บันทึกของนับดาว

นับดาว ลูกคนสุดท้องของครอบครัว ฆ่าตัวตายตอนอายุสามสิบเก้า ทิ้งบันทึกที่ผู้ค้นพบ “เปิดอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ”

ผมรักชีวิตหรือเปล่า คุณอาจตั้งคำถามนี้เพราะคุณรู้เรื่องครอบครัวผม ผมว่าผมเป็นคนละเอียดกับชีวิต แต่เฉพาะบางตอน บางวลี ไม่ใช่ทั้งโครงเรื่อง เฉพาะบางวลีแต่ลงลึกเข้าไปในความหมาย หลายครั้งผมพบความพิเศษในการล่วงลึกถึงบางความหมายของชีวิต แต่พอมากครั้งเข้านานเข้า เมื่อผมได้มีโอกาสทำอะไรผิวเผินกับชีวิตบ้าง คล้ายๆ กับการเดินผ่านที่ใดที่หนึ่งโดยไม่มีความผูกพัน คล้ายกับการนั่งลงดื่มกินกับคนแปลกหน้าแล้วคุยเรื่องทั่วๆ ไป ผมกลับพบว่ามันพิเศษได้เหมือนกัน เจ้าความไม่มีอะไรนี่นะ

แต่คุณจะทำอย่างไรล่ะ ถ้าคุณอยู่กับความธรรมดาทุกวี่ทุกวัน อยู่กับการหาเลี้ยงปากท้อง สนองความหิวอาหาร และอารมณ์ใคร่ต่างๆ ของตัวเอง วันหนึ่งคุณก็จะรู้สึกหิวสิ่งพิเศษอีกนั่นแหละ แล้วก็ต้องลงลึก ละเอียด เพื่อที่จะหามันได้พบ แม้จะเป็นสิ่งพิเศษที่ธรรมดาก็เถอะ ผมไม่รู้หรอกว่าผมรักชีวิตหรือเปล่า ก็ถ้าที่ผมพูดมามันวนเวียนกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งผมคงจะเบื่อ

เรื่องสั้นแต่ชื่อยาวว่า “ก็ ‘เมื่อคืนวันพระจันทร์ส่อง ฉันได้ยินเสียงร้องไห้” ของศิลปินนักเขียน อารยา ราษฎร์จำเริญสุข มีโครงเรื่องคลาสสิคของโศกนาฏกรรมในครอบครัวหนึ่ง พ่อและลูกสามคนผลัดกันจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย แม่จากไปด้วยมะเร็ง ความกดดันจากครอบครัว การไม่สะสางเหตุว้าวุ่นภายในได้อย่างชัดเจน ชักนำให้วันเอกผู้พี่กระโดดให้รถถังขยี้ วงเดือน คนกลาง เดินจมลงบึงในป่า พ่อและนับดาวลูกคนเล็กยิงตัวตาย เมื่อบ้านเปลี่ยนเจ้าของในภายหลัง แขกผู้มาเยือนจะพบร่องรอยเหตุการณ์เหล่านั้นทิ้งค้างไว้ รวมทั้งบันทึกของนับดาว

โครงเรื่องธรรมดาสามัญ โดยเฉพาะช่วงท้ายที่เป็นการทวนเหตุการณ์โดยเจ้าของบ้านใหม่ให้แขกรับรู้ รวมทั้งการบรรยายแบบสร้างภาพซ้อน ก็พ้องกับพล็อตของนิยายหรือภาพยนตร์ลี้ลับหรือสยองขวัญจำนวนมากที่แพร่หลายต้นศตวรรษที่ 21 แต่ความธรรมดาก็ “พิเศษได้เหมือนกัน” ดังที่นับดาวบอกและความพิเศษอันนี้ก็อาจ “ไม่ใช่ทั้งโครงเรื่อง” แต่อยู่ใน “บางตอน บางวลี” ที่เรียกร้องให้ต้องลงลึก เข้าสู่เนื้อ แล้วจึงจะล่วงเข้าไปใน “บางความหมายของชีวิต” ผู้อ่านจำเป็นต้องเลยล้ำโครงเรื่องเพื่อพิเคราะห์รายละเอียด แปรกลับความสามัญให้เป็นความพิเศษแล้วจะพบว่าเมื่อหาลงเนื้อก็จะเห็นเนื้อหาซุกซ่อนหลอมร้อยอยู่ในคำและภาพ เกาะเกี่ยวในกระแสสัมพันธ์ระหว่างวรรณศิลป์และทัศนศิลป์

เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นสองช่วงหลัก ตอนต้นกินพื้นที่สามในสี่ของทั้งหมด เล่าเหตุการณ์ความตึงเครียดต่างๆ ที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวฆ่าตัวตายไปทีละคน จนยุติลงเมื่อผู้เป็นพ่อตัดสินใจหยุดชีวิตตนเองเช่นกัน ช่วงที่สองเป็นการทบทวนเรื่องราวโดยผู้มาอยู่ใหม่ให้แขกผู้มาเยือนรับฟัง รวมทั้งบอกกล่าวถึงวาระสุดท้ายของแม่และนับดาวที่ทิ้งค้างไว้ในช่วงแรก ความตายและความทรงจำจึงเป็นประเด็นสำคัญของเนื้อหาโดยรวม ควบคู่กันไปนับแต่ต้นจนจบ หากโครงเรื่องแลดูพื้นๆ นั่นหมายความอีกว่าการอธิบายความตายต่อเนื่องดังที่ปรากฏด้วยเรื่องของแรงกดดันจากครอบครัว ความคาดหวังอย่างสูงต่อผลสำเร็จทางการศึกษาของลูกสาว การไม่ยอมรับเหตุที่ลูกชายคนโตรักเพศเดียวกัน อาการเก็บกดของนับดาวที่ระเบิดออกมาตอนอายุสามสิบเก้า คำอธิบายความตายเหล่านี้ย่อมพื้นๆ ธรรมดาสามัญไปโดยปริยาย และยิ่งตอกย้ำการอ่านตามตัวอักษร ตามโครงเรื่องที่อักษรวางไว้ มโนทัศน์เรื่องความตายในเรื่องสั้นชื่อยาวนี้จะแยบยลขึ้นหากได้พิจารณาร่วมกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ถูกจัดวางไว้ประหนึ่งจริตหรือสิ่งประดับฉาก โดยจะสังเกตว่าผู้ประพันธ์พิถีพิถันกับการบรรยายธรรมชาติแวดล้อม ลมฝน และเมฆหมอก เหล่านี้ที่จำเป็นต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกับความตายของแต่ละบุคคลจึงจะ “ลงลึก” ถึงเหตุที่แท้ของความตาย รายละเอียดจากโครงหลักยังประกอบขึ้นมาเป็นความทรงจำ ไม่ใช่จำความตาย แต่ชักนำให้จำการมีชีวิตอยู่ และท้ายสุด บทวิเคราะห์งานวรรณกรรมของอารยานักเขียน ก็อาจช่วยให้ความกระจ่างต่องานทัศนศิลป์ของศิลปินอารยาผู้นำร่างไร้ลมหายใจมาเป็นสื่อในผลงานวิดีทัศน์หลากชิ้น…