มีคำพูดในนวนิยายเรื่อง Animal Farm ของจอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและจดจำมาถึงทุกวันนี้ นั่นคือ “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียม แต่สัตว์บางตัวเท่าเทียมกว่าตัวอื่น” (All animals are equal but some animals are more equal than others.) ซึ่งเป็นประโยคที่สามารถอธิบายถึงสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ แต่คนในสังคมกลับหลอกตัวเองว่ากำลังอยู่ในโลกแห่งความเท่าเทียม -ไม่มีใครเป็นไพร่ ไม่มีใครเป็นอำมาตย์- ได้เป็นอย่างดี การหลอกตัวเองเช่นนี้เกิดขึ้นได้ในหลายระดับแตกต่างกันไป เช่นในยุคนี้คงไม่มีสังคมไหนอยากถูกมองเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนหรือเป็นเผด็จการ กระทั่งประเทศที่ปกครองโดยทหารอย่างพม่าก็ยังต้องเกาะขบวนรถไฟ “ประชาธิปไตย” ด้วยคนเพียงแต่มีการเพิ่มคำขยายเป็น “ประชาธิปไตยแบบพม่าๆ” เพื่อยืนยันลักษณะเฉพาะตัวซึ่งสังคมสากลอาจไม่เข้าใจ
เช่นกันกับที่ประเทศหนึ่งๆ แม้จะมีกฎระเบียบ มีรัฐธรรมนูญ ก็มิได้หมายความว่าประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตย หรือประชาชนในประเทศนั้นจะมีเสรีภาพได้จริงๆ และคำว่า “เสรีภาพ” นั้น ถึงแม้จะเป็นคำที่มีความหมายในเชิงบวกที่เหล่าบรรดาผู้ชื่นชอบการพูดหรือเขียนคำคมมักจะนำมาอ้างอิงเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของผู้พูดเอง แต่ในทางปฏิบัติในบางประเทศแล้ว คำคำนี้มักจะต้องถูกกำกับด้วยคำขยายประเภท “เสรีภาพที่ต้องมีความรับผิดชอบ/มีศีลธรรม” หรือมิเช่นนั้นก็สำทับกันตรงๆ ว่า “ประชาชนไม่ควรมีเสรีภาพมากเกินไป” แล้วประชาชนก็จะค่อยๆถูกกล่อมให้ยอมรับการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพได้โดยที่ยังเข้าใจว่าตนอยู่ในสังคมเสรีประชาธิปไตยเหมือนสากลโลก สภาพจำยอมเช่นนี้มีสาเหตุที่หลากหลาย ตั้งแต่การที่ประชาชนถูกกฎหมายและสภาพสังคมบีบบังคับจนขัดขืนไม่ได้ หรือประชาชนรับข่าวสารข้างเดียวมากเกินไปจนหลอกตัวเองว่าสภาวะในตอนนี้ดีที่สุดแล้ว ไม่ควรขัดขืนหรือคิดเปลี่ยนแปลงระบบให้วุ่นวาย แต่ควรมาสมานฉันท์ปรองดองอยู่ในระบบเดิมๆ ต่อไป เพื่อให้คุ้มค่าวาทกรรมราคาแพง อย่าง “รักกันไว้เถิด” “คนไทยรักกัน” “สยามเมืองยิ้ม” ที่รัฐใช้เวลาและเงินทองมหาศาลเพื่อปลูกฝังในหัวเรา
ในกรณีสังคมไทย หากจะพูดถึงหนังที่บอกเล่าถึงสภาวะนี้ได้อย่างเห็นภาพตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดน่าจะได้แก่ I’m fine, สบายดีค่ะ ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หนังสั้นความยาว 3 นาทีเรื่องนี้เปิดฉากด้วยสาวประเภทสองคนหนึ่งในชุดไทย (ตัวธัญญ์วารินเล่นเอง) ที่ถูกขังอยู่ในกรงเหล็ก โดยมีฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นก็มีคนมาขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเธอ ซึ่งเธอตอบว่าสบายดี ไม่ร้อนไม่เหนื่อย ต่อให้เปิดประตูให้ออกเธอก็ไม่ออก ด้วยเหตุผลที่ว่า “เป็นคนไทยค่ะ” เพียงข้อเดียว คำตอบที่ฟังดูไร้เหตุผลดังกล่าวกลายเป็นประโยคที่อธิบายเหตุผลของความวิปริตทุกอย่างในประเทศไทยได้ชัดเจนอย่างยิ่ง
สำหรับหนังยาวที่พูดถึงสภาวะสังคมแบบปิด ซึ่งมีการปกครองแบบพิเศษที่ดูเหมือนจะไม่ได้ปิดกั้นอะไร ทั้งที่ตัวระบบที่ค้ำยันอยู่นั้นเป็นระบบที่รองรับอำนาจของคนเพียงคนเดียว และคนในปกครองต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบนั้นเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่าสภาวะ “เสรีภาพในกรงทอง” นั้น มีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากนำมาอภิปรายในบทความนี้สองเรื่อง ได้แก่ Raise the Red Lantern และ ชั่วฟ้าดินสลาย
ถึงแม้ว่าจะมาจากคนละประเทศและเข้าฉายคนละปี แต่หนังทั้งสองเรื่องนี้มีเนื้อหา และองค์ประกอบหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ ความคล้ายคลึงกันนั้นเริ่มตั้งแต่เนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับตัวละครหญิงซึ่งแต่งงานกับผู้ชายอายุคราวพ่อ และต้องย้ายไปอยู่ในสังคมปิดที่อำนาจสิทธิ์ขาดขึ้นอยู่กับสามีของเธอเพียงคนเดียว และเธอไม่สามารถหนีออกไปได้ หนังทั้งสองเรื่องยังสร้างมาจากนวนิยายชื่อดังเช่นเดียวกัน และตัวละครฝ่ายหญิงซึ่งท้าทายระบบก็ต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้เหมือนกัน
ความคล้ายคลึงกันเหล่านี้ย่อมสะท้อนได้ถึงลักษณะร่วมบางอย่างในทางสังคมวัฒนธรรมของต่างสังคม สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การตีความเนื้อเรื่องที่ดูจะคล้ายคลึงกันนั้นผ่านมุมมองที่แตกต่างกันของผู้กำกับสองคนที่มีวิสัยทัศน์ทางศิลปะและมุมมองทางการเมืองต่างกันอีกด้วย