูกขาด “อำนาจ” ให้แก่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญหรือศิลปินแห่งชาติ
การอธิบายความเป็นไทยที่เน้นรูปธรรมจับต้องได้ง่ายจึงเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะจะทำให้มิติศักดิ์สิทธิ์ถูกลดทอน กระเทือนต่ออำนาจของผู้เชี่ยวชาญที่ยึดกุมการนิยามความเป็นไทยเอาไว้ และเพื่อให้อำนาจคงอยู่ตลอดไป ความเป็นไทยจึงถูกเน้นเฉพาะมิติด้านนามธรรม เน้นแสดงลักษณะ “คลุมเครือ” มากกว่า “ชัดเจน” เน้นแสดงลักษณะ “ศักดิ์สิทธิ์” มากกว่า “สามัญ”
หากเราสามารถตัดภาพลวงตานี้ออกไปได้ มอง “ความเป็นไทย” ว่าไม่ใช่เรื่องนามธรรมศักดิ์สิทธิ์เพียงด้านเดียว แต่มองด้วยสายตาใหม่ว่าต้องประกอบด้วยลักษณะนามธรรมและรูปธรรมคู่กันเสมอ ความหมายในเชิงนามธรรมย่อมอยู่ลอยๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องมีรูปธรรมบางอย่างมาทำหน้าที่เป็นภาชนะรองรับลักษณะนามธรรมนั้นๆ เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถจะรับรู้และเข้าถึงได้
ถ้ายืมแนวทางแบบ “สัญวิทยา” (Semiology) มาเป็นเครื่องมืออธิบาย สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นไทย” ก็คือ “ความหมายสัญญะ” (Signified) ที่มีลักษณะนามธรรม ซึ่งจับต้องไม่ได้ จำเป็นจะต้องมี “รูปสัญญะ” (Signifier) ที่เป็นรูปธรรมมาคอยทำหน้าที่กำกับตัวความหมายสัญญะเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญมาจากดาวดวงไหน การอธิบาย “ความเป็นไทย” ซึ่งเป็นเพียง “ความหมายสัญญะ” จะต้องแสดงผ่าน “รูปสัญญะ” อย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่มีข้อยกเว้น
ประเด็นคือ ที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญมักอำพรางรูปสัญญะที่ตนเองใช้ (ซึ่งก็ไม่ได้พิเศษพิสดารอะไรเลย) ภายใต้โวหารที่คลุมเครือและศักดิ์สิทธิ์ เน้นแสดงเฉพาะมิติเชิงนามธรรมเพื่อครอบครอง “อำนาจ” ในการนิยามความเป็นไทยเอาไว้
เป้าหมายของบทความนี้คือ เปิดม่านหมอกที่ลวงตาและเผยให้เห็นวิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ใช้ในการสร้างความเป็นไทย ว่าช่างสามัญและง่ายดาย ไม่ต่างจากงานทั่วไปหลายชิ้นที่ถูกประณามว่าแสดงความเป็นไทยอย่างฉาบฉวยเลย
จากการศึกษาผลงานออกแบบที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ที่ดี (หรืออย่างน้อยก็ไม่ถูกประณามว่าตื้นเขิน) ของผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนค้นพบกฎพื้นฐานอันเป็นสูตรสำเร็จของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถบรรลุจิตวิญญาณแห่งความเป็นไทยได้อย่างไม่แตกต่างจากงานออกแบบของท่านทั้งหลายเหล่านั้น กฎทั้งหมดมี 4 ข้อ ดังต่อไปนี้