A Clockwork Orange: ความเป็นมนุษย์และการสูญสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์

เธอทำบาปลงไปก็จริงอยู่ แต่การลงโทษที่เธอได้รับมันมากเกินควร พวกเขาทำให้เธอกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์ เธอไม่สามารถเลือกอะไรเองได้อีกแล้ว เธอถูกบังคับให้ทำเฉพาะสิ่งที่ได้รับการยอมรับทางสังคมเท่านั้น เธอกลายเป็นเครื่องจักรที่ทำได้แต่ความดี และฉันก็เห็นได้ชัด-ขอบเขตของการควบคุม ดนตรีและกิจกรรมทางเพศ วรรณกรรมและศิลปะ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ที่มาของความสุขสันต์อีกต่อไป แต่เป็นที่มาของความเจ็บปวด

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาคุณค่าและความหมาย ตลอดประวัติศาสตร์ มนุษย์ผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน และรวบรวมความผิดพลาด ความสำเร็จขึ้นเป็นแบบแผนแตกต่างกันไป สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ทั่วไปคือการมีระบบคิดที่ซับซ้อนและเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งพัฒนามาจากการสังเกต อธิบาย วินิจฉัยและประเมินค่า เพื่อให้การดำรงชีวิตมีความสุขมากขึ้น รู้และเข้าใจว่ามีชีวิตไปเพื่ออะไร รู้และเข้าใจถึงความดี ความงาม ความเลว และความไม่งาม การแยกแยะประเมินคุณค่า และหาความหมาย จึงเป็นกิจกรรมที่มนุษย์พัฒนามาตลอดหลายพันปีและไม่มีทางหยุดยั้งได้ ศิลปะและวรรณกรรมจำนวนมากก็เข้ามาร่วมอยู่ในความพยายามนี้ A Clockwork Orange หรือ คนไขลาน ก็เช่นกัน

A Clockwork Orange
(1962) เป็นวรรณกรรมที่ว่าด้วยโลกดิสโทเปีย (Dystopia) ซึ่งตอกกลับวิธีคิดแบบยูโทเปีย (Utopia) ที่เชื่อว่าโลกอนาคตเป็นโลกแห่งอุดมคติ คุณงามความดีและความสุขสบายในทุกด้าน โลกดิสโทเปียแสดงให้เห็นสภาวะเลวร้ายจากการควบคุม และเป็นการควบคุมที่เกิดจากการพัฒนาทางวัตถุ เทคโนโลยีของมนุษย์นั่นเอง วรรณกรรมในแนวดิสโทเปียที่ได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งได้แก่ 1984 (1949) ของ จอร์จ ออร์เวล (George Orwell) และ Brave New World (1931) ของ อัลดัส ฮักซ์ลีย์ (Aldous Huxley) จอร์จ ออร์เวล พูดถึงโลกอนาคตในปี 1984 โลกแห่งการควบคุมบนฐานความเชื่อที่รัฐเป็นผู้สร้างและออกแบบไว้ รัฐกำหนดกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันและคอยสอดส่องพฤติกรรมผู้คน หากมีการละเมิด ผู้ละเมิดจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการคุมขัง ไต่สวน ทรมานจนกว่าจะสยบยอม Brave New World ก็คล้ายคลึงกัน เพียงแต่วิธีที่ทำให้บุคคลเชื่องต่ออำนาจรัฐคือการใช้กระบวนการทาง “วิทยาศาสตร์” ปลูกฝังความคิดความเชื่อนั้นแต่กำเนิด

แต่สิ่งที่โดดเด่นของ A Clockwork Orange คือการใช้ภาพของโลกแบบดิสโทเปียในการเสนอมุมมองเรื่องความรุนแรงและการฟอก “คนเลว” ให้เป็น “คนดี”
****