“เพลงเพื่อชีวิต” เป็นการส่งผ่านแนวคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ. 2473-2509) ที่ว่าด้วยศิลปะเพื่อชีวิตและเพื่อประชาชน อันเป็นแนวคิดของนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า (ในความหมายถึงอุดมการณ์แบบสังคมนิยม) จำนวนมากในยุคหนึ่ง ที่เสนอว่าศิลปะทุกประเภทควรมีหน้าที่รับใช้สามัญชนคนธรรมดา เปิดเผยและสะท้อนภาพสังคมที่เป็นจริง อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ภาพลักษณ์ของเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันกลับเปลี่ยนแปลงไปจนมีสถานะที่ยากต่อการนิยาม เช่นกันกับภาพตำนานของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่สามารถปรากฏทั้งบนเวทีเสื้อเหลืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และเวทีเสื้อแดงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ดูเหมือนจะมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกนำมาขับร้องบนเวทีชุมนุมของสองฝ่าย การกล่าวขานถึงจิตรก็เป็นไปอย่างเข้มข้นบนเวทีของทั้งสอง อันนำไปสู่คำถามว่า ภาพลักษณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในปัจจุบัน ปรากฏต่อการรับรู้ของผู้คนในแบบใด และด้วยที่มาที่ไปอย่างไร
ความเป็นคอมมิวนิสต์ของจิตร ภูมิศักดิ์นั้นไม่ควรเป็นที่กังขา ไม่ว่าจิตรจะมีความขัดแย้งกับสมาชิกระดับสูงของพรรคดังที่เคยมีผู้กล่าวไว้หรือไม่ ตัวตนของจิตร ภูมิศักดิ์ในวัยที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะนั้น เห็นได้ชัดว่ามีอุดมการณ์การต่อสู้ด้วยแนวคิดฝ่ายสังคมนิยม โดยเฉพาะหลังกรณีโยนบกที่จุฬาฯ (พ.ศ. 2496) จิตรบันทึกไว้ว่า “เป็นการระเบิดรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ขั้นแตกหักระหว่างความขัดแย้งภายในความคิดของข้าพเจ้า ซึ่งความคิดใหม่ชนะความคิดเก่า และสะท้อนออกมาเป็นการเหวี่ยงจากปลายสุดขั้วทางขวา มาสู่ปลายสุดขั้วทางซ้าย”
และไม่ว่าคำว่า “ซ้าย” จะเป็นเพียงอุปมา หรือจะสื่อโดยตรงไปถึงแนวคิดแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็ตาม วรศักดิ์ มหัทธโนบล เขียนไว้ว่า หลังจากกรณีโยนบก พลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามาทำความรู้จักกับจิตร และ “จัดตั้ง” จิตรจริงๆ โดยผู้ดูแลจิตรในขณะนั้นมาจาก พคท. มีบทบาทอยู่ในแวดวงคนทำหนังสือ และมีส่วนช่วยให้จิตรได้ไปพบปะกับนายผี (อัศนี พลจันทร) สองต่อสองราวหนึ่งชั่วโมง ตามคำขอร้องของจิตรอีกด้วย
****