เปรตประหลาด: ประวัติศาสตร์นรกภูธร

ผมไปเที่ยววัดไผ่โรงวัวครั้งแรกเมื่อปี 2518 ในช่วงวันวานยังหวานอยู่หลังถนอม-ประภาสร่วงนั้น ยังไม่มีถนนสายใดตัดเข้าถึงวัดโดยตรง หากจะดั้นด้นเดินทางไป ก็ต้องลงเรือล่องแม่น้ำท่าจีนซึ่งไปบรรจบกับแม่น้ำสายย่อยที่ขุดแยกเป็นคลองสายใหม่ระยะสั้นๆ สิ้นสุดตรงข้างตัววัดพอดี พวกเพื่อนๆ ที่ชวนให้ผมไปเที่ยว โฆษณาด้วยน้ำเสียงน่าหยิกแบบเด็กกรุงเทพฯ ว่า “ห่างไกลความเจริญฉิบหาย แต่แม่งน่าดูจริงๆ ว่ะ!” แล้วบรรยายให้ฟังถึงสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ภายในวัด ที่สร้างโดยหลวงพ่อขอม เจ้าอาวาสผู้มากบารมีและเป็นที่นับถือของพวกผู้ดีมีเงินในกรุงเทพฯ ท่านตั้งใจให้สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในวัดนั้น ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรุ่งเรืองของ พุทธศาสนาในสยาม แต่ในแบบฉบับอันผิดแผกแตกต่างไปกว่าที่อื่น เพื่อนๆ ร่ายยาวให้ผมฟังว่า วัดไผ่โรงวัวแห่งนี้แปลกกว่าวัดไทยทั่วๆ ไปที่มักสงวนพื้นที่บูชาไว้สำหรับพุทธนิกายเถรวาทเพียงหนึ่งเดียว แต่วัดไผ่โรงวัวแห่งนี้กลับหันหน้าเข้าหาศาสนาอื่นๆ ด้วย เป็นวัดที่ยึดมั่นพุทธเถรวาทเป็นศูนย์กลาง แต่ก็เผื่อแผ่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้กับพุทธมหายานด้วย อีกทั้งสร้างศาลเจ้า รูปปั้น ภาพบูชาแบบพราหมณ์ฮินดู และกระทั่งมีสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามแบบอิสลามและคริสต์รวมอยู่ด้วยประปราย ลักษณะของการรวมกลุ่มศาสนวัตถุดังกล่าว ดูจะคล้ายคลึงกับสิ่งที่เรียกกันสมัยนี้ว่าความกระตือรือร้นอยากเป็นสากล ซึ่งมีสองมิติในตัว คือปรารถนาให้โลกสากลยอมรับนับถือในตัวเรา แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างรับสากลโลกด้วย
**
ความรู้สึกของผมเมื่อแรกเห็นวัดไผ่โรงวัวคือ อัศจรรย์ใจในความใหญ่โตมโหฬารและความใหม่เอี่ยมอ่องของวัด ตามติดมาด้วยความรู้สึกพิลึกพิลั่นราวกับได้หลงเข้าไปในสวนสนุกแดนเนรมิต ยามเมียงมองสถาปัตยกรรมซึ่งลอกเลียนมาจากวัดฮินดูในอินเดีย ก็ไม่เห็นอะไรนอกเหนือจากสิ่งจำลองขนาดยักษ์ ไม่มีวิญญาณของวัดจริงๆ แทรกอยู่ ไม่ได้รายล้อมไปด้วยเหล่าสาวก รายละเอียดตกแต่งภายในก็ทำแต่เพียงหยาบๆ ชวนให้นึกถึงโครงตึกจำลองตามโรงถ่ายภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ผมยิ่งงุนงงขึ้นไปอีกเมื่อสะดุดตารูปปั้นคอนกรีตขนาดใหญ่เป็นอูฐสีแดงสองตัว ซึ่งไม่ทราบว่ามายืนเฝ้ายามอยู่หน้าประตูทางเข้าบานหลักทำไม นอกจากนักท่องเที่ยวขี้สงสัยสองสามคนแล้ว ก็ไม่เห็นมีใครใส่ใจพิจารณาเก๋งจีนที่ตั้งอยู่ ที่พิสดารหนักเข้าไปอีกคือสองสิ่งที่วางแสดงอยู่ติดกันในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของหลวงพ่อขอม อันดับแรกเป็นโครงกระดูกมนุษย์ห้อยอยู่ในตู้กระจก ถัดไปเป็นรูปปั้นขนาดเท่าคนจริง ซึ่งจำลองมาจากรูปปั้นพ่อหนุ่มเดวิดร่างเปลือยขนาดใหญ่ อันเป็นผลงานของศิลปินไมเคิลแองเจโล รูปปั้นตาหวานตัวนี้สวมกางเกงในสีแดงตามสมัยนิยมยุคนั้น ปิดความล่อนจ้อนไปได้บ้างแต่ก็ไม่มิด เพราะดึงลงต่ำจนเห็นไอ้หนูอันมีรูปลักษณ์ค่อนข้างห่างไกลพ่อพันธุ์ที่เมืองฟลอเร็นซ์ หากเปรียบวัดไผ่โรงวัวเป็นสวนสนุก ก็ต้องชี้แจงต่อไปด้วยว่าช่างเป็นสวนสนุกอันวังเวงเดียวดายเสียนี่กระไร เห็นพระเดินอยู่เพียงสองสามรูป ไม่มีเณร ไม่มีแม่ชี ประสกสีกาก็มีอยู่เพียงน้อยนิด วัดแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลในสุพรรณบุรี (ในตอนนั้น) สร้างเพื่อใคร ? ผมมืดแปดด้านจริงๆ
**
เวลาผ่านไปราว 15 ปี ผมกลับไปเที่ยววัดไผ่โรงวัวเป็นครั้งที่สอง ไม่กี่เดือนหลังจากที่หลวงพ่อ ขอมมรณภาพในวัย 88 ปี (เดือนมกราคม พ.ศ. 2533) หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในผ้าเหลืองร่วม 68 ปี ตอนนั้นยังเหลือเวลาอีกราวหนึ่งปีก่อนที่สุจินดาจะก่อปฏิวัติอุบาทว์ ตัววัดเองเริ่มทรุดโทรมลงแล้ว ชิ้นส่วนรูปปั้นซีเมนต์ที่ก่อสร้างขึ้นอย่างหยาบๆ เริ่มจะหลุดร่วงลง สีทาผนังภายนอกลอกออกเป็นแผ่นๆ พื้นที่กลางแจ้งมีขยะเกลื่อนไปหมด ทั้งถุงพลาสติคใช้แล้ว พลาสติคห่อของ ขวดเปล่า เศษกระดาษหนังสือพิมพ์ รองเท้าแตะฟองน้ำข้างเดียวไร้คู่ และอีกสารพัด มองไปเห็นแม่ค้าพ่อค้าหน้าตาเนือยๆ มายืนดักรอลูกค้าอยู่เพียงไม่กี่คน บรรยากาศของวัดดูวังเวงชอบกล ผมฉุกคิดได้ภายหลังว่าหลวงพ่อขอมคงไม่เคยคิดคำนวณอย่างจริงๆ จังๆ ว่าต้องเก็บสำรองเงินทองไว้เท่าไหร่สำหรับทะนุบำรุงวัดขนาดยักษ์ใหญ่ผิดธรรมดาแห่งนี้ จะว่าไปแล้ว ในช่วงบั้นปลายชีวิตท่านเองคงไม่สามารถหาเงินเป็นกอบเป็นกำเข้าวัดได้อีกต่อไป อาจเป็นเพราะชราภาพแล้วหรืออาจเป็นไปได้ว่าพอสยามแห่งยุคถนอม – ประภาสผ่านพ้นไปไม่หวนคืน เงินทองก้อนใหญ่ก็ไม่ได้หลั่งไหลเข้าวัดกันง่ายๆ เหมือนแต่ก่อน จริงอยู่ ตอนที่ผมกลับไปวัดครั้งที่สองนั้นเป็นช่วงที่งบประมาณเงินทองมากล้นกำลังไหลท่วมเข้าจังหวัดสุพรรณบุรี แต่เงินหลวงดังกล่าวไปกระจุกอยู่ในตัวอำเภอเมือง อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของว่าที่นายกรัฐมนตรีผู้นั้น ซึ่งบุกเบิกโครงการก่อสร้างวิจิตรละลานตา จนชาวบ้านแซวว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อจังหวัดเป็นบรรหารบุรีซะให้รู้แล้วรู้รอดไป
**
ขณะเดินทอดน่องเมียงมองความเสื่อมโทรมของวัดไผ่โรงวัวด้วยอารมณ์ซึมเซานิดๆ ผมก็เผอิญเหลือบตาไปเห็นกิจกรรมอึกทึกอะไรบางอย่าง ซึ่งกำลังดำเนินไปในอีกบริเวณหนึ่งของวัด อันเป็นส่วนที่ผมไม่ได้สังเกตเห็นตั้งแต่คราวแรกที่ไปเที่ยว นั่นก็คือนรกภูมิ ผู้ก่อการเป็นชาย มาดนักเลงเฮฮาคนหนึ่ง เนื้อตัวเต็มไปด้วยรอยสัก กำลังเคาะโป๊กเป๊กปั้นงานชิ้นใหม่ให้กับสวนประติมากรรมแห่งนี้ ชื่อว่า “นรกภูมิ” อันประกอบด้วยรูปปั้นเปรตจำลองหลายสิบตัวกำลังถูกทรมานอย่างน่าสยดสยอง รูปร่างท่าทางของรูปปั้นเหล่านี้ ตั้งใจให้เป็นอุทาหรณ์สอนธรรมแก่หญิงโฉดชายชั่วทั้งหลาย ให้ประจักษ์แจ้งถึงผลกรรมจากการทำบาป ผมเปิดฉากสนทนากับช่างปั้นผู้นี้ แล้วถามต่อไปว่าทำไมวัดถึงได้เงียบเหงาพิกลเช่นนี้ เขาพูดเปรยๆ ขึ้นมาอย่างน่าสะดุดใจ เลยจำคำตอบของเขามาได้จนถึงทุกวันนี้ ชายผู้นั้นบอกว่า
“ตรงอื่นของวัดอาจจะเหงา แต่ตรงนี้มีคนมาเยอะตลอด”
“ใครมา?”
“ส่วนใหญ่ก็พวกพ่อแม่ หรือไม่ก็พวกครูบาอาจารย์ พาเด็กๆ มาดูว่าจะได้รับผลกรรมสนองยังไงถ้าริอ่านทำชั่ว”
มีรายละเอียดอย่างหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในคราวนั้น แต่ไม่กล้าถามชายผู้นี้ออกไปตรงๆ นั่นก็คือว่าทำไมรูปปั้น “คนบาป” เกือบทุกตัวต้องแก้ผ้าโทงๆ ด้วย จะมียกเว้นอยู่บ้างก็เพียงสองตัวเท่านั้น และยิ่งประหลาดกว่านั้นก็คือว่า รูปปั้นเพศชายจะอวดของดีสัดส่วนลำพองเกินมาตรฐาน ซ้ำร้ายบางตัวยังคึกคะนองเสียอีก ตอนไปเที่ยวช่วงนั้น ผมยังสังเกตเห็นด้วยว่าการก่อสร้างสถาปัตยกรรมจำลองส่วนอื่นๆ ของวัดดูท่าจะหยุดแน่แช่นิ่งไปนานแล้ว แต่นรกภูมิแห่งนี้กลับดูเหมือนว่าขยายตัวต่อไปได้เรื่อยๆ
**
ผมกลับไปวัดไผ่โรงวัวอีกครั้งเกือบสิบปีหลังจากนั้น คราวนี้ตั้งใจจะเขียนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับวัด โดยจะมุ่งไปที่นรกภูมิอันน่ามหัศจรรย์ที่ว่า จึงพ่วงลูกสมุนไปช่วยจดโน้ตด้วยสองคน คือคุณมุกหอม วงษ์เทศ กับคุณอาดาดล อิงคะวณิช งวดนี้ดูเหมือนวัดอยู่ในสภาพดีขึ้นนิดหน่อย ได้รับการทาสีซ่อมแซม ไม่มีขยะรกหูรกตา มีจำนวนพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นของนิกายเถรวาทและของนิกายมหายาน ท่าทางจะมีพระจำพรรษาอยู่หลายรูปด้วย แต่ยังมองไม่เห็นแม่ชีหรือเณร นรกภูมิเองก็ดูราวกับว่ายังคงเปิดรับสมาชิกใหม่อยู่ แต่คงจะนานๆ หน
**
กรอบที่ตีไว้คร่าวๆ ช่วงกลับไปเที่ยววัดไผ่โรงวัวใหม่รอบนี้ คือ จะ “อ่าน” นรกภูมิอย่างไร ให้สัมพันธ์กับบริบทท้องถิ่นของวัด ส่วนบริบทที่กว้างกว่านั้นล่ะ สมควรจะนำอะไรมาเกี่ยวโยงด้วยบ้าง
**