ป้ายโฆษณา, อนุสาวรีย์, เสื้อยืด : ความย้อนแย้งเวียนวก

เมื่อไม่นานมานี้ ผมพาเพื่อนๆ ชาวต่างชาติไปเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดกาญจนบุรี แล้วผมก็ทำอย่างที่เคยทำเป็นประจำเวลาไปสถานที่อันแสนจะธรรมดาแห่งนี้ คือขอให้คนขับรถแวะจอดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งริมถนนสายหลักที่ตัดผ่านใจกลางเมือง ผมแค่อยากจะเข้าไปคารวะรูปปั้นอนุสาวรีย์เล็กๆ ดำๆ ของพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งตั้งอยู่ในลานจอดรถอันจอแจของโรงพยาบาลเหมือนอย่างที่เคยทำ แต่คราวนี้ผมต้องประหลาดใจเมื่อได้เห็นหญิงวัย
กลางคนสองคนกำลังคุกเข่าก้มศีรษะเซ่นไหว้เครื่องบูชาเหมือนอย่างเวลาไหว้เจ้าหรือไหว้พระพุทธรูป ขณะที่ฐานอนุสาวรีย์ก็เกลื่อนไปด้วยของเซ่นสรวงบูชา ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ไปได้ ? ท่านนายพลกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้โชค
ให้ลาภไปซะแล้วหรือ ? หรือนี่คือสาเหตุที่ทำให้รูปเคารพของท่านถูกนำไปผูกติดกับสถานที่ชวนยะเยือกอันเป็น
ที่รวมของความทุกข์ทรมาน ความหวัง ความสิ้นหวัง และความสำนึกในบุญคุณอันน่าลำบากใจของโลกสมัยใหม่
เช่นที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ?

แน่ล่ะ พระยาพหลฯ เกิดและเติบโตในจังหวัดกาญจนบุรี เขาจึงย่อมเป็นบุคคลที่ชาวจังหวัดนี้ภาคภูมิใจ แต่ชื่อเสียงอันไม่อาจลบเลือนของเขานั้นมาจากการที่เขาเป็นหัวหน้าคณะทหารและพลเรือนที่โค่นล้มระบอบสมบูรณาญา
สิทธิราชย์ลงได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2475 และยังเป็นนายกรัฐมนตรี “สามัญชน” คนแรกของไทยในระหว่างปี 2477-2481 ภายใต้การปกครองเยี่ยงเชษฐบุรุษของพระยาพหลฯ สยามได้มีรัฐธรรมนูญ, มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นบางส่วน และได้มีกฎหมายใหม่ๆ ชุดหนึ่งที่ผูกพันประชากรของประเทศในฐานะใหม่นั่นคือฐานะ “พลเมือง” ตลอดสมัยการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของเขาไม่เคยมีเรื่องอื้อฉาว ความซื่อสัตย์ของเขาไม่เคยเป็นที่กังขา และเขาไม่เคยฆ่าใคร พระยาพหลฯ ไม่ได้รั้งตำแหน่งอยู่นานจนเกินงาม เขาเกษียณจากหน้าที่และสิ้นลมด้วยวัยเพียง 52 ปี ผู้นำทางการเมืองที่ทั้งก้าวหน้าและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของระบบได้ขนาดนี้น่าจะต้องกลายเป็น “วีรบุรุษของชาติ” ไปแล้ว แต่เท่าที่ผมรู้ ไม่มีอนุสาวรีย์ของเขาในเมืองหลวงหรือที่อื่นใดในประเทศนี้
เขายืนยงในฐานะรูปเคารพมาได้แค่ในบ้านเกิด
****