ดารณี : เสียงแห่งความสับสนของยุคสมัย

โอเปร่าเรื่อง ดารณี เป็นบทพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2486 และมีเนื้อหาว่าด้วยสงครามและสันติภาพ โดยนำเสนอนโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อย่างโจ่งแจ้ง นับเป็นการฉายภาพความคิดอ่านของผู้คนและสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้ในลักษณะที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ดารณี เป็นโอเปร่าในภาษาไทยเรื่องแรกๆ ทั้งบทร้องและโน้ตทำนองเพลงส่วนหนึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพหม่อมราชวงศ์หญิง เติมแสงไข กรรณสูต พระนัดดาในพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อปี พ.ศ. 2498 ในคำนำของหม่อมกอบแก้ว อาภากร เล่าถึงความเป็นมาของโอเปร่าเรื่องนี้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่แต่รักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เมื่อปี 2486 เมื่อรัฐบาลของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายที่จะส่งเสริมและฟื้นฟูนาฏศิลป์ทุกด้าน ได้มีปรารภว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีมหาอุปรากรของตนเองเลย น่าจะมีการแต่งขึ้นไว้เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ อันจะค้นหาอัจฉริยะบุรุษผู้สามารถให้รับภาระไปแต่งขึ้นแต่ผู้เดียวย่อมเป็นการยากที่จะหาได้

พระองค์อาทิตย์จึงได้ทรงอาษาที่จะพยายามจัดขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของท่านผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ในการคิดเค้าเรื่องได้มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ม.ร.ว. ป.เทวาธิราช มาลากุล กับ ม.ร.ว. ประสิทธิ์ศักดิ์สิงหรา เป็นผู้ร่วมคิด พระองค์ท่านได้ทรงเป็นผู้นิพนธ์เรื่องขึ้นเป็นคำกลอน

ส่วนดนตรีนั้น นายนารถ ถาวรบุตร์ กับ นาวาอากาศตรี โพ สานติกุล เป็นผู้แต่ง โดยมีพระเจนดุริยางค์ และอาจารย์เดเก็นเป็นที่ปฤกษา ศิลปินทั้ง 2 ท่านได้แต่งเพลงซึ่งสามารถบรรจุคำกลอนเข้าไว้ได้อย่างแนบเนียนเสร็จเรียบร้อยแล้วสามฉาก

เพลงทั้ง 3 ฉากนี้ก็ได้นำมาลองซ้อมร้องทั้งแบบเดี่ยวและประสานเสียงแบบมหาอุปรากรพร้อมกับดนตรีคณะประสมทั้งวงร่วมบรรเลงด้วยแล้ว สำหรับผู้ร้องนั้นได้เชิญชวนสุภาพบุรุษและสตรีที่มีเสียงดีมาฝึกซ้อม, ม.ร.ว. เติมแสงไข ก็อยู่ในคณะนักร้องที่มีเสียงดีคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

โน้ตเพลงที่นำลงตีพิมพ์คู่ไปกับบทในครั้งนั้น หม่อมกอบแก้ว อาภากร เล่าว่า นาวาอากาศเอกขุนสวัสดิ์ ฑิฆัมพร กับ นาวาอากาศตรี โพ สานติกุล ช่วยคัดเอาแต่เฉพาะทำนองเพลงบางเพลงมาให้ โดยต้นฉบับที่เรียบเรียงไว้แล้วส่วนหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วนั้นยังคงเก็บรักษาอยู่ที่ทั้งสองท่าน